หลังจากที่บริษัทสายการบินโลว์คอสต์ชื่อดังอย่าง "แอร์เอเชีย" ประกาศรีแบรนด์ครั้งใหญ่ด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น แคปปิตอล เอ (Capital A) เพื่อพาตัวเองออกนอกเหนือจากกรอบของธุรกิจการบิน ล่าสุด "โทนี่ เฟอร์นานเดส" CEO แห่งกลุ่มบริษัทโฮลดิ้ง แคปปิตอล เอ ได้เดินทางมาเปิดตัวธุรกิจอนาคตใหม่ถึงกรุงเทพมหานคร เพื่อหวังบุกตลาดซูเปอร์แอปพลิเคชั่นครบวงจรไลฟ์สไตล์ในไทย และมุ่งสู่การเป็นเจ้าตลาดซูเปอร์แอปในอาเซียน
โทนี่ ซึ่ง สวมบทไรเดอร์ในงานแถลงข่าวเปิดตัว กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เดินทางมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อข้อจำกัดการเดินทาง โดยครั้งนี้ถือเป็นความตั้งใจในการมาเปิดตัว airasia Super App สุดยอดเเอปพลิเคชั่นไลฟ์สไตล์ในไทย ซึ่งประเทศไทยถือเป็นตลาดท่องเที่ยวเเละไลฟ์สไตล์ของอาเซียนที่ใหญ่เเละมีศักยภาพพร้อมเติบโตที่สุด
“เราใช้ประสบการณ์ตลอด 20 ปีในฐานะผู้นำสายการบินราคาประหยัด ซึ่งมีฐานลูกค้าที่ใหญ่และเป็นผู้นำในอาเซียน ต่อยอดกับเทคโนโลยีเเละนวัตกรรม เพื่อก้าวสู่การเป็นซูเปอร์แอป ที่จะเข้าถึงการใช้ชีวิตประจำวัน และเทรนด์ไลฟ์สไตล์ในอนาคต ด้วยสินค้าผลิตภัณฑ์เเละบริการที่หลากหลายสำหรับทุกคน โดยคาดว่าภายใน 5 ปี จะมีสัดส่วนรายได้ที่ไม่ได้มาจากสายการบิน เพิ่มมาอยู่ที่ 50% จากรายได้รวมของกลุ่ม” โทนี่ กล่าว
สำหรับ airasia Super App ครอบคลุมบริการหลักคือ บริการจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก กิจกรรม บริการเรียกรถ บริการส่งอาหาร ส่งของ และบริการอื่นๆ โดย airasia Super App "ในประเทศไทย" มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ
1. ก้าวสู่การเป็นสุดยอดแอปอาเซียน มีผู้ใช้งาน มากกว่า 104 ล้านต่อเดือน ในปี 2569 และมีบริการหลากหลายครอบคลุมธุรกิจท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ช และฟินเทค ควบคู่การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้แอปใช้ง่าย เข้าถึงได้สำหรับทุกคน
2. ด้านการท่องเที่ยว (Travel): ขยายพันธมิตรสายการบินภายในประเทศ เพื่อเพิ่มยอดจองเที่ยวบินเติบโต 20 เท่า และขยายจำนวนพันธมิตรโรงเเรม ลุยตลาดเเพคเกจ เที่ยวบินพร้อมที่พักราคาพิเศษ เติบโต 40 เท่า ภายในปี 2569
3. ด้านอาหาร (Food): ขยายพื้นที่บริการ ทั่วเขตปริมณฑล และทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ภายในปี 2565 มุ่งเน้นการคัดสรรร้านที่มีคุณภาพและส่งเสริมให้ร้านค้ารายย่อยที่มีคุณภาพได้มีช่องทางในการขาย โดยเสียค่าบริการแพลตฟอร์มน้อยที่สุด
4. ด้านการขนส่ง (Xpress): ตั้งเป้า ให้บริการขนส่งแบบ door to door ภายในจังหวัด ในปี 2565 และขนส่งแบบข้ามจังหวัดในอนาคต โดยมุ่งหวังส่งเสริมการบริการการขนส่งด่วน ให้ลูกค้าได้รับความสะดวกและคุ้มค่าที่สุด
สำหรับ airasia Super App ในประเทศไทย ยังมีแผนเพิ่มบริการใหม่ในกลุ่ม “ไลฟ์สไตล์ อีคอมเมิร์ช และฟินเทค” อย่างน้อยปีละ 1-2 บริการ อีกด้วย
โทนี่ ย้ำว่า ซูเปอร์แอปของแอร์เอเชีย ได้รับการยอมรับว่าเป็นยูนิคอร์นแห่งเทคโนโลยีภายในเวลาไม่ถึงสองปี โดยปรับโฉมนำเสนอสินค้าบริการที่ครอบคลุมกว่า 16 รายการ ไม่เฉพาะเที่ยวบินและการเดินทางที่คุ้มค่าเท่านั้น แต่ก้าวเป็นตัวแทนการท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) ชั้นนำของอาเซียน รวมถึงความต้องการในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่อาหาร การค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงบริการขนส่งในวันเดียวกัน บริการเรียกรถ และอื่นๆ พร้อมอยู่ในเส้นทางก้าวเป็นแอปไลฟ์สไตล์ชั้นนำในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบัน มีผู้เข้าเยี่ยมชมซูเปอร์แอปมากกว่า 50 ล้านคนต่อเดือน และคาดว่าจะมีผู้ใช้งาน มากกว่า 104 ล้านคนต่อเดือน ภายในปี 2569
วรุฒ วุฒิพงศาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ airasia Super App ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ มีโอกาสและการเติบโตสูง ไม่เฉพาะจุดเเข็งด้านการท่องเที่ยวชั้นนำในภูมิภาค แต่รวมไปถึงธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน ที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ ซึ่งซูเปอร์แอปได้ปรับกลยุทธ์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เชื่อว่าสินค้าเเละบริการใหม่ๆ จะสามารถตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนไทยได้อย่างดี
“เราพยายามปรับโครงสร้างราคาของเราให้สมเหตุสมผล ทำอย่างไรให้เราเก็บค่าคอมมิชชั่นกับทั้งพาร์ทเนอร์คนขับและร้านอาหารในราคาที่เหมาะสม เพราะสุดท้ายเราเป็นอีโคซิสเต็ม การที่เราจะโตได้ คือเราต้องโตไปพร้อมกับพาร์ทเนอร์”
“เราตั้งใจให้ airasia Super App เป็นแอปที่เป็นมิตรและเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ทุกไลฟ์สไตล์ได้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการท่องเที่ยวครบวงจรที่เราเเข็งเเกร่ง และธุรกิจไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่แม้จะเเข่งขันสูง แต่เป็นเทรนด์ที่เติบโตได้ไม่จำกัด รับรองว่าจะมีความตื่นตาตื่นใจใหม่ๆ ให้ทุกคนต่อเนื่องเเน่นอน” ผู้บริหารฝั่งไทย กล่าว
ด้วยอีโคซิสเต็มครบวงจร ทำให้แอร์เอเชียสามารถ ชูจุดเด่นเรื่องระบบ ‘Rewards’ ระบบคะแนนสะสมที่ใช้ด้วยกันได้กับทุกบริการของกลุ่ม ยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้ และสร้างโมเดลโปรโมชันใหม่ๆ ให้ธุรกิจโรงแรมและร้านค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์ นับเป็นโมเดลที่มีศักยภาพ บนอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่ง ซึ่งแน่นอนว่าจะต่อยอดไปเป็นเหรียญ ‘ดิจิทัลโทเคน’ ของแอร์เอเชียได้ในอนาคต
“เรามีระบบสะสมคะแนนที่ยิ่งใหญ่ ในอนาคตข้างหน้าผมจึงอยากจะแปลงเหรียญเหล่านี้เป็นดิจิทัลโทเคน แล้วสร้างเป็นเหรียญคริปโทแห่งอาเซียน ผมคิดว่าเรามีอีโคซิสเต็มที่เพียบพร้อม หากผู้กำกับนโยบายอนุญาต ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งในระบบบล็อกเชน คิดว่ามันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ธุรกิจได้” โทนี่ พูดถึงความเป็นไปได้ในการนำคริปโทเคอร์เรนซีและระบบบล็อกเชน มาผสานเข้ากับ airasia super app พร้อมเผยถึงโอกาสในการสร้างเหรียญโทเคนของแอร์เอเชีย กับแพล็ตฟอร์มเอ็กซ์เชนจ์เจ้าใหญ่เบอร์ 1 ของเมืองไทยอย่าง Bitkub