เมื่อธนาคารเอกชนรายใหญ่สุดของประเทศอย่าง Galicia และธนาคารดิจิทัล Brubank ประกาศว่าลูกค้าสามารถที่จะซื้อขายคริปโทเคอเรนซี่ได้ เช่น บิตคอยน์ อีเทอเรียม รวมถึงเหรียญทางเลือกที่มีราคาคงที่ (Stable Coin) อย่าง USDC ได้ โดยให้เหตุผลว่า ผลสำรวจลูกค้าของธนาคารมากถึง 60% ต้องการช่องทางในการซื้อขายคริปโตเคอเรนซี่ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลทำให้ธนาคารทั้งสองเปิดให้บริการกับลูกค้าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
หลายคนได้ยินข่าวนี้อาจสนใจ และตั้งข้อสงสัยว่าทำไมธนาคารในอาร์เจนตินาถึงให้บริการซื้อขายคริปโทเคอเรนซี่ได้
ไม่ใช่แค่ความต้องการของลูกค้าเท่านั้น แต่ถ้าหากลองมองย้อนดูพื้นฐานเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา เราจะพบว่าอัตราเงินเฟ้อนั้นสูงมาก ขณะเดียวกันเองนั้น GDP ก็เติบโตในระดับต่ำ ล่าสุด Bank of America คาดการณ์ว่า GDP ของอาร์เจนตินาจะเติบโตที่ 3.1% แต่อัตราเงินเฟ้อสูงมากถึง 57.1% ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินาเองก็ลดมูลค่าลงอย่างมาก โดยระยะ 2 ปีที่ผ่านมาค่าเงินเปโซอาร์เจนตินาลดมูลค่าไปถึง 73%
สาเหตุที่เกิดขึ้นทำให้อาร์เจนตินาเป็นประเทศที่เปิดรับคริปโทเคอเรนซี่ค่อนข้างมาก
ถ้าหากเรานึกถึงกรณีเดียวกันกับอาร์เจนตินาแล้ว กรณีที่คล้ายกันมากที่สุดก็คือ “ตุรกี” โดยในช่วงปี 2020-2021 ประเทศนี้มีอัตราเงินเฟ้อที่สูง แถมยังมีนโยบายการเงินการคลังที่สวนทางกับตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ ไปจนถึงการไล่ผู้ว่าการธนาคารกลางออกไปหลายราย
สาเหตุข้างต้นจึงส่งผลให้ค่าเงินลีร่าอ่อนค่าอย่างหนัก ไม่แตกต่างกับค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินา ทำให้ชาวตุรกีเองเปิดรับคริปโทเคอเรนซี่เพิ่มมากขึ้น
โดยมูลค่าของคริปโทเคอเรนซี่เมื่อเทียบกับค่าเงินลีร่าในช่วงเวลาดังกล่าว แม้จะมีความผันผวนของราคาสูงแต่ปริมาณการซื้อขายกลับถือว่าสูงเช่นกัน โดยข้อมูลจาก Reuters ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2021 ปริมาณการซื้อขายคริปโตเคอเรนซี่สูงมากถึง 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นช่วงที่ค่าเงินลีร่าลดมูลค่าลงอย่างหนัก มากกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2020 ที่ปริมาณซื้อขายอยู่ที่ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งค่าเงินลีร่าในช่วงดังกล่าวไม่ได้ลดมูลค่าลง
นอกจาก 2 ประเทศที่ได้กล่าวไปแล้ว ข้อมูลจาก Chainalysis ยังชี้ว่าประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาค่าเงินเองก็มีการใช้คริปโตเคอเรนซี่ เช่น เวเนซุเอลา ปากีสถาน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ถ้าหากถอยมาดูภาพรวมแล้ว การให้บริการซื้อขายคริปโตเคอเรนซี่ผ่านสถาบันการเงินนั้นถือว่าค่อนข้างจำกัด โดยสาเหตุสำคัญมาจากภาครัฐเองไม่ได้ยอมรับคริปโทเคอเรนซี่ เนื่องจากจะมีกระทบกับระบบการเงินของประเทศ หรือเป็นช่องทางในการฟอกเงิน ไปจนถึงเป็นช่องทางระดมทุนในการก่อการร้าย
ตัวอย่างเช่นในกรณีของ DBS ธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ก่อนหน้านี้เคยมีแผนที่จะให้บริการซื้อขายคริปโทเคอเรนซี่ให้กับนักลงทุนทั่วไป แต่ท้ายที่สุดหลังจากที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) มีท่าทีเข้มงวดกับคริปโทเคอเรนซี่มากขึ้น จึงทำให้ตัวธนาคารหันมาให้บริการกับสถาบันการเงินด้วยกันเอง หรือไม่ก็ให้บริการกับนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูงที่มีสินทรัพย์ขั้นต่ำ 2 ล้านเหรียญสิงคโปร์
และนั่นเป็นเหตุผลทั้งหมดว่าทำไมธนาคารในประเทศอย่างอาร์เจนตินาถึงมีบริการเหล่านี้ให้กับลูกค้าทั่วๆ ไป
ที่มา