ข่าวเศรษฐกิจ

หุ้นไทยร่วงกว่า 15 จุด หลังศาลรธน.สั่ง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ สิ้นสุดนายกฯ

14 ส.ค. 67
หุ้นไทยร่วงกว่า 15 จุด หลังศาลรธน.สั่ง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ สิ้นสุดนายกฯ

เป็นอันสิ้นสุดแล้ว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดีคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ปมแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน มีมติ 5 ต่อ 4 หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมสั่งให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะนั้น ส่งให้ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงกว่า 15 จุด 

ส่วนเงินบาทนั้นหากการสรรหานายกฯ และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ มีความล่าช้า ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้ ซึ่งต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด ภาคเอกชนแนะเรื่องเร่งด่วน คือ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เร่งสรรหานายกและคณะรัฐมนตรีเร็วที่สุด เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยปีนี้

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) มองว่า เรื่องดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อตลาดหุ้นไทยไม่มากนัก เนื่องจากเชื่อว่า การเลือกนายกฯ คนใหม่จะใช้เวลาไม่นาน และพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะจับมือกันอยู่ต่อ ส่งให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ยังไปต่อได้ 

ทรีนีตี้ชี้หากสุญญากาศการเมืองลากยาว ดัชนีเสี่ยงหลุด 1270  จุด

“ทรีนีตี้” ประเมินผลกระทบทางการเมือง กับตลาดหุ้นไทย หลัง ศาลฯวินิจฉัย นายกฯ พ้นตำแหน่ง และครม .ทั้งคณะขึ้นอยู่กับการโหวตนายกคนใหม่ และการแต่งตั้งครม.ชุดใหม่ หากลากยาว หุ้นอาจเสี่ยงหลุดแนวรับสำคัญ 1270 จุด หั่น EPS บจ.อีกรอบ แนะเลี่ยงหุ้นค้าปลีก Digital Wallet ค้างชะงัก!!

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์  บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของคุณเศรษฐา ทวีสินสิ้นสภาพ ทำให้นายกฯ หลุดจากตำแหน่งไปพรัอมๆ กับคณะรัฐมนตรีทั้งหมด  ขั้นตอนหลังจากนี้ คือ สภาฯ มีหน้าที่ที่จะต้องลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ จากบัญชีแคนดิเดตที่เหลืออยู่ อาทิเช่น คุณแพทองธาร ชินวัตร คุณชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย หรือคุณอนุทิน ชาญวีรกุล จากพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประเมินผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย มองเป็น Negative surprise ที่เกิดขึ้นในตลาด คงจะต้องมาดูว่าการรวมคะแนนเสียงเพื่อเลือกนายกฯคนถัดไป พร้อมกับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะกินเวลายาวนานแค่ไหน  หากเกิดขึ้นได้เร็วภายในไตรมาสที่ 3 นี้ เชื่อว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยคงจะมีไม่มากนัก แต่หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อจนกระทั่งเกิดสูญญากาศทางการเมืองไปถึงไตรมาสที่ 4 ประเมินตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเผชิญกับภาวะ Political risk premium ที่สูงขึ้นได้

หั่น EPS บจ.อีกรอบ แนะเลี่ยงหุ้นค้าปลีก Digital Wallet ค้าง แนะเลี่ยงหุ้นค้าปลีก

หากออกมาในรูปแบบนี้ มีโอกาสที่คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนต่างๆจะถูกปรับลงอีกระลอกหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงกับ Domestic demand ซึ่งจะถูกบั่นทอนจาก ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง การชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจ และการเบิกจ่ายภาครัฐที่ล่าช้าออกไป ไม่นับรวมกับสายตาของนักลงทุนต่างชาติที่เบื่อหน่ายกับภาพการเมืองไทยที่มักมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

ในกรณีนี้ อาจจำเป็นต้องปรับลดสมมติฐาน EPS ของตลาดลง จนกระทบกับระดับดัชนี SET ที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงระดับแนวรับสำคัญที่ 1270 จุด ก็จะถูกกดต่ำลงมาโดยอัตโนมัติ และอาจต้องระวังกลุ่มค้าปลีกที่มีโอกาสได้รับ Sentiment เชิงลบจากความคาดหวังมาตรการ Digital Wallet ที่น้อยลง

เลือกนายกฯใหม่และคณะรัฐมนตรีล่าช้า กดดันให้เงินบาทอ่อนค่า

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ได้กล่าวกับ SPOTLIGHT ว่า ในแง่ของค่าเงินบาท มองว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะในกรณีที่การเลือกนายกฯ และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ มีความล่าช้า ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้ ซึ่งต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด 

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าไปมาก หากเงินดอลลาร์ไม่ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องชัดเจน และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังทรงตัวแถวระดับต่ำกว่า 4.00% ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความคาดหวังว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว -100bps ในปีนี้ โดยในกรณีดังกล่าว ราคาทองคำก็อาจยังมีจังหวะปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำเป็นระยะๆ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนการแข็งค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา 

นอกเหนือจากปัจจัยการเมืองไทย มองว่า ปัจจัยความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับเงินบาทได้ ซึ่งแม้ว่า ในกรณีที่สถานการณ์ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า แต่เงินบาทก็อาจได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นได้ในกรณีดังกล่าว

คาดเงินบาทแนวรับแถว 34.75-34.80 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจยังมีโซนแนวรับแถว 34.75-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านแรกจะอยู่แถว 35.30 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซนแนวต้านถัดไปในช่วง 35.50 บาทต่อดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้จริง

จับตาการเบิกจ่ายและเงินลงทุนภาครัฐล่าช้าหรือไม่?

ในส่วนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทย อาจต้องจับตาผลกระทบจากประเด็นการเมือง ต่อแนวโน้มการเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการจัดทำงบประมาณปี 2025 ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และปีหน้า 

โดยหากความไม่แน่นอนของการเมืองไทย ทำให้การเร่งเบิกจ่ายและเร่งลงทุนของภาครัฐในช่วงไตรมาส 2 ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินไว้ได้ 

นอกจากนี้ หากการจัดทำงบประมาณปี 2568 มีความล่าช้า ไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับงบประมาณปี 2024 ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 อาจขยายตัวได้น้อยกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้พอสมควร (เศรษฐกิจอาจขยายตัวต่ำกว่า +3%y/y)

ทั้งนี้ ประเด็น Digital Wallet ไม่ได้อยู่ในคาดการณ์ของบรรดานักวิเคราะห์ รวมถึง ธปท. ทำให้ หากความวุ่นวายของการเมืองไทย ทำให้รัฐบาลไม่ได้สานต่อโครงการ Digital Wallet ก็จะไม่ได้มีผลต่อคาดการณ์ของบรรดานักวิเคราะห์มากนัก โดยผลกระทบจากความวุ่นวายการเมืองจะอยู่ในฝั่งการเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก และอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้บ้าง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ SPOTLIGHT ว่า ในระยะสั้น เห็นได้จากตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงมาเป็นติดลบ เนื่องจากนักลงทุนต่างตกใจกับคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ต่างมีคาดการณ์กันว่า นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสินจะได้ไปต่อ และที่น่าตกใจกว่านั้น คือ คณะรัฐมนตรีพ้นสภาพทั้งคณะ ซึ่งตลาดหุ้นที่ปรับลดลงได้สะท้อนถึงความรู้สึกของนักลงทุน 

ส่วนระยะกลาง ถึงระยะยาว มองว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในวงกว้าง คำถาม คือ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป รวมถึง คณะรัฐมนตรีหน้าตาเป็นอย่างไร? ซึ่งต้องลุุ้นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 5 คนจะเป็นใคร?  และนโยบายต่างๆ ของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเปลี่ยนไปหรือไม่?  และการเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะใช้เวลานานแค่ไหน? ซึ่งปัญหาเหล่านี้ จะทำให้นักลงทุนทั้งที่เข้ามาลงทุนโดยตรง หรือลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่างคงต้อง wait & see ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน เพื่อรอดูทิศทางนโยบายของประเทศให้มีความชัดเจนก่อน

นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา  เมื่อมีเหตุการณ์ เช่น ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ หรือที่เกี่ยวกับการเมืองส่งผลให้นโยบายต่างๆ ของประเทศขาดความต่อเนื่อง เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลชุดใหม่ก็จะมีนโยบายใหม่เข้ามา แม้ว่านโยบายเดิมบางอย่างจะดีอยู่แล้วก็ตาม  ซึ่งในระยะกลางนี้ นักลงทุนก็คงต้องรอติดตามสถานการณ์ทิศทางนโยบายของประเทศ

ภาคเอกชนแนะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณพยุงเศรษฐกิจ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) WHA Group กล่าวกับ SPOTLIGHT ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี หยุดปฎิบัติหน้าที่โดยทันทีนั้นว่า ในแง่ของเงินลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างประเทศ เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ก็ต่างให้ความสำคัญกับการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ จึงเชื่อว่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบ และในแง่ของบริษัทก็เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

แต่ในแง่ของภาพรวมของเศรษฐกิจไทยนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่หลายประการ ทั้งในแง่ของภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ปัญหาหนี้ครัวเรือน เรื่องของงบประมาณภาครัฐ ซึ่งเรื่องเร่งด่วนขณะนี้ที่ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด คือ การหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ และจัดตั้งคณะรัฐมนตรี รวมถึง การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะดูแลภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT