Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ถอดบทเรียน LUNA เหรียญที่สร้าง Black Swan ในโลกคริปโต
โดย : ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์

ถอดบทเรียน LUNA เหรียญที่สร้าง Black Swan ในโลกคริปโต

21 พ.ค. 65
10:43 น.
|
1.8K
แชร์

LUNA เหรียญคริปโตขนาดใหญ่ ที่เพิ่งเป็นข่าวจากการทำให้ความมั่งคั่งของนักลงทุนหลายๆ คนทั่วโลกหายวับไปกับตา เรามาเรียนรู้กันว่าเกิดอะไรขึ้นบนกรณีของเหรียญนี้ 

LUNA เป็นบล๊อกเชนที่สร้างขึ้นมาโดยชูจุดขายหลักคือเหรียญ UST ที่เป็นเหรียญ Stablecoin

Stable Coin มีหน้าที่สำคัญที่สุดคือการตรึงราคาให้เท่ากับเงินในโลกจริง ซึ่ง ณ ที่นี้ก็คือ US Dollar นั่นเอง ฉะนั้นการที่ Stable Coin จะตรึงราคาให้ได้เท่ากับ $1 ก็มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การใช้สินทรัพย์มูลค่า $1 ค้ำไว้ในทุกๆ $1 Stable Coin ที่ถูก Mint ออกมา

แต่สำหรับ $UST นั้นจะต่างออกไปตรงที่ ถ้าหากมีความต้องการ UST ที่สูงขึ้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วราคาจะสูงขึ้นตาม เช่นขึ้นไปเป็น $1.01 แต่ด้วยหน้าที่ของ Stable Coin เพื่อตรึงราคาให้เท่ากับ $1 เสมอ จึงต้องทำการลดราคาลงมา โดยการเพิ่ม supply ในระบบ และการที่จะเพิ่ม supply ของ UST นั้นต้องเผาเหรียญ LUNA ในมูลค่าที่เท่ากัน แล้วหลังจากนั้นราคาของ $UST จะกลับมาที่ $1 ได้เหมือนเดิม

และในทางกลับกัน ถ้าหากความต้องการ UST ลดลง ราคาก็จะลดลงตาม เช่นลงไป $0.99 เพื่อเป็นการตรึงราคาให้กลับมาที่ $1 เหมือนเดิม ต้องทำการลด supply ในระบบ โดยการ Mint เหรียญ(หรือเรียกว่าสร้างขึ้นมาใหม่จากการโปรแกรม) LUNA ขึ้นมาเพื่อเผา UST ในระบบออกไป แล้วราคาก็จะกลับมาที่ $1 เช่นเดิมได้

หลักการทำงาน Demand และ Supply ของ UST

l1

เมื่อมีความต้องการ UST ที่สูงขึ้น 
การเผาของของ LUNA ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากมีอุปสงค์ของ UST เกิดลดลงก็ทำให้เกิดการ Mint ของ LUNA มากขึ้นเช่นกัน


ดังนั้นวิธีอะไรที่คนจะต้องการถือ UST ไว้ล่ะ

หากเปรียบเทียบเป็นสกุลเงินในประเทศใดประเทศหนึ่ง เหตุผลที่เราจะถือเงินของประเทศนั้นอาจจะมาจากการที่เป็นประเทศที่มั่นคง ล้มยาก และมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หรือมีดอกเบี้ยที่สูง 

LUNA เร่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจในประเทศของตนด้วย ระบบการเงินต่างๆ เช่น กระดานแลกเปลี่ยน การทำกระดานหุ้นเสมือน การสร้างเกมส์ หรือ NFT 

และที่สำคัญที่สุด LUNA มีธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยเงินฝาก 19-20% ต่อปี (จ่ายเป็น UST)

l2

นั่นทำให้ UST ได้รับความสนใจอย่างมากในการเป็นเหรียญคริปโตที่ราคาไม่ผันผวน แต่สามารถสร้างรายได้ระดับเดียวกับนักลงทุนเก่งๆ 

แต่นั่นก็นำมาซึ่งข้อเสียเช่นเดียวกัน 

ทฤษฏีหนึ่งที่พิสูจน์แล้วว่าเราไม่สามารถฝืนมันได้ และเป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เรียกว่า Impossible Trinity

กล่าวง่ายๆ คือ เราไม่สามารถทำให้เกิดสภาวะ 3 อย่างนี้ได้พร้อมๆ กัน

  1. Fixed Exchange Rate การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่กับค่าเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง (เช่น HKD ตรึงราคากับดอลลาร์ เป็นต้น หรือในกรณีนี้ก็คือ UST กับดอลลาร์)

  2. Free Capital Flow การอนุญาตให้เงินไหลเข้าออกประเทศโดยอิสระ

  3. Independent Interest Rate คือ อัตราดอกเบี้ยที่แบงค์ชาติกำหนดได้อย่างอิสระ ไม่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยประเทศใด


ประเทศไทยตอนนั้นแหกกฏ Impossible Trinity คือ Fixed Exchange Rate 1 ดอลลาร์ = 25 บาท + Free Capital Flow + Independent Interest Rate

สุดท้ายจึงเกิดภาวะที่ความต้องการเงินบาทลดลงอย่างหนัก จากการแห่ไปกู้เงินดอลล่าร์ เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ แต่แบงค์ชาติยังต้องเพิ่ม demand เงินบาท ด้วยการขายดอลลาร์ และไล่ซื้อเงินบาท เพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยนให้เท่าเดิมให้ได้

ท้ายสุดคือ เงินบาทโดนโจมตีอย่างหนัก จนแบงค์ชาติอุ้มไม่ไหว เงินหมดคลัง แบงค์ชาติจำใจต้องปล่อยตัวค่าเงินบาทให้ลอยตัว หลังเงินหมดหน้าตัก (คือปลดล็อกข้อ 1 เพื่อกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลที่ไม่แหกกฏ Impossible Trinity) เงินบาทลอยตัวจาก 1 ดอลลาร์ = 25บาท ไปเป็น 1 ดอลลาร์ = 50 บาท

เหล่าบริษัทที่กู้เงินเป็นดอลลาร์ก็ล้มกันถ้วนหน้า เนื่องจากภาระหนี้เพิ่มขึ้นทันที 1 เท่าตัวในชั่วข้ามคืน 


ถ้าเปรียบเทียบกันคือ 

  1. LUNA สร้าง Stablecoin ที่ตรึงไว้กับเงินดอลลาร์ ในอัตราส่วน 1:1
  2. เปิดให้เงินไหลเข้าออก Defi ได้อิสระ
  3. ฝากเงิน Stablecoin บน Defi ได้ดอกเบี้ย 19-20% 

 

LUNA ได้รับความสนใจอย่างมากในการเข้ามาถือ Stablecoin UST เพื่อการรับดอกเบี้ย และบางครั้งสามารถกู้มาจากที่อื่นแล้วมาฝากเงินรับดอกเบี้ยได้เพื่อกินส่วนต่าง ทำให้ UST มีการใช้งานเติบโตที่ไม่เป็นธรรมชาติอย่างมาก และเสี่ยงต่อการโจมตี 

l3

เจ้าของบล๊อกเชนชื่อ Do Kwon มองเห็นปัญหาเช่นเดียวกัน จึงพยายามสร้างกลไกการรักษามูลค่าคล้ายกับเงินสำรองต่างประเทศ ด้วยการระดมทุนจากนักลงทุน และนำเงินไปซื้อ Bitcoin มาช่วยเป็นสินทรัพย์ที่ดูดซับแรงเทขายของ UST

อย่างไรก็ตาม ช่องว่างจากการสร้างฟองสบู่ที่ใหญ่เกินไป เกิดเป็นจุดจบเดียวกันกับวิกฤตต้มยำกุ้ง คือ 

ผู้โจมตีค่าเงิน UST เทขาย UST จำนวนมากเพื่อให้เกิดความกลัว ส่งผลให้ความต้องการ UST หายไปชั่วข้ามคืน จากการถูกโจมตีครั้งแรกทำให้ราคาเหรียญร่วงไปต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ ผู้ใช้งานขาดความมั่นใจพากันหนีตายด้วยการเทขาย UST ทุกราคา

คลังสำรองของ  LUNA ต้องเพิ่ม demand ให้กับ UST ด้วยการขาย Bitcoin ในคลัง มาช้อนซื้อ UST เพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยน  

สุดท้าย อุ้มไม่ไหว Bitcoin หมดคลัง ต้องปล่อยให้ UST ลอยตัว 

เหรียญ LUNA ต้องมารองรับ Supply ของ UST ที่เพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มจำนวนตัวเอง เกิดเป็น Death Spiral หรือ วังวนหายนะ ทำให้ Supply LUNA เพิ่มจาก 300 ล้านเหรียญเป็น 6,500 ล้านล้านเหรียญ ภายในชั่วข้ามวัน มูลค่าหายไปจากปริมาณ supply ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากทันที

l5


เราได้เรียนรู้อะไรจากกรณีนี้บ้าง 

หากคุณเป็นคนที่เข้ามาฝาก Stablecoin เพื่อกินดอกเบี้ย คุณต้องเข้าใจความเสี่ยงของ Stablecoin แต่ละตัวที่ไม่เหมือนกัน แล้วต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากคริปโตเคอเรนซี่ยังเป็นตลาดที่ผันผวนตลอด 

Stablecoin ไม่ใช่ทุกตัวที่แย่ แต่ความเสี่ยงของ Stablecoin นั้นมีมากกว่าเงินตราเสมอ

 
Warren Buffett เคยกล่าวไว้ว่า อย่าลงทุนในสิ่งที่คุณยังไม่เข้าใจดีพอ หากเราย้อนกลับมาดูเรื่องราวของ LUNA เราจะพบว่าเราต้องตั้งคำถามตั้งแต่ที่มาของดอกเบี้ย และการฝืน Impossible trinity ได้อย่างไร หากเราตอบคำถามนี้ไม่ได้ ก็ควรจะหยุดคิดก่อนที่จะลงทุนใน LUNA ครับ

ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์

ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์

อดีตนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และ CEO and Founder at Bitcast

แชร์

ถอดบทเรียน LUNA เหรียญที่สร้าง Black Swan ในโลกคริปโต