Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ผู้ลงทุน SSF, RMF ห้ามลืม!แจ้งใช้สิทธิยกเว้นภาษีต่อ บลจ.
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ผู้ลงทุน SSF, RMF ห้ามลืม!แจ้งใช้สิทธิยกเว้นภาษีต่อ บลจ.

2 พ.ย. 65
09:58 น.
แชร์

ใกล้ช่วงปลายปีแบบนี้ หลายท่านต้องเตรียมตัวในการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี 2565 ซึ่งในปีนี้มีกฏเกณฑ์ใหม่ที่ต้องย้ำกันหนักๆก็คือ ผู้ที่ลงทุนทั้งใน SSF และ  RMF จะต้อง แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อ บลจ.ที่เราไปลงทุนด้วย  มิเช่นนั้นก็จะนำการลงทุนใน SSF และ  RMF ไปลดหย่อนภาษีไม่ได้  ที่มาที่ไป รวมไปถึงขั้นตอนเป็นอย่างไรวันนี้ SPOTLIGHT สรุปมาให้ 

ทำไมต้องแจ้งใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อ บลจ.? 

ปีที่ผ่านมาเวลาจะยื่นภาษีหลายท่านจะรอเอกสารจากทาง บลจ. และยื่นภาษีด้วยตัวเอง แต่ว่าในปี 2565นี้ เป็นปีแรกที่กรมสรรพากรได้มีการออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการลงทุนในกองทุน SSF, RMF โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อบริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ที่ตนได้ซื้อหน่วยลงทุนไว้ จากนั้น บลจ. จะเป็นผู้นำส่งข้อมูลการลงทุนของผู้มีเงินได้ต่อกรมสรรพากร ดังนั้น ข้อมูลที่ บลจ. นำส่ง จะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากร โดยผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำส่งเอกสารหลักฐาน เพิ่มเติมอีกเมื่อมีการยื่นเสียภาษีเงินได้ประจำปี

ให้เข้าใจง่ายๆ เหมือนกับตอนนำส่งข้อมูลเบี้ยประกัน, การบริจาคออนไลน์ ที่กรมสรรพากรได้มีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆในช่วงปีที่ผ่านมานั่นเอง


โดยกรมสรรพากรจะรับข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากทาง บลจ. เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น  โดยไม่รับหลักฐานในรูปแบบ กระดาษ, ไฟล์ PDF หรืออื่นใดที่มาจากผู้มีเงินได้และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ดังนั้นปีนี้ บรรดา บลจ.ต่างๆก็จะไม่จัดส่งหนังสือรับรองการซื้อกองทุน SSF/ RMF ในรูปแบบกระดาษแล้ว 

หากใช้สิทธิลดหย่อนเงินได้ปี 2565 ต้องยื่นภายใน 31 ธ.ค.2565 

ที่จริงแล้วประกาศดังกล่าวมีผลตั้งแต่1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากเป็นปีแรก เลยอยากจะขอย้ำเพื่อป้องกันการลืมแจ้งใช้สิทธิกับ บลจ.  ตัวอย่างเช่น หากคุณให้ความประสงค์เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2565 บลจ.จะนำส่งข้อมูลการลงทุนของเราตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปให้กับกรมสรรพากร หรือถ้าเริ่มมาแจ้งความประสงค์ในปีถัดไป การส่งข้อมูลไปยัง กรมสรรพากรก็จะเริ่มในปีที่แจ้งความประสงค์เป็นต้นไปจะไม่มีผลย้อนหลัง

ดังนั้น หากท่านต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อกองทุน SSF / RMF ปี 2565 นี้ต้องแจ้งความ ประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

การแจ้งความประสงค์จะต้องทำทุกปีหรือไม่


คำตอบคือ ไม่ต้องทำทุกปี  สามารถทำเพียงครั้งเดียว และจะมีผลไปในอนาคตตลอดจนกว่าจะมีการแจ้ง ยกเลิกความประสงค์

 

แจ้งความประสงค์ย้อนหลังได้หรือไม่ ?

การแจ้งความประสงค์จะมีผลไปในอนาคตเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้แจ้งความประสงค์ไว้ในปีที่ผ่านมา และ ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเงินลงทุนในปีดังกล่าว ท่านสามารถติดต่อ บลจ. เพื่อขอให้นำส่งข้อมูลการลงทุนย้อนหลัง ให้กับกรมสรรพากรได้

ขั้นตอน และ วิธีการ แจ้งความประสงค์ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อ บลจ.

สามารถดำเนินการได้ผ่านเว็บไซต์ของแต่ละ บลจ. หรือช่องทางออนไลน์อื่นๆที่ บลจ.ได้กำหนดไว้ โดยกรอกรายละเอียดเพื่อดำเนินการแจจ้งความประสงค์ และเราได้รวบรวมลิงค์การแจ้งความประสงค์ของบลจ.หลักๆ ไว้ให้ดังนี้ 

บลจ. แอสเซท พลัส จำกัด

https://www.assetfund.co.th/portal/tax-consent

บลจ. บัวหลวง จำกัด 
(คลิกเข้าสู่ระบบ > เลือกบริการ “แจ้งความประสงค์ขอลดหย่อนภาษี” แล้วเลือก “แจ้งความประสงค์” )

https://mutualfunddocument.bblam.co.th  

บลจ. กสิกรไทย จำกัด

https://k-invest.kasikornbankgroup.com/TaxConsent/

บลจ. กรุงศรี จำกัด
https://www.krungsriassetonline.com/TaxRequest/

SCBAM – บลจ. ไทยพาณิชย์ จำกัด

 https://e-service.scbam.com/ 

บลจ. เอ็มเอฟซี

https://smarttrade.mfcfund.com/ConsentsRD/contact/TH

บลจ. วรรณ จำกัด

https://www.one-asset.com/client-report/AITE


ที่มาข้อมูล บลจ.กรุงศรี 

และ https://www.finnomena.com/mrserotonin/tax-consent-compilation/

สรรพากรชี้แจงเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมทางภาษีแบบ Paperless

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ยกระดับบริการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90/91 แก่ผู้เสียภาษีด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลลดหย่อน/ยกเว้นภาษีกับหน่วยงานภายนอกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ได้แก่ เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาฯ และดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยผู้เสียภาษีต้องแจ้งความประสงค์ในการใช้สิทธิลดหย่อน/ยกเว้นต่อบริษัทประกัน ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เพื่อส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

และในปี 65 กรมสรรพากรได้ดำเนินการในรูปแบบเดียวกันกับค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และ SSF โดยเริ่มใช้กับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ปีภาษี 2565 ที่มีกำหนดการยื่นแบบเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2566 ด้วยการกำหนดให้การซื้อหน่วยลงทุน RMF และ SSF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ผู้ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สามารถแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิยกเว้นภาษีต่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่ได้ซื้อหน่วยลงทุนไว้ โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2566 แทนการส่งหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุน

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบข้อมูลค่าซื้อหน่วยลงุทน RMF และ SSF ที่กรมสรรพากรได้รับจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ผ่านระบบ My Tax Account ซึ่งเป็นระบบที่แสดงข้อมูลเงินได้ ค่าลดหย่อน และรายการยกเว้นภาษีเงินได้ที่กรมสรรพากรได้เชื่อมโยงจากหน่วยงานภายนอก และได้จัดเตรียมข้อมูลดังกล่าวสำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91 ออนไลน์ผ่านระบบ e-Filing ในรูปแบบ Pre-Fill

นอกจากนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างหารือร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเชื่อมโยงข้อมูลสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) ทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบและแนวทางเดียวกันกับมูลค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และ SSF เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระในการเก็บเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นแบบแสดงรายการและขอคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากนี้ ยังเป็นการลดปริมาณการใช้กระดาษ และสนับสนุนการทำธุรกรรมทางภาษีแบบ Paperless"

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161 และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีการและช่องทางการแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ โปรดติดต่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่ท่านได้ซื้อหน่วยลงทุนไว้

 

แชร์
ผู้ลงทุน SSF, RMF ห้ามลืม!แจ้งใช้สิทธิยกเว้นภาษีต่อ บลจ.