ล่าสุดกลุ่มธุรกิจโรงหนังอย่าง "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์" เบอร์ 1 ของไทยได้ประกาศบุกเข้าสู่ธุรกิจอาหารอย่างเต็มตัว หลังประกาศทุ่มเงินวงเงินไม่เกิน 570 ล้านบาท ใช้ซื้อหุ้นสัดส่วน 5% ของ บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง ผู้ผลิตและขายสาหร่ายทะเลแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า “เถ้าแก่น้อย” เตรียมขึ้นแท่น 1 ใน 5 อันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ของ เถ้าแก่น้อย
แน่นอนว่าธุรกิจโรงหนังถือเป็นอีกธุรกิจที่ถูกกระทบมากที่สุดแห่งกลุ่มหนึ่งตั้งเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาในไทยอย่างทางการตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้ปีนั้นต้องขาดทุนหนักถึง 527.49 ล้านบาท แม้ในปี 2564 เมเจอร์จะกลับมามีกำไร 1,581.45 ล้านบาท
แต่ที่มาของแหล่งกำไรหลักในปีที่ผ่านมาคงไม่อาจปฏิเสธว่า มาจากตัดสินใจขายหุ้น บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์(SF) ที่ถือ 30.36% ให้กับ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ได้รับเงินเข้ากระเป๋าจำนวนประมาณ 7,800 ล้านบาท มาในปีนี้ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ฯ ขยับอีกครั้งด้วยการหันสู่เข้าธุรกิจอาหารอย่างเต็มตัว
โดยนายจิระพงษ์ สันติภิรมย์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง(TKN) กล่าวกับทีมข่าว "SPOTLIGHT" ว่า ยอมรับว่ามีข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) รายงานว่า บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป(MAJOR) ได้เข้าซื้อหุ้นของบมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำนวน 69 ล้านหุ้นหรือคิดเป็นสัดส่วนหุ้นประมาณ 5%
มีมูลค่าเงินลงทุนรวมไม่เกิน 570 ล้านบาท โดย MAJOR ได้ทยอยเข้าซื้อหุ้นของ TKN ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนถึงวันที่ 8 มี.ค. 2565 ครบสัดส่วนดังกล่าวจนเข้าเกณฑ์ที่ต้องรายงานข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้มีราคาที่ซื้อสูงสุดอยู่ที่ 8.2565 บาทต่อหุ้น โดยเบื้องต้นน่าจะส่งผลให้ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ฯ จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ติดอันดับสูงสุด 1 ใน 5 ของ บมจ.เถ้าแก่น้อยฯ แต่ทั้งนี้ต้องรอการปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวมรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
"ดีลการที่กลุ่มเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ฯมาซื้อหุ้นบริษัท.เถ้าแก่น้อย จำนวน 5% เพิ่งเสร็จไป ตอนนี้ผู้บริหารสูงสุดของทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ได้คุยกันถึงแผนธุรกิจในอนาคตที่จะมาทำร่วมกัน แต่คาดว่าคงจะมีการนัดหารือพูดคุยกันในเร็วๆ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายรู้จักกันอยู่แล้วเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกันอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาเถ้าแก่น้อยก็มีนำสินค้าไปวางขายในโรงหนังของเมเจอร์ฯ รวมถึงซื้อโฆษณาในโรงหนังและเป็นสปอนเซอร์หนังที่เข้าฉายในโรงหนังของเมเจอร์ด้วย" นายจิระพงษ์ กล่าว
สำหรับ "เถ้าแก่น้อย" เปิดธุรกิจจากเด็กหนุ่มวัย 19 ปี ในตอนนั้น "อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์" ผู้ซึ่งวันนี้ยังคงสถานะทั้งเจ้าของและซีอีโออยู่ต่อไปที่เริ่มธุรกิจในปีแรก เคยได้ฉายาว่า "วัยรุ่นพันล้าน" แต่ปัจจุบันมีมูลค่าธุรกิจเกิน 10,000 ล้านบาทไปเรียบร้อยแล้วจากธุรกิจที่มีการขยายอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ
ด้านนายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เถ้าแก่น้อยฯ กล่าวว่า จากกรณี บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ได้เข้าซื้อหุ้น TKN จำนวน 69 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 5% ขอชี้แจงว่ากลุ่มผู้ถือหุ้น TKN ไม่มีการขายหุ้น Big Lot ให้กับ MAJOR แต่อย่างใด เป็นเพียงการทยอยเข้าซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของทาง MAJOR เท่านั้น อย่างไรก็ตาม รายการดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างการจัดการและนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ แต่อย่างใด
“การที่ MAJOR เข้าลงทุนถือหุ้นในบริษัทฯ เนื่องจากมองเห็นศักยภาพและโอกาสเติบโต และจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการ Synergy เพื่อสร้างความแข็งแกร่งร่วมกันในอนาคต เพราะ TKN มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจขนมขบเคี้ยว ส่วน MAJOR มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจโรงภาพยนตร์” นายอิทธิพัทธ์ กล่าว
เปิดเส้นทางส้รางอาณาจักธุรกิจหมื่นล้าน "เถ้าแก่น้อย"
-บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง(TKN) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสาหร่ายแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า “เถ้าแก่น้อย” รวมถึงขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพประเภทอื่นๆ
-บริษัทก่อตั้งในปี 2547 เป็นโรงงานเล็กๆ มีขนาดเพียงไม่กี่ตารางเมตรโดยนายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ หรือ "ต๊อบ" ช่วงเริ่มทำธุรกิจตอนมีอายุ 19 ปี โดยประวัติชีวิตและธุรกิจได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “วัยรุ่นพันล้าน”
-สินค้าสาหร่ายแบรนด์ "เถ้าแก่น้อย" เป็นบริษัทผลิตและขายสินค้าสาหร่ายที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2558
-กลุ่มสาหร่ายที่ผลิตและขาย ได้แก่ สาหร่ายทอด, สาหร่ายย่าง, สาหร่ายแบบเทมปุระ, สาหร่ายอบ
-กลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่สาหร่าย ได้แก่ Supplement, ผลิตภัณฑ์ขนมขึ้นรูป (Extrude) และขนมอื่นๆ, ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม
-กลุ่มธุรกิจร้านค้า และธุรกิจร้านอาหาร ได้แก่ ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์, ร้านข้าวราดแกงกะหรี่ญี่ปุ่น “ฮิโนยะ”,Bomber Dog
-ปัจจุบันมีการส่งออกสาหร่ายมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
- ณ วันที่ 9 มี.ค. 2565 เถ้าแก่น้อยมีมูลค่ากิจการ 10,350 ล้านบาท
ผลประกอบการ"เถ้าแก่น้อย" ระหว่างปี 2561-2564
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)