ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่กำลังจะมาถึงนี้ ประชาชนสหรัฐฯ กำลังจะได้เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 47 โดยมี ‘คามาลา แฮร์ริส’ เป็นว่าที่ตัวแทนพรรคเดโมแครต และ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อชิงตำแหน่งผู้นำของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด และมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากที่สุดในโลก
ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากพาทุกคนไปดูนโยบายด้านเศรษฐกิจ และสังคม ของทั้งสองพรรคกันว่าเป็นอย่างไร? และอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างไรบ้าง?
เทียบนโยบายเดโมแครต-รีพับลิกัน ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024
โดยทั่วไป เป็นที่รู้กันดีว่า ‘พรรคเดโมแครต’ เป็นพรรคการเมืองของสหรัฐฯ ที่มีแนวคิดไปในด้านเสรีนิยม (Liberalism) ทำให้นโยบายเน้นความก้าวหน้า และปกป้องสิทธิเสรีภาพสำหรับทุกคน ขณะที่ ‘พรรครีพับลิกัน’ มีแนวคิดไปทางด้านอนุรักษ์นิยม (Conservatism) ทำให้นโยบายมีแนวโน้มไปในทางรักษาวัฒนธรรม และค่านิยมเก่าในประเทศ รวมถึงเน้นปกป้องและเอื้อผลประโยชน์ให้กับคนในประเทศมากกว่า
ดังนั้น นโยบายของเดโมแครตและรีพับลิกันจึงมีแนวโน้มไปในทางตรงข้ามกันในหลายประเด็น หรืออาจดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งจะมีความสุดโต่งเพื่อเสริมให้กับแนวคิดและค่านิยมหลักของพรรคมากกว่า เช่น นโยบายเพิ่มกำแพงภาษี ที่เดโมแครตเน้นพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และจีน แต่รีพับลิกันเน้นเพิ่มภาษีทุกสินค้า และกีดกันทุกประเทศ เป็นต้น
รวมทุกสิ่งที่ต้องรู้ ของเลือกตั้งสหรัฐ 2024
โดยหากพิจารณาจากแนวคิดที่ทีมแคมเปญเสนอ และทั้ง คามาลา แฮร์ริส และ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เคยแสดงไว้ตลอดการทำงานในแวดวงการเมือง ตัวแทนพรรคทั้ง 2 ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปีนี้ มีจุดยืนในประเด็นต่างๆ ดังนี้
-
การค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้า
ในปัจจุบัน นักวิเคราะห์มองว่า นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ ของ คามาลา แฮร์ริส น่าจะไปในทิศทางเดียวกับนโยบายของ โจ ไบเดน ที่เน้นออกนโยบายกีดกันการค้าในเฉพาะบางอุตสาหกรรมสำคัญที่สหรัฐฯ ต้องปกป้อง โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี เช่น ชิป และเทคโนโลยีสีเขียว เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ และกังหันลม
ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2020 ไบเดนออกมาตรการมากมายเพื่อกีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีระดับสูงได้ ทั้งด้วยการแบนไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ และพันธมิตรส่งออกชิประดับสูงที่สามารถนำไปพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือใช้ในอุปกรณ์เครื่องใช้ระดับสูงได้ ให้กับจีน และการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เช่น การเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจีนจาก 25% เป็นมากกว่า 100%
ส่วนทางฝั่ง โดนัลด์ ทรัมป์ จะเน้นนโนบายกีดกันการค้ากับทุกประเทศ ไม่ใช่แค่กับประเทศจีน โดยทรัมป์เคยกล่าวว่า หากได้เป็นปธน. สมัยที่ 2 ทรัมป์จะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิด 10% เพราะทรัมป์มองว่า ทุกประเทศในโลกนี้ ไม่ใช่เฉพาะจีน เป็นคู่แข่งทางการค้าของสหรัฐฯ เพราะส่งออกสินค้าราคาถูกเข้ามาให้สหรัฐฯ และทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า โดยในปี 2023 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าถึง 7.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 28 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ นอกจากสินค้าจากทั่วโลกแล้ว ทรัมป์ยังมีแผนที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นพิเศษเป็นอย่างน้อย 60% และเก็บภาษีสินค้าจีนที่ผลิตในประเทศอื่นด้วย เช่น การเก็บภาษีนำเข้า 100% กับอีวีจีนที่ผลิตในเม็กซิโก ทำให้บริษัทจีนไม่สามารถใช้กลยุทธ์ตั้งฐานผลิตที่ต่างประเทศเพื่อหลีกกำแพงภาษีได้
ดังนั้น หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และการแบ่งขั้วทางการค้า (decoupling) จะต้องรุนแรงขึ้นกว่าในปัจจุบัน และอาจส่งทั้งผลดีและผลเสียให้กับไทย เพราะอาจทำให้สินค้าราคาถูกจากจีนหลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนมากกว่าเดิม แต่ก็อาจให้มีบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิต หรือส่งผ่านสินค้าผ่านไทยได้เช่นกัน หากเราสามารถวางตัวเป็นกลางได้ เพราะประเทศที่มีขั้วชัดเจนจะต้องอาศัยประเทศที่เป็นกลางในการหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันการค้า
- การเก็บภาษีเงินได้ของบุคคลและนิติบุคคลในประเทศ
ในด้านการเก็บภาษีเงินได้ คามาลา แฮร์ริส และพรรคเดโมแครต เน้นลดภาษีเงินได้ของประชากรที่มีรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลาง หรือมีรายได้ไม่เกิน 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 14.5 ล้านบาทต่อปี เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่จะเน้นเก็บภาษีกับผู้ที่มีรายได้สูงแทน
นอกจากนี้ แฮร์ริสยังมีแผนที่จะขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (corporate tax) หรือธุรกิจต่างๆ ขึ้นอีก เพื่อหารายได้และงบประมาณเพิ่มให้กับรัฐ โดยแฮร์ริสอาจเพิ่มภาษีขึ้นอีกเป็น 28-35% จาก 21% ซึ่งเป็นระดับที่รัฐบาลทรัมป์เสนอและผ่านการอนุมัติของสภาคองเกรสมาในระหว่างที่เป็นประธานาธิบดี
ส่วนทางด้าน โดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบายไปในทางตรงกันข้ามคือเน้นลดการเก็บภาษีเงินได้จากทั้งบุคคลและนิติบุคคล โดยทรัมป์เคยกล่าวว่า ต้องการที่ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 21% อีกให้อยู่ในช่วงระหว่าง 15-20% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการให้เงินยังอยู่ในมือประชาชนและบริษัทมากขึ้น
ทั้งนี้ การลดการเก็บภาษีเงินได้ก็เสี่ยงทำให้สหรัฐฯ มีงบประมาณขาดดุลมากยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลง จากที่ปัจจุบันสหรัฐฯ ก็เจอปัญหางบประมาณขาดดุลและปัญหาหนี้สาธารณะรุนแรงอยู่แล้ว โดยในเดือนมิถุนายนปี 2024 สหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณรวมถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 47 ล้านล้านบาท และในเดือนมีนาคมมีหนี้สาธารณะรวมถึง 34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 124.7% ของ GDP
ติดตามข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่มเติมที่นี่
- ปัญหาผู้อพยพ
ประเด็นปัญหาผู้อพยพ เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ คามาลา แฮร์ริส ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะในช่วงแรกที่เข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดี ไบเดนได้มอบหมายให้แฮร์ริสแก้ไขปัญหาชายแดนเม็กซิโกที่มีผู้อพยพ หรือผู้ลักลอบเดินทางเข้าสหรัฐฯ ไปจำนวนมาก โดยสนับสนุนให้มีการทำข้อตกลงกับประเทศชายแดนให้เพิ่มความรัดกุมในการตรวจตราและป้องกันไม่ให้คนลักลอบข้ามประเทศกันมากขึ้น และให้สิทธิประธานาธิบดีปิดชายแดนได้หากมีคนข้ามดินแดนเกินกำหนด
นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แฮร์ริสยังได้ประกาศให้เงินช่วยเหลือจากบริษัทเอกชนจำนวนถึง 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยพัฒนาชุมชน และความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศในภูมิภาคอเมริกากลาง เพื่อทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการที่ข้ามชายแดนไปเพื่อทำงานในสหรัฐฯ จนมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของแฮร์ริสก็ไม่สำเร็จ เพราะภายใต้การดูแลของแฮร์ริส มีคนข้ามดินแดนเข้าสหรัฐฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในเดือนธันวาคมปี 2023 มีคนข้ามดินแดนเข้าสหรัฐฯ ถึง 250,000 คน ทำลายสถิติ 224,000 คนในเดือนพฤษภาคมปี 2022
ดังนั้น นโยบายกีดกันผู้อพยพแบบเด็ดขาดรุนแรงจึงเป็นหนึ่งในนโยบายไฮไลท์ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกมาเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากชาวอเมริกันที่ต่อต้านการรับผู้อพยพหรือชาวต่างชาติเข้ามาเป็นพลเมืองในประเทศโดยเฉพาะ
โดยในแผนของรีพับลิกัน รัฐบาลทรัมป์จะทำการจับและส่งตัวผู้อพยพผิดกฎหมายทุกคนกลับประเทศครั้งใหญ่ รวมไปถึงนำโครงการ “Remain in Mexico” ที่เคยใช้ในปี 2019 กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อคุมตัวผู้ลี้ภัย และผู้หลบภัย (asylum-seeker) ให้อยู่ที่ชายแดนก่อนจนกว่าเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเหตุการณ์และเอกสารต่างๆ เสร็จ
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังมีแผนที่จะยกเลิกการให้สัญชาติกับเด็กต่างชาติที่เกิดในสหรัฐฯ จากพ่อแม่ผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารตามกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้เด็กที่เกิดมามีสถานะเป็นผู้พำนักผิดกฎหมายในสหรัฐฯ ตามไปด้วย
- การกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยี และ AI
ที่ผ่านมา คามาลา แฮร์ริส มีจุดยืนชัดเจนในการให้รัฐบาลเพิ่มการกำกับดูแลการพัฒนาและการใช้ AI โดยสนับสนุนให้มีกฎหมายกำกับดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และความปลอดภัยทางไซเบอร์
โดยในสมัยของปธน. ไบเดน หนึ่งในการเคลื่อนไหวสำคัญในด้านนี้ก็คือการออก ‘คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี’ หรือ executive order ให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ศึกษาถึงผลกระทบของ AI ชี้และรายงานปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้ AI และดำเนินการปรับการกำกับดูแลการใช้ AI ในองค์กรให้เกิดผลเสียน้อยที่สุด ซึ่งหากแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดี แฮร์ริสก็มีแนวโน้มสูงที่จะดำเนินนโนบายนี้ต่อ และอาจกระทบกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่กำลังเติบโต
ในทางกลับกัน ทรัมป์ไม่มีนโยบายในการจำกัดการพัฒนาและใช้ AI ในด้านต่างๆ สนับสนุนให้มีกฎหมายควบคุมการใช้ AI และเทคโนโลยีอื่นๆ น้อยที่สุด อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะยกเลิกคำสั่งพิเศษของไบเดนหากได้รับตำแหน่ง
- สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ
สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งไบเดนและ คามาลา แฮร์ริส มีจุดยืนที่ดำเนินไปในทางเดียวกันคือการสนับสนุนให้มีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่อให้การผลิตและใช้พลังงานในสหรัฐฯ เปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดโดยเร็ว
ทั้งนี้ แฮร์ริสมีจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างสุดโต่งกว่าของไบเดน เพราะขณะที่แผนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสีเขียวของไบเดนมีมูลค่าเพียง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของแฮร์ริสจะมีมูลค่าถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเพิ่มการเก็บค่าปล่อยมลพิษ และลดการให้เงินสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย
นอกจากนี้ แตกต่างจากไบเดน แฮร์ริสยังสนับสนุนการแบนไม่ให้มีการขุดน้ำมันแบบ fracking หรือ การฉีดน้ำ ทราย และสารเคมีด้วยกำลังอัดแรงสูงเข้าไปที่ชั้นหินลึกใต้ดิน เพื่อให้ชั้นหินปล่อยน้ำมันและแก๊สในชั้นหินออกมา ที่มีมากในรัฐอย่าง นอร์ธดาโกต้า เท็กซัสใต้ และเพนซิลเวเนีย ด้วย
จุดนี้เองที่นักวิเคราะห์มองว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจนำมาโจมตีแฮร์ริสได้ เพราะการขุดน้ำมันจากชั้นหินดังกล่าวเป็นธุรกิจที่สำคัญในรัฐเหล่านี้ และแน่นอนว่าการแบนจะส่งผลกระทบต่อทั้งรายได้และงานในพื้นที่ และถ้าหากแฮร์ริสเลือกหาเสียงด้วยนโยบายนี้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียฐานเสียงในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน Swing State หรือ Battleground State ที่ตัดสินผลการเลือกตั้งได้
ส่วนทางด้านของทรัมป์ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมถือว่ามีความสำคัญเป็นลำดับท้ายๆ เพราะมองว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นการสิ้นเปลืองเงินงบประมาณ
โดยแผน Project 2025 หรือแผนพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจของรีพับลิกันระบุว่า หากได้เป็นปธน. ทรัมป์จะดำเนินการปิดหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เช่น Office of Energy Efficiency and Renewable Energy และ National Weather Service ยกเลิกแผนของไบเดนที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม และออกจากข้อตกลงปารีสอีกครั้งหลังไบเดนนำสหรัฐฯ เข้าข้อตกลงอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021
อ้างอิง: Politico, The Washington Post, CNN, Newsweek, Yale Climate Connections, Brookings