ข่าวเศรษฐกิจ

SCB มองศก.ไทยปี 68 โตลำบาก ปรับ GDP เหลือ 2.6% ปชช.หนี้สูง เอกชนลงทุนซบเซา

26 ส.ค. 67
SCB มองศก.ไทยปี 68 โตลำบาก ปรับ GDP เหลือ 2.6% ปชช.หนี้สูง เอกชนลงทุนซบเซา

SCB EIC ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจจากธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 เหลือ 2.6% จากเดิม 2.9% มองเศรษฐกิจไทยโตต่ำ จากอัตราการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่ซบเซาลง จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง กำลังซื้อต่ำ และความไม่แน่นอนทางการเมือง 

SCB EIC ออกรายงานเศรษฐกิจประจำเดือนสิงหาคม คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ 2.5% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงส่งหลักจากการบริโภคภาคเอกชน ตามภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ยังฟื้นตัวดี 

โดยในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วราว 21.9 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการทำตลาดของภาครัฐ เช่น Meituan และ MakeMyTrip ในช่วงสิงหาคม-กันยายน และการเพิ่มความถี่เที่ยวบินใน Winter schedule เช่น เส้นทางอินเดียหลังการเพิ่มสิทธิการบินใหม่ระหว่างไทย-อินเดีย และ เส้นทางจีนเพื่อรองรับตลาดท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีนที่กำลังเติบโต 

ทั้งนี้ ในปี 2567 ภาคการผลิตไทยยังฟื้นตัวได้ช้า เพราะเจอแรงกดดันต่อเนื่องจากระดับสินค้าคงคลังที่ยังสูง และอุปสงค์ตลาดในประเทศซบเซา และการลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงจากทั้งหมวดการก่อสร้าง และเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการลงทุนยานพาหนะ สอดคล้องกับอุปสงค์ตลาดที่อยู่อาศัยและรถยนต์ที่หดตัว ท่ามกลางปัญหาหนี้ค้างชำระและอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่ปรับสูงขึ้น โดยในไตรมาสที่ 2 การลงทุนภาครัฐหดตัว 0.3% และการลงทุนภาคเอกชนลดลง 1.8% 

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณแผ่วลง โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นช้า และค่าครองชีพสูง

ด้านมุมมองเศรษฐกิจปี 2025 SCB EIC ปรับลดประมาณการณ์ลงเหลือ 2.6% จากเดิม 2.9% ปัจจัยจากการบริโภคเอกชนที่เติบโต ชะลอลงท่ามกลางกำลังซื้อเปราะบางและหนี้สูง ทิศทางการลงทุนภาคเอกชนที่แผ่วลง

เศรษฐกิจครึ่งปีหลังแผ่ว ปี 68 โตไม่สูง การบริโภคลดจากปัญหานี้

สำหรับเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2024 SCB EIC มองว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้าต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนยังเป็นแรงสนับสนุนในหมวดบริการและสินค้าไม่คงทน ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และการลงทุนยานพาหนะ สอดคล้องกับอุปสงค์ตลาดที่อยู่อาศัยและรถยนต์ที่หดตัว ท่ามกลางปัญหาหนี้ค้างชำระและอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่ปรับสูงขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2025 SCB EIC มองว่า มีแนวโน้มเติบโตไม่สูงนัก และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงมาก สะท้อนความเปราะบางของภาคครัวเรือนและปัญหาหนี้สูง แต่การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาฟื้นตัวตามวัฏจักรตลาดที่อยู่อาศัยและรถยนต์ที่เริ่มกลับมาตลอดจนแนวโน้มการลงทุนจริงตามมูลค่าการออกบัตรสิทธิประโยชน์จาก BOI ที่สูงขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีก่อน 

ด้านการผลิตและการส่งออกไทยปี 2567 พบมีการขยายตัวต่ำและมีแนวโน้มทรงตัวในปี 2568 ทำให้ต้องติดตามหลายปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จากอุปสงค์และต่างประเทศที่ยังอ่อนแอ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาสินค้าจีนตีตลาด รวมถึง ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่สูงขึ้น เป็นความเสี่ยงสำคัญเพิ่มเติม

ในมุมมองของ SCB EIC ในปี 2568 การส่งออกไทยจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามหลายปัจจัยที่จะกระทบการส่งออกไทย เช่น

  • แรงส่งภาครัฐปี 2568 ที่มีความไม่แน่นอนสูง จากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ การจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2568 และ Digital wallet
  • การมีส่วนร่วมของไทยในห่วงโซ่การผลิตโลกในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลงเทียบกับในอดีต ซึ่งอาจทำให้ไทยไม่ได้รับผลประโยชน์จากวัฏจักรขาขึ้นของสินค้านี้
  • การที่ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะลานีญา ซึ่งจะทำให้ฝนตกหนัก/เกิดอุทกภัย ส่งผลกระทบในเชิงพื้นที่และผลผลิตเกษตร
  • ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก อาทิ ความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การปรับทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลักที่อาจกระทบต่อค่าเงิน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการค้าหลายประเทศ

นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนอาจเผชิญภาวะการเงินตึงตัวแรงกว่าภาคส่วนอื่น เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงินที่ปรับเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ภาคครัวเรือนสามารถก่อหนี้ได้น้อยลงกว่าในอดีตมาก ดังนั้น หากกนง. ลดดอกเบี้ย การเริ่มลดดอกเบี้ยในภาวะเช่นนี้จึงไม่ได้มีผลกระตุ้นการก่อหนี้มากจนน่ากังวล และไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการลดหนี้ในระบบเศรษฐกิจ (debt deleveraging) 

มอง กนง. ลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง กระตุ้นการใช้จ่าย

สำหรับเงินเฟ้อ SCB EIC ประเมินเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวต่ำลงอยู่ที่ 0.6% (เดิม 0.8%) ในปีนี้ สะท้อนความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐชะลอการทยอยปรับขึ้นราคาพลังงานในประเทศตลอดปี โดยเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้ากรอบได้ในไตรมาส 4 ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงเดียวกันของปีก่อนภาครัฐได้ออกมาตรการลดค่าครองชีพด้านราคาพลังงานให้อยู่ในระดับต่ำหลายด้าน

SCB EIC คงมุมมอง กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในช่วงปลายปีนี้เหลือ 2.25% เนื่องจากความจำเป็นในการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เพราะความเปราะบางเริ่มส่งผลมายังอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงการลงทุนที่ชะลอลง 

สำหรับปี 2568 ภาวะการเงินโลกจะมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และนโยบายเศรษฐกิจของไทยเอง SCB EIC จึงยังคงมุมมองว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าเหลือ 2% 

ขณะนี้ เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็ว จากความกังวลทางการเมืองที่ลดลงหลังแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ได้เร็ว ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และราคาทองคำสูงขึ้น SCB EIC มองว่าในระยะต่อไปเงินบาทอาจอ่อนค่าได้ในช่วงสั้น ก่อนจะกลับสู่เทรนด์แข็งค่าตาม easing cycle ของนโยบายการเงินสหรัฐฯ โดยมองกรอบเงินบาท ณ สิ้นปีนี้อยู่ในช่วง 34.00 - 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เศรษฐกิจโลกแนวโน้มดีขึ้นในปี 2568 คง GDP ที่ 2.7%

SCB EIC มอง เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มทรงตัวในปีนี้ และจะดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2568 SCB EIC คงประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2567 ที่ 2.7% โดยมีมุมมองเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซน อินเดีย และอาเซียน 5 ปรับดีขึ้นเล็กน้อย 

ด้านเศรษฐกิจโลกในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าคาดการณ์เดิมเล็กน้อยเป็น 2.8% จากเศรษฐกิจยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีนที่จะขยายตัวดีขึ้นบ้าง ส่วนหนึ่งจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงด้านลบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายหลังการเลือกตั้งใหญ่ของหลายประเทศที่เกิดขึ้นภายในปีนี้ 

ส่วนนโยบายการเงินโลกจะลดความตึงตัวลงในระยะข้างหน้า SCB EIC ประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มลดดอกเบี้ยและลดมากกว่าที่เคยมองไว้ โดยปรับลดในทุกรอบประชุมที่เหลือ 3 ครั้งของปีนี้ รวมเป็น 75 bps เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย 

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้ง 50 bps ในเดือน ก.ย. และ ธ.ค. หลังจากเริ่มลดครั้งแรกไปในไตรมาส 2 ด้านธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 10 bps ในไตรมาส 4 

ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงดอกเบี้ยไว้ก่อนที่ 0.25% ตลอดปีนี้หลังจากปรับขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจในเสถียรภาพตลาดการเงินจากการปรับทิศทางนโยบายการเงินในโลก โดย BOJ จะกลับมาปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงไตรมาส 1 และสิ้นปีหน้า

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT