เศรษฐกิจจีนที่ซบเซา และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้ยอดขายของสินค้าหรูตกต่ำ มูลค่าหุ้นของบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมหายไปรวม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.2 ล้านล้านบาท นำโดย LVMH เครือแบรนด์หรูที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีมูลค่าหุ้นลดลงกว่า -8% แล้วจากต้นปี
ในฐานะที่จีนเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งของโลก กำลังซื้อของผู้บริโภคจีน ย่อมส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมที่ชาวจีนเป็นกลุ่มผู้บริโภครายใหญ่ ในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19
ปัจจุบัน แม้โควิด-19 จะผ่านไป และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีนจะกลับมาแล้ว ยอดขายสินค้าหรูยังไม่กลับมาตาม เพราะคนจีนไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจ ทำให้ไม่อยากใช้จ่าย โดยเฉพาะกับสินค้าแบรนด์หรูที่ไม่จำเป็นกับการใช้ชีวิต
โดยในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ยอดขายสินค้าในเอเชีย ไม่รวมญี่ปุ่นของ LVMH เครือแบรนด์เนมกว่า 75 แบรนด์ รวมถึง Louis Vuitton, Dior และ Tiffany & Co ลดลงถึง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่เพิ่มขึ้นมากจากยอดขายไตรมาสที่ 1 ที่ลดลงเพียง 6% จากปีก่อนหน้า
ขณะที่ ยอดขายไตรมาสที่ 2 ในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และมาเก๊า ของ Richemont เจ้าของแบรนด์ Cartier และ Van Cleef & Arpels ลดลง 27% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และยอดขายของ Burberry แบรนด์หรูสัญชาติอังกฤษ ลดลง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ Swatch Group เจ้าของแบรนด์นาฬิกาอย่าง Blancpain, Longines และ Omega ยังออกมาเผยว่ายอดขายในจีนที่ลดลงยังทำให้ยอดขายรวมของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี ลดลงถึง 14.4%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ขณะที่ Hugo Boss แบรนด์หรูจากเยอรมนีออกมาปรับลดคาดการณ์รายได้สำหรับปีนี้ จากความต้องการซื้อสินค้าที่ต่ำลงของผู้บริโภคจีน
หุ้นแบรนด์หรูกอดคอกันร่วง ซีอีโอ LVMH เจ็บหนัก
แนวโน้มยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงเพราะเศรษฐกิจจีนยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ภายในปีนี้ ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทแบรนด์หรูลดลงเป็นอย่างมาก โดยมูลค่าตลาดของ 4 หุ้นที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมคือ LVMH, Hermès, Richemont และ Kering ลดลงรวมแล้ว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.2 ล้านบาท
หากแยกเป็นรายหุ้น หุ้นแบรนด์หรูที่มีมูลค่าลดลงมากที่สุด คือ Burberry ที่ในวันที่ 27 ก.ค. มีมูลค่าลดลงแล้ว -46.93% จากต้นปี รองลงมาเป็น Hugo Boss ที่ลดลง -45.33% และ Ferragamo ที่ลดลง -33.03% ขณะที่หุ้นของ LVMH บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม ลดลงแล้ว -8% จากต้นปี
ทั้งนี้ แม้หุ้นของ LVMH จะลดลงในสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ด้วยขนาดบริษัทที่ใหญ่ การลดลงของมูลค่าหุ้นแต่ละเปอร์เซนจึงส่งผลต่อมูลค่าตลาดของบริษัทอย่างใหญ่หลวง โดยตั้งแต่ต้นปี มูลค่าตลาดของ LVMH ลดลงแล้วรวมถึง 7.67 พันล้านยูโร หรือราว 3 แสนล้านบาท
มูลค่าหุ้นที่ดิ่งลงนี้ส่งผลให้ Bernard Arnault ซีอีโอของกลุ่ม LVMH กลายเป็นมหาเศรษฐีที่มีมูลค่าสินทรัพย์ลดลงเป็นจำนวนมากที่สุดในปี 2024 จากการจัดอันดับของบลูมเบิร์ก โดยตั้งแต่ต้นปี มูลค่าทรัพย์สินของ Arnault ลดลงแล้วรวมถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.2 แสนล้านบาท
แบรนด์สำหรับ ‘Ultra-Rich’ ยังรุ่ง เพราะไม่เดือดร้อนจากเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ขณะที่บริษัทแบรนด์หรูอื่นๆ ยอดขายลดลงกันถ้วนหน้า แบรนด์หรูสำหรับผู้บริโภครายได้สูงระดับ Ultra-Rich อย่าง Hermès กลับทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น
โดยในไตรมาสที่ 2 รายได้ของ Hermès เพิ่มขึ้นถึง 13.3% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เนื่องจากสินค้าอย่างกระเป๋าถือ เครื่องหนัง เสื้อผ้า และเครื่องประดับต่างๆ นั้นยังทำยอดขายได้ดีอยู่ ขณะที่ผ้าพันคอซึ่งเป็นสินค้าที่ชนชั้นกลางเข้าถึงได้มากที่สุดมียอดขายลดลง
ข้อมูลนี้สะท้อนว่า กลุ่มลูกค้ารายได้สูงจริงๆ นั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจมากนัก และยังมีรายได้และกำลังซื้อสำหรับสินค้าหรูอยู่ ขณะที่แบรนด์หรูที่ราคาต่ำลงมาส่วนมากมียอดขายลดลง เพราะขาดแรงซื้อจากกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากเศรษฐกิจ
ศักยภาพในการทำรายได้และกำไรที่ยังสูงอยู่ ทำให้มูลค่าหุ้นของ Hermès เพิ่มขึ้นสวนทางกับหลายบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 9.36% จากต้นปี