กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกโรงเตือนว่า การซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีที่พุ่งขึ้นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินโลก หลังจากที่ปริมาณการซื้อขายคริปโทฯ ด้วยสกุลเงินท้องถิ่นในแต่ละประเทศ เพิ่มสูงขึ้นมากนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ระบาด และยิ่งพุ่งขึ้นอีกหลังจากรัสเซียทำสงครามบุกยูเครน
ไอเอ็มเอฟได้ยกตัวอย่างของสกุลเงิน Tether หรือ USDT ซึ่งเป็น Stablecoin ที่ใหญ่ที่สุดในการใช้ทำธุรกรรมสปอตและตราสารอนุพันธ์ (เช่น สัญญาฟิวเจอร์ส) มีปริมาณการซื้อขายด้วยสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในประเทศ "ตุรกี" ซึ่งมีปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินท้องถิ่น ผันผวนอย่างหนัก และทำให้ตุรกีหันไปหาคริปโทฯ เพิ่มขึ้นแทนตลอดช่วง 2- 3 ปีมานี้
IMF ระบุในรายงานว่า แม้การซื้อขายคริปโทฯ ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดจากบรรดานักเก็งกำไร แต่การเปลี่ยนไปใช้คริปโทฯ ในการชำระเงิน (means of payment) นั้น อาจสร้างปัญหาให้กับบรรดารัฐบาลประเทศต่างๆ ได้
ขณะเดียวกัน IMF ยังยกตัวอย่างของสงครามยูเครนว่า กำลังแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของระบบการชำระเงินด้วยคริปโท ซึ่งใช้เครือข่ายแบบกระจายศูนย์ (decentralized) ทำให้ยากต่อการติดตามกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และยากต่อการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการชำระเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
IMF เตือนด้วยว่า บรรดาเอ็กซ์เชนจ์ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรอย่างเคร่งครัด หรือมีการตรวจสอบกิจกรรมผิดกฎหมายให้มากพอ อาจถูกใช้เพื่อหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรก็เป็นได้ โดยเทคโนโลยีคริปโทฯ จะช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวของธุรกรรม และเปิดทางให้สามารถปกปิดการทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้น
ท้ายที่สุด IMF ยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลทั่วโลกออกมาตรการกำกับดูแล ที่แยกออกออกมาสำหรับอุตสาหกรรมคริปโทฯ โดยเฉพาะด้วย
ก่อนหน้านี้ มีเสียงเรียกร้องจาก ส.ส. และ ส.ว. สหรัฐส่วนหนึ่ง ให้รัฐบาลสหรัฐพิจารณาออกกฎหมายปิดช่องโหว่ และควบคุมคริปโทเคอร์เรนซีให้เข้มข้นขึ้น เนื่องจากมีความกังวลว่ารัสเซียอาจใช้คริปโทฯ เป็นช่องทางหลีกเลี่ยงมากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากทั่วโลก แต่ที่สุดแล้ว รัฐบาลสหรัฐก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ
เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทั่วโลกกำลังอยู่ในทิศทางของการกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซีให้รัดกุมขึ้น โดยยุโรปกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมาย ส่วนอินเดียเพิ่งออกกฎหมายเก็บภาษีคริปโทฯ 30% และอีกหลายประเทศกำลังอยู่ระหว่างการออกกฎควบคุม ตั้งแต่การเก็บภาษี การโฆษณา การคุ้มครองผู้บริโภค ไปจนถึงการกำกับดูแลด้านต่างๆ
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟมักออกโรงเตือนคริปโทเคอร์เรนซีว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโลกอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งรวมถึงในการประชุมประจำปีครั้งที่แล้ว ส่วนการออกรายงานเตือนล่าสุด มีขึ้นในระหว่างการประชุมประจำปีของ IMF และธนาคารโลก (World Bank) ที่สหรัฐ ซึ่งหน่วยงานทั้งสองแห่งเพิ่งประกาศลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากผลพวงของสงครามยูเครน และมีการตั้งกองทุนปล่อยกู้สำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามวงเงิน 1.7 แสนล้านดอลลาร์