ข่าวเศรษฐกิจ

รายได้คนไทยโตไม่ทันรายจ่าย สำรวจ 5 ปี สินค้าจำเป็นแพงขึ้นแค่ไหน?

21 ก.ค. 67
รายได้คนไทยโตไม่ทันรายจ่าย สำรวจ 5 ปี สินค้าจำเป็นแพงขึ้นแค่ไหน?

รายได้โตไม่ทันกับรายจ่าย คำนี้คงไม่เกินจริงสำหรับสถานการณ์การเงินของคนไทยในเวลานี้เพราะข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยสะท้อนสถานการณ์ค่าใช่จ่ายสินค้าจำเป็นของคนไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งย้อนแย้งกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ GDP ค่อยๆโตลดลง นั่นหมายถึง รายได้ของคนไทยโตไม่ทันกับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และยังมีแนวโน้มที่กำลังซื้อของคนไทยซบเซาต่อไปหากสภาพเศรษฐกิจยังชะลอลงเช่นนี้  

ทั้งนี้ราคาสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และ อาหารสดบางชนิดปรับตัวขึ้นแรงมาก

  • ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95  จาก 5 ปีก่อนเคยอยู่ที่  27.70 บาท/ลิตร  ปัจจุบันอยู่ที่  38.8 บาท/ลิตร ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 40%  
  • น้ำมันพืชเดิมขวดละ 40 บาท/ขวด ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 53 บาท/ขวด เท่ากับเพิ่มขึ้น 32.5% 
  • ไข่ไก่ เดิมฟองละ 4 บาท ปัจจุบันฟองละ 5บาท  เพิ่มขึ้น 25%
  • น้ำมันดีเซล เดิมจากลิตรละ 26.5 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 33 บาท เพิ่มขึ้น 24.5% 
  • ก๊าซหุงต้ม ขนาดถัง 15 กก.จาก 364 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 423 บาท เพิ่มขึ้น 16.2% 
  • ไก่สด 1ตัว เดิมราคา 200 บาทปัจจุบันเพิ่มขึ้น230 บาท หรือเพิ่มขึ้น 15% 
  • หมูสันนอก เดิมกิโลกรัมละ 140 บาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 160 บาท หรือเพิ่มขึ้น 14.3% 

    s__27574491

ขณะที่การเติบโตของรายได้ไม่ได้อยู่ในเแนวโน้มของการเร่งตัวขึ้น แถมยังเต็มไปผลกระทบที่ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด 19 เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และกำลังถูกบั่นทอนจากโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศที่ตามไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ทำให้ปัจจุบันภาคการผลิตของไทย กำลังมีความเสี่ยงที่อาจเห็นการปิดตัวลงธุรกิจในหลาย Sector ที่ไม่สามารถปรับได้ทันกับความเปลี่ยนแปลง นั่นหมายถึงความเสี่ยงด้านรายรับของคนไทยที่หายหดหายไปหรือไม่แน่นอน โดยมาเกิดขึ้นพร้อมกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอยู่ทุกปี 

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นยอดขายรถยนต์ หรือ ยอดขายบ้าน ร่วงลงอย่างต่อเนื่องเพราะคนไทยกำลังซื้ออ่อนแรง ข้อมูลนี้สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่รายงานสภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.2567 ที่พบว่า ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในประเทศ และเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า


ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด จากผลของฐานค่าไฟฟ้าในปีก่อนที่ต่ำจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ และราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นตามการทยอยลดมาตรการของภาครัฐ ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์และผักที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง 

เศรษฐกิจกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้าง แนะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง

ดร.ปิยศักด์ มานะสันต์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับอมรินทร์ทีวีว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ซบเซาลดลง โดยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ขยายตัวได้ราว 1.5% ส่วนไตรมาส 2 ดีขึ้นในช่วงเมษายน จากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงเทศกาลแต่พอพฤษภาคมเข้าสู่มิถุนายน และกรกฎาคม เศรษฐกิจไทยกลับมาซึมลงอีกครั้ง เพราะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมแย่ลง รวมไปถึงนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นโลว์ซีซัน  

“การปรับตัวค่อนข้างยากครับ ถ้ามองในภาพใหญ่ภาพเศรษฐกิจไทยกําลังเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ใครที่อยู่กับเรื่องการผลิตรูปแบบเครื่องตัวสันดาปในระยะต่อไปก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้น นอกจากนั้นธุรกิจไทยยังถูกกระทบจากสินค้าจีนที่ทะลักเข้าไทย ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก อัญมณี เป็นต้น กลุ่มนี้จึงต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย เพราะมีความเสี่ยงในอนาคต"

อย่างไรก็ตามแม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ในระดับต่ำ แต่หากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่อง ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยก็ไม่ได้ดีขึ้น ขณะนี้แนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทที่เตรียมปรับขึ้น ราคาพลังงานที่รัฐฯแบกภาระไว้อยู่จะสิ้นสุดเมื่อใด ก็จะหมายถึงต้นทุนราคาสินค้าอีกหลายรายการยังสูงขึ้น ความเสี่ยงที่มีโอกาสปรับราคาและผู้บริโภคต้องเผชิญยังคงอยู่ต่อไป 

นี่จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย...

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT