ข่าวเศรษฐกิจ

จับตาพลาสติกจีนทะลักตลาดโลก ผลิตมากจนอุปทานล้น กระทบไทยส่งออกได้ลดลง

3 ก.ค. 67
จับตาพลาสติกจีนทะลักตลาดโลก ผลิตมากจนอุปทานล้น กระทบไทยส่งออกได้ลดลง

จับตาอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกจีน หลังมีการขยายการผลิตภายในประเทศจนอุปทานจ่อล้นอุปสงค์ ทำให้ผลิตภัณฑ์ส่วนเกินอาจล้นทะลักออกมาในตลาดโลก และกดดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต่ำลงได้ ส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกอื่นรวมถึงไทย

ปัจจุบัน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้าทั่วโลกตกต่ำลง คือ การล้นทะทักเข้ามาของสินค้าที่ผลิตโดยจีน เพราะจีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีข้อได้เปรียบในด้าน economy of scale คือ สามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณมาก ทำให้ราคาต่อหน่วยถูกลง ในต้นทุนเฉลี่ยที่ถูกลง ทำให้มีราคาขายต่อหน่วยที่ต่ำกว่าคู่แข่ง และเมื่อเข้าไปในตลาดโลกแล้วจะบีบให้ผู้ผลิตและส่งออกประเทศอื่นๆ ต้องลดราคาตามไปด้วยเพื่อดึงใจลูกค้า อย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วกับสินค้าอย่าง รถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ และโลหะ

แต่นอกจากสินค้าเหล่านี้แล้ว สินค้าอีกประเภทที่เสี่ยงถูกสินค้าราคาถูกจากจีนกดดันให้มีราคาต่ำลง ก็คือ ‘พลาสติก’ และสินค้าปิโตรเคมีอื่นๆ เพราะในปัจจุบัน จีนได้ขยายการผลิตสินค้านี้เป็นจำนวนมากจนมีอุปทานจ่อล้นความต้องการในประเทศ ทำให้จีนเริ่มส่งออกสินค้าชนิดนี้จากที่เป็นผู้นำเข้า

อุปทานเกินปีละหลายสิบล้านตัน จากผู้นำเข้าสู่ผู้ส่งออก

ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีของประเทศจีน (China Petroleum and Chemical Industry Association) ชี้ว่า ในปี 2025 ความสามารถในการผลิตสินค้าปิโตรเคมีต่างๆ ของจีน เช่น พลาสติกพอลิโพรพีลีน (Polypropylene) พลาสติกโพลีเอทิลีน (Polyethylene) พลาสเอทิลีนไวนิลอะซิเตต (Ethylene-vinyl Acetate) เมทานอล (Methanol) และกลีคอล (Glycol) จะมากกว่าความต้องการในประเทศ

โดยในปี 2025 จีนจะผลิตพอลิโพรพีลีนได้มากถึง 60 ล้านตัน แต่จะมีความต้องการใช้ในประเทศเพียง 41.6 ล้านตัน ทำให้มีอุปทานส่วนเกินถึง 18.4 ล้านตัน ผลิตโพลีเอทิลีนได้ถึง 48.9 ล้านตัน แต่ต้องการใช้เพียง 45.3 ล้านตัน และผลิตเมทานอลได้ถึง 100 ล้านตัน แต่ต้องการใช้เพียง 97.6 ล้านตัน

อุปทานส่วนเกินนี้ทำให้จีนพลิกจากผู้นำเข้ากลายเป็นผู้ส่งออกพลาสติก โดยข้อมูลของสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ระบุว่า ในเดือนมีนาคมปี 2024 จีนกลายเป็นผู้ส่งออกสุทธิของพลาสติกพอลิโพรพีลีนเป็นครั้งแรก โดยส่งออกถึง 289,300 ตัน แต่นำเข้าเพียง 214,000 ตัน และเป็นผู้ส่งออกสุทธิอย่างต่อเนื่องมาในเดือนเมษายน และพฤษภาคม

ดังนั้น หากจีนเร่งส่งออกสินค้าส่วนเกินนี้ออกไปต่างประเทศ จะทำให้ตลาดพลาสติกและสินค้าปิโตรเคมีอื่นๆ มีสินค้าราคาถูกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาส่งออกของสินค้าประเภทนี้ลดลงตามกลไกตลาด

ทำไมอุปทานพลาสติกในจีนจึงล้น?

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีโรงงานผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอื่นๆ เกิดขึ้นในจีนเป็นจำนวนมาก เพราะในขณะนั้นอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจจีนกำลังเติบโต ทำให้มีความต้องการใช้พลาสติกเป็นจำนวนมาก และช่วยพยุงธุรกิจโรงกลั่นที่มีรายได้ลดลง หลังจากจีนผลักดันให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจนความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศลดลง

จากข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ในช่วงปี 2019 และ 2004 ภาคเอกชนในจีนมีการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตโพรพีลีน และเอทีลีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของพลาสติก และเครื่องจักรต่างๆ เป็นจำนวนมาก จนปัจจุบันมีกำลังผลิตรวมกันมากกว่ายุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้รวมกัน 

โดยปัจจัยหนึ่งมาจากการที่โรงงานขนาดเล็กในจีนไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจัดตั้งโรงงานจากรัฐบาลกลางเหมือนโรงงานใหญ่ ทำให้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นเห็นโอกาสในการสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และสนับสนุนให้เอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมนี้

ดังนั้น ความสามารถในการผลิตสินค้าปิโตรเคมีของจีนจึงเพิ่มขึ้นมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้จะไม่เป็นปัญหา หากเศรษฐกิจจีนไม่ซบเซาลงจากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้พลาสติกและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลง และทำให้อุปทานล้ำเกินอุปสงค์ไปมาก

นอกจากนี้ แม้ความต้องการใช้พลาสติกจะลดลง ผู้ผลิตพลาสติกจีนก็ยังผลิตสินค้าออกมาในปริมาณเท่าเดิม เพราะต้องการจะรักษาส่วนแบ่งตลาดปัจจุบันไว้ ซึ่งก็เป็นปริมาณที่ล้นเกินแล้ว ถึงแม้ผู้ผลิตหลายรายในจีนจะชะลอการผลิตไว้ และยังไม่เดินหน้าผลิตสินค้าเต็มความสามารถที่มี

ใครจะเสียประโยชน์บ้างจากพลาสติกจีน?

ประเทศที่จะเสียประโยชน์จากการการล้นทะลักของสินค้าพลาสติกจีน คือ ประเทศที่มีอุตสาหกรรมโรงกลั่นขนาดใหญ่ และส่งออกสินค้าปิโตรเคมี เช่นเดียวกัน เช่น เกาหลีใต้ รวมถึง ไทยที่กำลังประสบปัญหาส่งออกเม็ดพลาสติกได้น้อยลง เพราะจีนสามารถผลิตเม็ดพลาสติกใช้เองได้

โดยจากข้อมูลของกรมศุลกากร ในปี 2023 ไทยส่งออกเม็ดพลาสติกได้ 305,840.30 ล้านบาท ลดลง 17.06% จากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะโพรพิลีน ที่ไทยส่งออกได้น้อยลงถึง 19.13% จากปีก่อนหน้า และเสียอันดับจากสินค้าอันดับ 2 ที่ไทยส่งออกไปยังจีนมาเป็นอันดับ 3 ด้วยมูลค่าส่งออก 86,221.57 ล้านบาท ลดลง 20.54% จากปีก่อนหน้า

ดังนั้น ไทยจึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุปทานพลาสติกส่วนเกินจากจีน เพราะนอกจากจะส่งออกได้น้อยลง ในราคาที่ต่ำลงแล้ว ยังเสียตลาดส่งออกสำคัญอย่างจีน และเสี่ยงที่จะเป็นตลาดรองรับสินค้าจากจีน หากดูจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้จีนไม่มีทางเลือกนอกจากจะระบายสินค้าให้ประเทศพันธมิตร ซึ่งรวมถึงไทย และประเทศในอาเซียนอื่นๆ 

 

อ้างอิง: กรมศุลกากรBloomberg







advertisement

SPOTLIGHT