ข่าวเศรษฐกิจ

กกร.ชี้น้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อศก.6,000-8,000ล้านบาทรัฐเร่งกระตุ้นศก

4 ก.ย. 67
กกร.ชี้น้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อศก.6,000-8,000ล้านบาทรัฐเร่งกระตุ้นศก

 

กกร.ห่วงสถานการณ์อุทกภัยกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คาดน้ำท่วมภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ช่วงเดือนสิงหาคม จนถึงต้นเดือนกันยายน 2567 สร้างความเสียหายแล้ว 6,000-8,000 ล้านบาท มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.03-0.04%

 

กกร.ชี้น้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 6,000-8,000 ล้านบาท วอนรัฐเร่งกระตุ้นศก.

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร. ได้มีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำ และ อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและ ภาคกลางตอนบน จึงมีมติให้จัดตั้งคณะทำงานย่อยจัดทำข้อเสนอด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อเสนอต่อภาครัฐ 

โดยเน้นการวางแผนระยะยาวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำรอยเหมือนปี 2554 ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำ และ เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำทั่วประเทศ เพื่อให้การบริหารน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม และ เพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำ 

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นถือเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม ประมาณมูลค่าความเสียหาย ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนจะอยู่ที่ราว 6,000-8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.03-0.04% ของจีดีพี 

โดยภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนในระยะถัดไปต้องติดตามพายุที่อาจจะเข้าได้ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ถือเป็นความเสี่ยงต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม

ดังนั้น กกร.เสนอให้มีการเชื่อมโยงระหว่างความต้องการน้ำ (Demand) และ การจัดหาน้ำ (Supply) เพื่อให้สามารถจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันจะไม่รุนแรงเท่าปี 2554 

ในปี 2567 คาดว่าจะยังมีพายุพัดผ่านประเทศไทยอีก 2 ลูก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 จึงต้องมีการเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนเจเขื่อนเจ้า

นอกจากนี้ กกร. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลการเคลื่อนที่ของมวลน้ำในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที และ มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในการฟื้นฟูธุรกิจ เช่น มาตรการทางภาษี มาตรการบรรเทาต้นทุนการผลิต และ มาตรการทางการเงิน

สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง เครื่องชี้ด้านการผลิต PMI Manufacturing เดือนสิงหาคมของประเทศหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน ต่างหดตัว โดยสหรัฐฯส่งสัญญาณพร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่ค่าระวางเรือยังสูงกว่าภาวะปกติ 3 เท่าตัวเป็นปัจจัยลบต่อการค้าโลก 

ขณะที่การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคมเติบโตถึง 15.2% จากแรงหนุนของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ของโลก และ คาดว่าทั้งปีจะเติบโตได้ 1.5-2.5% สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 0.8-1.5% แต่การเติบโตดังกล่าวยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้เป็นการเติบโตในวงกว้าง ซึ่งคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 2.2-2.7% และ เงินเฟ้อที่ 0.5-1.0%

สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศของไทยยังอ่อนแรงสะท้อนจากการลงทุน แม้ว่ารัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุน ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเติบโตเฉลี่ยได้กว่า 20% ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เศรษฐกิจในไตรมาสที่สองที่ผ่านมายังชะลอตัว 

โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากถึง 6.8% เหตุสำคัญจากกลุ่มยานยนต์ที่ยอดขายในประเทศลดลงถึง 24% โดยการลงทุนในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอสะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภค และภาคธุรกิจที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

กกร.สนับสนุนการยกระดับการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน

กกร. ได้สนับสนุนแนวทางการยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของภาคธนาคารที่ได้ยกระดับการจัดการบัญชีม้าให้เข้มข้นขึ้น โดยจัดกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นบัญชีม้าดำ ม้าเทา และ ม้าน้ำตาล ซึ่งมีการแชร์ข้อมูลระหว่างกันของภาคธนาคาร พร้อมเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ ฐานข้อมูล Central Fraud Registry (CFR) เพื่อจัดการบัญชีม้าเดิม และ ป้องกันการเปิดบัญชีม้าใหม่ โดยหากบุคคลใดถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจะถูกระงับบัญชีทั้งหมด และ ไม่ให้เปิดบัญชีใหม่ 

นอกจากนี้ ยังจะขยายผลไปยังบัญชีนิติบุคคลซึ่งมีข้อมูลว่า บัญชีที่ถูกเปิดโดยนิติบุคคล มีรายชื่อกรรมการเชื่อมโยงกับบัญชีม้าจำนวนมาก พร้อมกันนี้ สมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ภาคธนาคาร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ไปจนถึงผู้ให้บริการคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อให้สามารถจัดการบัญชีม้าอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนกรณีที่ทางธปท. อยู่ระหว่างผลักดันแนวทางให้ธนาคารต้องรับผิดชอบ 100% เมื่อลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินนั้น นายผยง กล่าวว่า หลักคิดการให้บริการทางการเงินแบบรับผิดชอบจะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน ต้นน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งต้องยกระดับไปทั้งระบบร่วมกัน และ ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ข้อต่อใดข้อต่อหนึ่ง โดยระบบมีความสามารถในการแยกแยะหรือไม่ ตลอดจนเทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยนทุกวัน ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองกับธปท.ตลอดเวลา

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT