ข่าวเศรษฐกิจ

ทรัมป์ ปะทะ แฮร์ริส สรุปประเด็นศก. ดีเบตแรก ชิงเก้าอี้ปธน. สหรัฐฯ 

11 ก.ย. 67
ทรัมป์ ปะทะ แฮร์ริส  สรุปประเด็นศก. ดีเบตแรก  ชิงเก้าอี้ปธน. สหรัฐฯ 
ไฮไลท์ Highlight
ในการดีเบต ทรัมป์ยังคงยืนยันที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าแบบครอบคลุมสำหรับสินค้าจากทุกประเทศที่ 10% ถึง 20% และเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีน 60% ถึง 100% โดยอ้างว่าการขึ้นภาษีเป็นวิธีจะช่วยลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ และย้ำว่าภาษีเหล่านี้ทำให้เกิดรายได้มหาศาลในช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดี 

จบลงไปแล้วสำหรับศึกดีเบตประชันวิสัยทัศน์นัดแรก และอาจจะเป็นนัดเดียว ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ คามาลา แฮร์ริส ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2024 

การดีเบตครั้งนี้เป็นการดีเบตนาน 90 นาที ซึ่งจัดขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ ABC News ซึ่งทั้งคู่ได้แสดงวิสัยทัศน์ในมิติของเศรษฐกิจและสังคมสหรัฐฯ ทั้งเรื่องนโยบายการค้าระหว่างประเทศ การเก็บภาษี การทำแท้ง ผู้อพยพ รวมถึงแนวทางในการดำเนินนโนบายต่างประเทศทั้งในตะวันออกกลาง และยูเครน ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และทั้งโลก ไม่มากก็น้อย

ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์และแฮร์ริสจากการดีเบตครั้งนี้มาให้อ่านกันว่าผู้ชิงเก้าอี้ปธน. ของสหรัฐฯ ในปีนี้มีความเห็นต่อประเด็นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างไร และอาจส่งผลต่อผลแพ้ชนะของการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไรบ้าง

ดีเบตรอบแรก ทรัมป์ แฮร์ริส
ภาพจาก AFP

นโยบายการค้าต่อจีน และสงครามการค้า

ในการโต้วาทีชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จัดโดย ABC News โดนัลด์ ทรัมป์ และคามาลา แฮร์ริส ได้ปะทะกันเรื่องนโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน โดยเน้นถึงแนวทางที่แตกต่างกันในเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้า และการจัดการความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน

ในการดีเบต ทรัมป์ยังคงยืนยันที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าแบบครอบคลุมสำหรับสินค้าจากทุกประเทศที่ 10% ถึง 20% และเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีน 60% ถึง 100% โดยอ้างว่าการขึ้นภาษีเป็นวิธีจะช่วยลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ และย้ำว่าภาษีเหล่านี้ทำให้เกิดรายได้มหาศาลในช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดี 

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวสนับสนุนประสิทธิภาพของนโยบายภาษีนำเข้าด้วยว่า รัฐบาลไบเดน-แฮร์ริสได้คงอัตราภาษีหลายอย่างที่เขาได้ตั้งไว้หลังเข้ารับตำแหน่ง เพราะไบเดนและแฮร์ริสรู้ว่าการยกเลิกกำแพงภาษีเหล่านี้จะทำให้เกิดผลเสียต่อการดำเนินนโยบายในวงกว้าง และทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง

ดีแบตแรก โดนัลด์ ทรัมป์
ภาพจาก AFP

ด้าน คามาลา แฮร์ริส วิจารณ์แนวทางนโยบายการค้าของทรัมป์ โดยชี้ว่า การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศนั้นจะไม่ได้แก้ปัญหาขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น และจะทำให้ชนชั้นกลางมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4,000 ดอลลาร์ต่อปี จนมาตรการนี้ไม่ต่างอะไรกับการรีดภาษีการขาย (sales tax) เอากับชนชั้นกลาง

นอกจากนี้ แฮร์ริสกล่าวว่า นโยบายเพิ่มภาษีสินค้านำเข้ายังเป็นการยั่วยุให้เกิดสงครามการค้า และกล่าวหาว่ารัฐบาลของทรัมป์ได้ช่วยเหลือจีนด้วยการปล่อยให้มีการส่งออกเทคโนโลยีอเมริกันที่อาจเพิ่มความสามารถทางทหารของจีน ซึ่งเป็นการกล่าวถึงกลายๆ ว่ารัฐบาลไบเดนป้องกันปัญหานี้ได้ดีกว่า เพราะรัฐบาลไบเดนมีการการบังคับใช้ CHIPS and Science Act ที่จำกัดการส่งออกชิปเซ็ตหรือเทคโนโลยีระดับสูงไปยังจีน

ในการดีเบต แฮร์ริสยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างนโยบายที่มุ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่งเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และการคำนวณควอนตัม

ฃดีแบตแรก คามาลา แฮร์ริส
ภาพจาก AFP

เศรษฐกิจสหรัฐฯ เงินเฟ้อ และค่าครองชีพ

นอกจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ทรัมป์และแฮร์ริสยังได้ปะทะกันในประเด็นผลงานการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ พร้อมเสนอแนวทางในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งการเก็บภาษีเงินได้ และการให้สวัสดิการสังคมต่างๆ แก่ประชาชน 

ในการดีเบต คามาลา แฮร์ริส ชูพื้นเพครอบครัวของตัวเองว่าเป็นครอบครัวชนชั้นกลาง และเชื่อใน American Dream หรือความเชื่อที่ว่า “ไม่ว่าจะเกิดมาในชนชั้นไหน หรือมีพื้นเพเป็นอย่างไร หากพยายามมากพอก็สามารถไต่เต้าบันไดทางสังคม และสร้างตัวขึ้นมาได้จากศูนย์” ดังนั้น เธอจึงมีเป้าหมายที่จะสร้างเศรษฐกิจแห่งโอกาส หรือ Opportunity Economy ให้กับทุกคน ด้วยการลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจขนาดเล็ก 50,000 ดอลลาร์ และให้ Child Tax Credits หรือการคืนเงินภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูก มูลค่าถึง 6,000 ดอลลาร์ 

ในด้านผลงานการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แฮร์ริส กล่าวโจมตีทรัมป์ว่า การทำงานของรัฐบาลทรัมป์ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ The Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจ​ตกต่ำครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 1929 ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป และรัฐบาลไบเดนนั้นต้องตามแก้ไขปัญหาที่ทรัมป์ทิ้งไว้

นอกจากนี้ แฮร์ริสยังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายลดภาษีเงินได้ให้แก่ผู้มีรายได้สูงและบริษัทใหญ่ของทรัมป์ว่าเป็นการให้ของขวัญมหาเศรษฐีและบริษัทใหญ่ๆ และชี้ว่านโยบายภาษีของทรัมป์ไม่เห็นประชาชนส่วนมากอยู่ในสมการ และเน้นให้ประโยชน์แก่คนรวยที่สุดเท่านั้น 

ด้านทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลไบเดนกลับว่า รัฐบาลไบเดนล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ ทำให้คนอเมริกันทุกกลุ่มมีกำลังซื้อลดลง และไม่สามารถซื้อสิ่งของพื้นฐานปะทังชีวิตอย่าง ซีเรียล เบคอน หรือไข่ ได้

สงครามตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซียยูเครน

ในประเด็นสงครามในตะวันออกกลาง และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ แฮร์ริสออกตัวสนับสนุนการหยุดยิง การคืนตัวประกัน และวิพากษ์วิจารณ์วิธีการโต้ตอบของอิสราเอลเล็กน้อย แต่ยังเน้นย้ำถึงสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตัวเอง และสนับสนุนการแก้ปัญหาแบบสองรัฐ (two-state solution)  

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์โต้กลับด้วยการกล่าวหาว่าแฮร์ริสนั้นเกลียดทั้งอิสราเอลและชาวอาหรับ อ้างถึงครั้งที่แฮร์ริสจงใจไม่ให้เกียรติ นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ในระหว่างการเยือนรัฐสภา ด้วยการไม่เข้าฟังการกล่าวสุนทรพจน์ของเขาต่อสภาคองเกรส และอ้างว่าประเทศอิสราเอลจะหายไปในเวลาสองปีหากเธอได้เป็นประธานาธิบดี

สำหรับประเด็นสงครามรัสเซียยูเครน ทรัมป์ยังกล่าวอ้างด้วยว่า รัสเซียจะไม่มีวันบุกยูเครนหากเขายังอยู่ในตำแหน่ง และหากเข้าได้กลับมาเป็นประธานาธิบดี สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงและคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น 

สื่อมอง แฮร์ริส ได้แต้มต่อหลังดีเบต แต่ด้านเศรษฐกิจยังต้องพิสูจน์ตัว

ในการดีเบตครั้งนี้ นอกจากวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตแล้ว อีกปัจจัยที่ชี้วัดผลแพ้ชนะในการดีเบตก็คือความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และการใช้สีหน้าท่าทาง ของทั้งคู่ในระหว่างตอบคำถาม ซึ่งในกรณีนี้ แฮร์ริสชนะทรัมป์ไปอย่างขาดลอย เพราะทรัมป์แสดงท่าทางหงุดหงิดและโมโหอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อถูกแฮร์ริสพูดจี้ใจดำว่าการปราศรัยหาเสียงของเขานั้นน่าเบื่อ หรือกล่าวว่าเข้ามีส่วนร่วมให้เกิดการจลาจลบุกรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ปี 2021

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังใช้ทฤษฎีสมคบคิดและข้อมูลผิดๆ มาโจมตีฝั่งตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นการอ้างว่าผู้อพยพขาวเฮตินำแมวและสุนัขของชาวอเมริกันไปรับประทาน หรือการบิดเบือนคำพูดของนักการเมืองเดโมแครตในประเด็นสิทธิการทำแท้ง

ความนิยมของแฮร์ริสที่เพิ่มขึ้นสะท้อนในโพลความนิยมของ PredictIt ที่หลังจากการดีเบต มีผู้ทายว่าแฮร์ริสจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้เพิ่มขึ้นนำทรัมป์ไปเป็น 55% และพุ่งขึ้นไปอีกหลัง เทยเลอร์ สวิฟต์ ซุปเปอร์สตาร์สาวออกมาโพสต์สนับสนุนแฮร์ริสในแอคเคาท์อินสตาแกรมส่วนตัวที่มีผู้ติดตาม 280 ล้านคนว่า เธอจะโหวตให้กับแฮร์ริสอย่างแน่นอนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะแฮร์ริสเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง และสนับสนุนสิทธิของชาว LGBTQ+ และสิทธิในการทำแท้ง

ทั้งนี้ แม้ดูเหมือนว่าแฮร์ริสจะได้ชัยชนะไปในการดีเบตครั้งนี้แต่แฮร์ริสก็มีข้อเสียเปรียบทรัมป์ในแง่ที่ว่าแฮร์ริสยังไม่มีผลงานในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม และคนอเมริกันมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้การทำงานของรัฐบาลทรัมป์นั้นดีกว่าการทำงานของรัฐบาลไบเดน 

ดีแบตแรก เลือกตั้งสหรัฐฯ2024
ภาพจาก AFP

โดยผลสำรวจของ CBS News ในเดือนมีนาคม ชี้ว่า 65% ของผู้ตอบแบบสำรวจรู้สึกว่าเศรษฐกิจในยุคของทรัมป์ดี มากกว่าผู้ที่ตอบว่าเศรษฐกิจในยุคไบเดนดีถึงเกือบสองเท่า

นอกจากนี้ หากดูจากตัวเลขรายได้ และกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ดีขึ้นจริงๆ ภายใต้การทำงานของรัฐบาลทรัมป์ เพราะในสมัยของทรัมป์ รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนสหรัฐฯ ที่ปรับตามเงินเฟ้อแล้ว เพิ่มขึ้นจาก 75,100 ดอลลาร์ในปี 2017 เป็นถึง 79,560 ดอลลาร์ในปี 2020 (หลังจากพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 81,210 ดอลลาร์ในปี 2019) ทำให้ทรัมป์มีภาษีในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ดีกว่า

ดังนั้น แม้ผลงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของแต่ละรัฐบาลจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงความสามารถของทีมบริหารเท่านั้น เพราะอาจอ้างได้ว่าที่เศรษฐกิจในรัฐบาลไบเดนดูมีปัญหากว่า เพราะเป็นเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวจากภาวะการระบาดของโควิด-19 แฮร์ริสยังต้องเจอความท้าทายในแง่ที่ว่าเธอต้องพยายามโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันรู้สึกให้ได้ว่าเธอ “มือถึง” ในแง่การจัดการเศรษฐกิจ แม้เธอจะยังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน 

เพราะหากเธอทำไม่สำเร็จ ชัยชนะในการดีเบตครั้งนี้ก็อาจไม่ช่วยอะไร เพราะจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research) ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ พบว่า 81% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียน ให้ความสำคัญกับการแก้ไขเศรษฐกิจสูงสุดในการตัดสินใจลงคะแนนเสียง ซึ่งมากกว่าผู้ที่ตอบว่าเรื่องสวัสดิการด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นนโนบายเด่นของแฮร์ริสถึง 16% สะท้อนว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่โหวตเตอร์สหรัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ

ทีมแฮร์ริสชวนดีเบตรอบสอง ทรัมป์ปฎิเสธ

ในขณะนี้ การดีเบตที่สถานีโทรทัศน์ ABC News ยังเป็นการดีเบตเดียวระหว่างผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีนี้  เพราะยังไม่มีกำหนดการณ์อื่น

ทั้งนี้ หลังจากการดีเบตรอบแรกจบไปไม่นาน ทีมหาเสียงของแฮร์ริส ก็ได้ออกมาชักชวนให้ทรัมป์ดีเบตรอบสองกับแฮร์ริสทันทีในเดือน ต.ค. สะท้อนความมั่นใจของทีมหาเสียง ที่เห็นว่าแฮร์ริสนั้นสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี และมองว่าหากแฮร์ริสรุกต่อ และสามารถเอาชนะทรัมป์ได้อีกในการดีเบตรอบต่อๆ ไป คะแนนความนิยมของทรัมป์ก็จะลดลงอีก 

อย่างไรก็ตาม การดีเบตครั้งต่อไปมีโอกาสสูงที่จะไม่เกิดขึ้น เพราะว่าทรัมป์ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Fox News ว่าเขาไม่คิดที่จะดีเบตรอบสองกับแฮร์ริส และมองว่าผู้ดำเนินรายการของ ABC News ในการดีเบตครั้งนี้ เลือกข้าง และรุมโจมตีเขา หลังผู้ดำเนินรายการทั้งสองแก้ข้อมูลของทรัมป์หลายครั้งระหว่างการดีเบต

ทั้งนี้ แม้การดีเบตระหว่างแคนดิเดตปธน. จะไม่เกิดขึ้น ก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ยังมีการดีเบตของอีกคู่ชิงให้ติดตาม นั่นก็คือการดีเบตระหว่างผู้ชิงตำแหน่งรองปธน. เจ.ดี แวนซ์ และ ทิม วอลซ์ ในวันที่ 1 ตุลาคม ที่กำลังจะจัดขึ้นที่สถานีโทรทัศน์ NBC ซึ่งแน่นอนว่าผลงานการดีเบตของทั้งคู่ จะมีความสำคัญอย่างมากในการกำหนดผลการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT