Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ทำไม SET ถึงพยุงตลาดหุ้น แม้เจ้ามือตัวจริงคือผลประกอบการ
โดย : ศดิศกฤษฏิ์ ศิริสมภพ

ทำไม SET ถึงพยุงตลาดหุ้น แม้เจ้ามือตัวจริงคือผลประกอบการ

18 ก.พ. 68
16:54 น.
|
571
แชร์

ถ้าถามว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้หุ้นขึ้นได้ดีที่สุดในระยะยาว

- เรื่องราวการเติบโต สวยหรู แน่นอนว่าไม่ใช่..

- การควบคุม Short Sell ก็อาจจะไม่ใช่อีก..

คำตอบของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้น กำไร

หลายคนอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า ผลประกอบการคือเจ้ามือตัวจริง

คำถามคือ ถ้ามันเป็นแบบนี้ แล้วทำไม ตลาดหลักทรัพย์ (SET) ถึงยังออกมาตรการมาพยุงตลาดหุ้น เราลองมาดูกัน

ก่อนอื่นก็มาดูกันก่อนว่า ปีนี้ SET จะออกมาตรการอะไรออกมาบ้าง ?

เริ่มกันที่เรื่องแรก การจำกัดน้ำหนักหุ้นในดัชนี

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราอาจได้เห็นปรากฎการณ์ที่หุ้นตัวหนึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลายสิบเด้ง จนมีสัดส่วนน้ำหนักที่มากในดัชนี SET บ้านเรา

ซึ่งหุ้นตัวนี้ก็แบกความคาดหวังไว้สูง ถูกซื้อขายด้วยค่า PE เกินครึ่งของ 100

ทางตลาดหลักทรัพย์ก็เลยเห็นถึงความเสี่ยงว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นตัวนี้ มันอาจจะลากให้ดัชนีภาพรวมลงตามไปด้วย ก็เลยออกมาตรการจำกัดน้ำหนักหุ้นในดัชนีไม่ให้เกิน 10% ออกมา

เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติในต่างประเทศ ส่วนในไทย ตัวอย่างดัชนีที่ใช้เกณฑ์นี้อยู่แล้วก็จะมี

- SET HD ดัชนีหุ้นปันผลสูง 

- SET CLMV ดัชนีหุ้นที่มีรายได้หลักมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม

ซึ่งตอนนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ กำลังพิจารณาเอามาตรการนี้มาปรับใช้กับ ดัชนี SET 50 และ SET 100 ด้วย

ข้อถัดมา ก็คือ ลดข้อจำกัดการซื้อหุ้นคืน

สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าการซื้อหุ้นคืน คืออะไร ? การซื้อหุ้นคืนก็คือการที่บริษัทมีเงินสดเหลือ แต่ยังไม่รู้จะเอาไปทำไร เลยเอามาซื้อหุ้นคืนเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น

การทำแบบนี้จะทำให้จำนวนหุ้นลดลง เท่ากับกำไรต่อหุ้น และ ปันผลต่อหุ้น จะมากขึ้น เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุน

แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าการซื้อหุ้นคืนจะสร้างประโยชน์ให้กับนักลงทุนมากที่สุด ตอนที่บริษัทซื้อหุ้นคืนในราคาไม่แพง

ทีนี้ มาดูกันว่าถ้าบริษัทในบ้านเราอยากจะซื้อหุ้นคืนทีละมาก ๆ มันมีข้อจำกัดอะไรอยู่

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ในวันนี้ถ้าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจะซื้อหุ้นคืน จะต้องทำในสัดส่วนไม่เกิน 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และ ถ้าซื้อไปแล้วจะต้องรออีก 6 เดือน ถึงจะทำใหม่ได้

และถ้าอยากซื้อหุ้นคืนในสัดส่วนที่เกิน 10% ก็จะต้องเข้าประชุมผู้ถือหุ้นก่อน 

ข้อจำกัดตรงนี้เลยทำให้บริษัทในตลาดหุ้นไทย บริหารเงินทุนได้จำกัด ส่งผลให้เวลาราคาหุ้นลงแรง บริษัทไม่สามารถใช้วิธีนี้ในการบริหารความผันผวนได้เต็มที่

ทาง SET ก็เลยอยากที่จะลดข้อจำกัดตรงนี้ แต่มันติดตรงที่ถ้าข้อจำกัดตรงนี้ไม่มี บางบริษัทอาจใช้การซื้อหุ้นคืนในการลากราคาหุ้นได้

ถึงแม้ตอนนี้จะมีข้อจำกัดเรื่อง Free Float หรือสัดส่วนการถือครองหุ้นของรายย่อยที่ 15% กันไว้อีกชั้นก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้ทาง SET กำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจากับกระทรวงพาณิชย์อยู่ว่าจะลดข้อจำกัดตรงนี้ได้หรือไม่

ข้อต่อไปก็คือ ปรับ Uptick Rule

มันคืออะไร ? อธิบายง่าย ๆ ก็คือกฎที่ออกมาเพื่อให้คนที่ทำการ Short หุ้น หรือ เก็งว่าหุ้นจะลง ทำแบบนี้ได้เฉพาะตอนที่ราคาทรงตัว หรือ ปรับตัวขึ้นเท่านั้น

ซึ่งก็จะทำให้หุ้นที่ถูก Short ไม่โดนทุบลงมาหนักรวดเดียวนั่นเอง

ประเด็นนี้ทาง SET มองว่าควรปรับให้เหมาะสมกับภาวะตลาดตอนนี้ เพราะหุ้นบางตัวที่ไม่มีปัญหาอะไรอาจไม่ควรโดนไปด้วย

ส่วนอีกมาตรการที่เรียกได้ว่าเป็นโปรเจกต์ใหญ่ของ SET ก็คือ มาตรการ Jump+ 

แล้วมันคืออะไร ?

สรุปง่าย ๆ มันก็คือมาตรการที่ทำให้บริษัทในตลาดมีแรงจูงใจเพื่อสร้างการเติบโตมากขึ้น มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ดึงดูดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในไทยมากขึ้น

ทีนี้ มาไล่ดูกันทีละข้อ ว่าบริษัทจดทะเบียนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง จากการเข้าร่วมโครงการนี้

1. ได้งดเว้นภาษีกำไรที่เติบโตใน 3 ปีแรก

- บริษัทที่เข้าโครงการนี้ ถ้าทำตามเป้าหมายธุรกิจ และ เงื่อนไขได้ จนกำไรเติบโตจากเดิม จะได้งดเว้นภาษีจากกำไรที่เติบโตขึ้น

- สมมติว่าก่อนเข้าโครงการบริษัท A มีกำไร 100 บาท โดยหลังจากเข้าโครงการบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปีแรก กำไร 110 บาท

ปีที่สอง กำไร 130 บาท

ปีที่สาม กำไร 150 บาท

กำไรของบริษัท A ที่เพิ่มขึ้นมา 50 บาท จะไม่ถูกเก็บภาษี ส่วนกำไร 100 บาท ก่อนเข้าร่วมโครงการจะถูกเก็บภาษีตามปกติ

โดยทาง SET เชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยให้บริษัทมีแรงสนับสนุนเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคตต่อไปเรื่อย ๆ

2. สร้างการเติบโตผ่านการควบรวม และ ซื้อกิจการ (M&A)

- สนับสนุนให้บริษัททำ M&A มากขึ้น เพราะ เชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากทั้งการเติบโต และ ขนาด ทำให้ได้เปรียบเรื่องต้นทุนมากขึ้น

- โดยจะให้บริษัทที่เคยทำบัญชี 2 บัญชี เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ได้รับการเว้นโทษเก็บภาษีย้อนหลัง 

- พูดง่าย ๆ ก็คือ ที่แล้วมาก็แล้วไป บริษัทในตลาดจะได้มีธุรกิจดี ๆ น่าลงทุน เป็นตัวเลือกมากขึ้น

3. วางตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็น Listing Hub

- ข้อนี้ แปลง่าย ๆ ก็คือ พอตลาดหุ้นไทยยั่งยืนมากขึ้น มีการเติบโต ก็จะดึงดูดให้บริษัทต่างชาติ เข้ามาจดทะเบียนในบ้านเรามากขึ้น บ้านเราก็จะมีธุรกิจน่าสนใจให้นักลงทึนได้เลือกลงทุนมากขึ้น

โดยมาตรการ Jump+ นี้ ทาง SET ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีบริษัทเข้าร่วมอย่างน้อย 50 บริษัท จากทั้งหมดกว่า 800 บริษัท

และจะเริ่มโปรแกรมตอนเดือน พฤษภาคม ปีนี้ โดยบริษัทที่สนใจเข้าร่วมจะต้องไม่ถูกขึ้นเครื่องหมาย ไม่ติดโทษหรือมีประเด็นกับ กลต. 

หรือสรุปง่าย ๆ ก็คือต้องไม่ใช่บริษัทไม่มีธรรมาภิบาล หรือเป็นบริษัทต้องสงสัยว่าจะมีความผิดนั่นเอง

อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าย้อนกลับไปคำถามแรกที่ว่า ทำไม SET ต้องพยุงตลาดหุ้นทั้งที่เจ้ามือตัวจริงคือผลประกอบการ

ข้อสรุปที่ได้ก็คงจะเป็นเรื่องที่ว่า เป็นการช่วยไม่ให้ตลาดผันผวนจนเกินไป เพราะตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกของคนเสมอ

เวลาที่ตลาดตกใจ หุ้นแย่อาจจะถูกทำโทษ แต่บางทีหุ้นดีก็อาจจะโดนลากลงมาด้วย เพราะคนตกใจขาย

ซึ่งมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ออกมาตรงนี้ ก็เป็นการช่วยเหลือไม่ให้นักลงทุนที่ถือหุ้นดี ได้รับผลกระทบ เจอความผันผวนตามไปด้วย

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ต้องบอกก่อนว่าการออกมาตรการมาพยุงตลาด ก็มีข้อเสีย อย่างเช่น ตลาดจะดูไม่เสรี อิสระ ดูมีความเสี่ยงเรื่องกฎเกณฑ์จากสายตานักลงทุนได้

ซึ่งก็อาจทำให้หุ้นไทยสะท้อนความเสี่ยงตรงนี้ ถูกเทรดที่ค่า PE ต่ำลง ส่งผลต่อมูลค่าของหุ้นที่ถือได้

ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้เขียนเชื่อว่า นักลงทุนให้ความสำคัญไม่แพ้กันกับเรื่องของพื้นฐานกิจการเลยทีเดียว

ที่มา: SET

แชร์
ทำไม SET ถึงพยุงตลาดหุ้น แม้เจ้ามือตัวจริงคือผลประกอบการ