Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สหรัฐฯ เก็บภาษีโซลาร์เซลล์อาเซียนสูงสุด 3,521% มุ่งหนุนผู้ผลิตในประเทศ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

สหรัฐฯ เก็บภาษีโซลาร์เซลล์อาเซียนสูงสุด 3,521% มุ่งหนุนผู้ผลิตในประเทศ

22 เม.ย. 68
11:17 น.
แชร์

สหรัฐฯ ประกาศตั้งกำแพงภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และไทย โดยกำหนดอัตราสูงสุดถึง 3,521% เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมผู้ผลิตภายในประเทศ โดยให้เหตุผลว่าผู้ผลิตจากประเทศเหล่านี้ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจนทำให้ราคาขายต่ำเกินความเป็นจริง และเป็นแหล่งผลิตของบริษัทจีนที่ต้องการเลี่ยงภาษี

กรณีกัมพูชา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุดที่ 3,521% เนื่องจากรัฐบาลกัมพูชาหยุดให้ความร่วมมือในการสอบสวน ส่วนบริษัทจากเวียดนามที่ไม่เปิดเผยชื่อ อาจถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 395.9% ขณะที่สินค้าไทยถูกกำหนดอัตราภาษีที่ 375.2% และมาเลเซียที่ 34.4%

สำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรง Jinko Solar ที่ประกอบธุรกิจทั้งในเวียดนามและมาเลเซีย ถูกเรียกเก็บภาษีราว 245% สำหรับสินค้าที่ส่งออกจากเวียดนาม และ 40% สำหรับสินค้าจากมาเลเซีย ส่วน Trina Solar ที่มีฐานการผลิตในไทย จะต้องเสียภาษี 375% และกว่า 200% สำหรับสินค้าที่ผลิตจากเวียดนาม ขณะที่ JA Solar ที่มีโรงงานในเวียดนาม อาจถูกเก็บภาษีในอัตราราว 120%

ข้อมูลจาก BloombergNEF ระบุว่า สหรัฐฯ นำเข้าอุปกรณ์โซลาร์เซลล์จากทั้ง 4 ประเทศมูลค่ารวมกว่า 12.9 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 77% ของการนำเข้าแผงโซลาร์ทั้งหมดของประเทศ

อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีดังกล่าวยังไม่ถือว่ามีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ จนกว่าคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USITC) จะมีคำตัดสินภายในราว 1 เดือนข้างหน้า ว่าการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ส่งผลกระทบหรือคุกคามต่อผู้ผลิตในประเทศหรือไม่

ทั้งนี้ สหรัฐฯ เคยใช้มาตรการภาษีนำเข้าแผงโซลาร์จากจีนมาก่อนเมื่อกว่า 12 ปีก่อน ซึ่งส่งผลให้ผู้ผลิตจีนจำนวนมากย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ไม่ได้ถูกเรียกเก็บภาษี รวมถึงในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตกเป็นเป้าหมายในครั้งนี้

ชัยชนะของผู้ผลิตโซลาร์เซลล์สหรัฐฯ

การประกาศเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์ครั้งนี้เป็นบทสรุปของการสอบสวนทางการค้าที่ดำเนินมานานกว่าหนึ่งปี โดยเริ่มต้นจากคำร้องของกลุ่ม American Alliance for Solar Manufacturing Trade Committee ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตในสหรัฐฯ อย่าง First Solar, Hanwha Q Cells และ Mission Solar Energy LLC 

การสอบสวนได้รับอนุมัติในช่วงที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนยังดำรงตำแหน่ง และมุ่งตรวจสอบประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและการสนับสนุนจากภาครัฐในต่างประเทศ

กลุ่มผู้ผลิตในสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าแม้กฎหมาย Inflation Reduction Act ของไบเดนอาจช่วยจุดกระแสการลงทุนและการตั้งโรงงานผลิตแผงโซลาร์ภายในประเทศ แต่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศยังคงเป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมภายในที่เพิ่งเริ่มต้น

ผลการสอบสวนพบว่า ผู้ผลิตจากทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และไทย ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างไม่เป็นธรรม และส่งออกสินค้าด้วยราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนจริง อันเป็นการบิดเบือนตลาด

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่าผลการสอบสวนในครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ซึ่งได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องจากทั้งรัฐบาลไบเดนและทรัมป์ โดยบริษัทที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว ได้แก่ Hanwha Q Cells และ First Solar Inc.

“นี่คือชัยชนะอย่างชัดเจนของภาคการผลิตอเมริกัน” ทิม ไบรท์บิลล์ หุ้นส่วนอาวุโสจากสำนักงานกฎหมาย Wiley และหัวหน้าคณะผู้ยื่นคำร้องกล่าว พร้อมเสริมว่า “ผลการสอบสวนตอกย้ำความจริงที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า บริษัทโซลาร์ที่มีฐานในจีนกำลังใช้ช่องโหว่ของระบบเพื่อทำลายคู่แข่งในสหรัฐฯ และทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องสูญเสียงาน”

อย่างไรก็ตาม แม้การเก็บภาษีจะช่วยยกระดับการแข่งขันให้กับผู้ผลิตในประเทศ แต่มาตรการนี้ก็ก่อให้เกิดภาระใหม่กับผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ที่ต้องพึ่งพาแผงโซลาร์ราคาถูกจากต่างประเทศมาตลอด และส่งผลให้ภาคพลังงานสะอาดของประเทศเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ภาษีนำเข้าชุดนี้ยังเป็นภาระเพิ่มเติมจากมาตรการภาษีในวงกว้างที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งประกาศ ซึ่งได้สั่นสะเทือนทั้งห่วงโซ่อุปทานและตลาดโลกไปแล้ว โดยภาษีล่าสุดนี้จัดอยู่ในกลุ่มภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (antidumping และ countervailing duties) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ใช้เป็นเครื่องมือในการชดเชยความเสียเปรียบจากการแทรกแซงราคาโดยรัฐต่างชาติ




แชร์
สหรัฐฯ เก็บภาษีโซลาร์เซลล์อาเซียนสูงสุด 3,521% มุ่งหนุนผู้ผลิตในประเทศ