ในปี 2564 กลุ่มบริษัทที่สามารถเข้าไปติดใน 10 บริษัทแรกที่ทำกำไรสูงสุดมากที่สุด คือ บริษัทในเครือปตท. ที่ติดเข้าไป 3 บริษัท โดยมีพี่ใหญ่ อย่าง บมจ.ปตท.(PTT) ที่คว้าอันดับ 1 ที่ทำกำไรสูงสุดเพราะได้รับอานสิสงส์จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มอย่างต่อเนื่องในปี 2564 โดยราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบที่กลุ่ม ปตท. ใช้อ้างอิงในการดำเนินธุรกิจ อยู่ที่ 69.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เล เพิ่ม 64% จากราคาเฉลี่ยปี 2563 อยู่ที่ 42.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย จากนโยบายการเปิดประเทศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง และผลจากราคาก๊าซที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้เกิดการสลับมาใช้น้ำมันทดแทนก๊าซเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนเป็นปัจจัยกดดันความต้องการใช้น้ำมันในช่วงปลายไตรมาส 4 ปี 2564 รวมทั้งบริษัทในเครือยังสามารถทำกำไรเติบโตได้ค่อนข้างดี เนื่องจากได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)มาเป็นอันดับ 4 ที่ทำกำไรสูงสุด เพราะนอกเหนือจากได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นแล้ว ในปี 2564 ที่ผ่านมายังกำไรพิเศษจากการขายหุ้น บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) จำนวน 11,834 ล้านบาท และมี บมจ.ปตท.สผ.(PTTEP) ที่คว้าอันดับ 5 ที่ทำกำไรสูงสุดของปีนี้ แน่นอนว่าปัจจัยหลักที่สนับสนุนกำไรคือ ราคาน้ำมันและเป็นผลมาจากการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งในมาเลเซีย และภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานเติบโตตามเป้าหมาย
แต่คงจะมีหลายคนสงสัยว่า บมจ.การบินไทย(THAI) ถึงเข้าติดเป็นอันดับ 2 ที่ทำกำไรได้สูงสุดได้ในปี 2564 เนื่องจากในปีที่แล้ว การบินไทย มีกำไรจากรายการพิเศษ โดยมีรายได้จำนวน 81,525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 55,113 ล้านบาท
ด้าน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) อยู่อันดับ 3 ที่ทำกำไรสูงสุดมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจเคมิคอลส์ที่สามารถสร้างไรจากการดำเนินงานปี 2564 อยู่ที่ 48,979 ล้านบาท จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น
สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 มีชื่อเข้ามาติดถึงจำนวน 4 แบงก์ที่สามารถกำไรสูงสุดในปี 2564 ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มจากธนาคารกสิกรไทย ที่มาเป็นอันดับ 6, ธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาเป็นอันดับ 7, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เข้ามาเป็นอันดับ 8 และธนาคารกรุงเทพ เข้ามาเป็นอันดับ 10 เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ภาระการตั้งสำรองที่ลดลง
ด้าน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จำนวน 757 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี 2564 กำไรสุทธิ 985,699 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มี 3 ปัจจัยหลักที่เอื้อต่อการเติบโต ได้แก่ การปรับตัวของราคาน้ำมันส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น การปรับรูปแบบธุรกิจไปสู่วิถีแบบใหม่ (New Normal) ให้รับมือสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และการผ่อนคลายมาตรการโควิดของไทย
ทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนสนับสนุนให้ บจ. มีกำไรจากการดำเนินงานหลักดีขึ้นในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น พลังงาน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เหล็ก ขนส่ง (ทางเรือ) ธุรกิจการแพทย์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง และธุรกิจภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการฟื้นตัวอย่างมาก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุอุตสาหกรรม และชิ้นส่วนยานยนต์