ข่าวเศรษฐกิจ

‘คลัง’ ออกมาตรการภาษีดึงแรงงาน ‘หัวกะทิ’ กลับไทย ลดภาษีเงินได้เหลือไม่เกิน 17% นาน 5 ปี

30 ก.ค. 67
‘คลัง’ ออกมาตรการภาษีดึงแรงงาน ‘หัวกะทิ’ กลับไทย  ลดภาษีเงินได้เหลือไม่เกิน 17% นาน 5 ปี

กระทรวงการคลัง ออกมาตรการภาษีเพื่อจูงใจแรงงานไทยทักษะสูงในต่างประเทศกลับมาทำงานในไทย โดยลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้เหลือไม่เกิน 17% ของเงินได้ นาน 5 ปี พร้อมเปิดให้นายจ้างหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า 

ปัญหา ‘สมองไหล’ (brain drain) หรือการที่แรงงานทักษะสูงย้ายออกไปทำงานต่างประเทศ เป็นปัญหาสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่แรงงานหัวกะทินิยมออกไปทำงานในต่างประเทศมากกว่า เพราะได้ค่าตอบแทนที่มากกว่าการทำงานในไทย รวมถึงได้ประโยชน์จากสวัสดิการทางสังคมในประเทศปลายทาง

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญในการพัฒนาประเทศและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

มาตรการดังกล่าวมุ่งจูงใจให้แรงงานไทยที่ทำงานต่างประเทศเกิน 2 ปี โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 15 อุตสาหกรรม กลับมาทำงานในไทย โดยแรงงานที่มีคุณสมบัติตรงกำหนดสามารถลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลืออัตรา 17% ของเงินได้ เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2572 

นอกจากนี้ มาตรการภาษีนี้ยังมุ่งจูงใจให้บริษัทต่างๆ รับแรงงานกลุ่มนี้เข้าทำงาน ด้วยการเปิดให้นายจ้างสามารถหักรายจ่ายที่จ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างได้จำนวน 1.5 เท่า

ในเบื้องต้น รัฐบาลคาดว่ามาตรการนี้จะดึงดูดแรงงานหัวกะทิกลับไทยได้อย่างน้อย 500 คน และทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีไปประมาณ 120 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี ที่ใช้มาตรการภาษีดังกล่าว

 

สิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างและนายจ้างจะได้รับจากมาตรการนี้มีอะไรบ้าง?

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง)

ลูกจ้างที่มีคุณสมบัติตามกำหนด สามารถลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลืออัตรา 17% ของเงินได้ ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 

โดยเมื่อผู้มีเงินได้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กฎหมายกำหนดแล้วต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า 17% ของเงินได้ โดยต้องเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล (นายจ้าง) 

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สามารถหักรายจ่ายที่จ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้าง ได้จำนวน 1.5 เท่า

 

ใครมีสิทธิได้ประโยชน์จากมาตรการนี้บ้าง?

ในกรณี ‘ผู้มีเงินได้’ หรือ ‘ลูกจ้าง’ ผู้เข้าร่วมมาตรการจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
  2. ประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยมีเอกสารรับรองการทำงานจากนายจ้างในต่างประเทศหรือเอกสารอื่นใดที่ยืนยันประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ เช่น สัญญาจ้างงาน หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากรายได้จากการทำงานในต่างประเทศ หรือเอกสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน เป็นต้น 
  3. ต้องเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
  4. เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายที่กำหนด และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องเริ่มทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานในช่วงเวลาวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
  5. ต้องไม่เคยทำงานในประเทศไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้
  6. กรณีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ในปีภาษีใดเป็นครั้งแรก ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธินั้นอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้น ต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้นๆ
  7. ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ จะต้องอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วันในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้ายที่ใช้สิทธิจะอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้

ในกรณี ‘บริษัท’ และ ‘ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล’ หรือ ‘นายจ้าง’ ผู้เข้าร่วมมาตรการจะต้องเป็นกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 15 อุตสาหกรรม ได้แก่ 

    1. อุตสาหกรรมยานยนต์
    2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
    3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ 
    4. อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ 
    5. อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ 
    6. อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 
    7. อุตสาหกรรมการบิน อากาศยาน และอวกาศ 
    8. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ
    9. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
    10. อุตสาหกรรมดิจิทัล 
    11. อุตสาหกรรมการแพทย์ 
    12. อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ 
    13. อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยตรงและมีนัยสำคัญ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น 
    14. ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center-IBC) 
    15. อุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยชาวต่างชาติซึ่งขอรับการรับรองคุณสมบัติฯ ต้องทำงานโดยใช้ทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น
      1. การวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น Biotechnology, Nanotechnology, Advanced Material Technology, Digital Technology
      2. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษา
      3. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในการประกอบธุรกิจ
      4. การวางแผนและพัฒนาระบบติจิทัลเพื่อยกระดับการผลิตและการบริการของธุรกิจ

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์จะใช้สิทธิต้องแจ้งรายละเอียดของผู้มีเงินได้ที่เป็นลูกจ้างซึ่งจะใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องมีข้อความและเอกสารประกอบอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดผ่านสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ภายในวันสุดท้ายของปีภาษีแรกที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT