โลกคริปโทเคอร์เรนซี แสดงให้เราเห็นถึงความผันผวนระดับรถไฟเหาะครั้งแล้วครั้งเล่า แม้แต่ ‘Zipmex’ เอ็กซ์เชนจ์เบอร์ต้นของภูมิภาค เบอร์ 2 ของประเทศไทย ก็สามารถ ‘ล้มแรง’ โดยใช้เวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น จากผลพวง เหรียญ LUNA ที่ลามไปทั่ววงการ กระทบไปถึง Zipmex เพราะบริษัทแม่ Zipmex Asia ไปลงทุนกับ Celcius Capital และ Babel Finance ทำบริษัทขาดทุนกว่า 1,945 ล้านบาท
จนทำให้บริษัทต้องประกาศระงับการถอนเหรียญ และบริการ Stake เหรียญ ‘ZipUp’ ในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ลูกค้าไทยแตกตื่นเพราะขาดทุนกันคนละไม่น้อย ส่วนบริษัทแม่เองก็เข้าได้สู่กระบวนการล้มละลายเพื่อพิทักษ์ทรัพย์สินในสิงคโปร์
ด้าน Zipmex ประเทศไทย ก็จำใจต้องประกาศขายกิจการ เพื่อหาเงินมาชำระให้กับลูกค้าที่เสียหาย และหวังจะพาให้บริษัทรอดวิกฤต และดำเนินกิจการไปได้ ภายใต้หัวหอกใหม่ Spotlight ชวนสำรวจข้อมูลของอดีตเอ็กซ์เชนจ์เบอร์ 2 ของไทย ว่านอกจากธุรกิจของ Zipmex แล้ว หัวเรือทีมใหม่จะได้อะไรไปบ้าง
ภาวะโลกคริปโทซบเซา ผสมโรงกับมหันตภัย LUNA จาก Do Kwon และที่สำคัญ เหตุการณ์ระงับการให้บริการ ZipUp ของ Zipmex ประเทศไทย กระทบศรัทธาที่ผู้ใช้มีให้กับเอ็กซ์เชนจ์เจ้านี้ ส่งผลกระทบต่อปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม Zipmex ประเทศไทย จากที่เคยมีปริมาณสูงทะลุ 3 พันล้านบาทในเดือนมิถุนายน ร่วงลงเหลือ 62 ล้านบาท ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา อ้างอิงจาก SEC Open Data Services
โดยในเดือนมิถุนายนก่อนวิกฤต ZipUp นั้น Zipmex มีวอลุ่มการซื้อขายอยู่ที่ 3,391 ล้านบาท และเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นเดือนเกิดเหตุ วอลุ่มร่วงลงมาที่ 1,315 ล้านบาท ก่อนที่ในเดือนสิงหาคมจะเหลือเพียง 216 ล้านบาท และในเดือนกันยายนจะร่วงสู่ 62 ล้านบาท นับว่าตกลงมาจากเดือนมิถุนายนถึงกว่า 98%
แน่นอนว่าวอลุ่มที่หายไปกว่า 3 พันล้านนั้น จะต้องไปที่ไหนสักแห่ง จากสถิติของก.ล.ต. จะเห็นได้ว่าเอ็กซ์เชนจ์สัญชาติไทยอีก 2 เจ้าคือ bitazza ที่เคยมีเทรดิ้งวอลุ่มอยู่ที่ 868 ล้านในเดือนก.ค. และ Satang Pro ที่เคยมีเทรดิ้งวอลุ่มอยู่ที่ 97 ล้านในเดือนก.ค. (ไม่ปรากฏรายงานของเดือนมิ.ย.) มีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ สู่ระดับ 3,189 ล้านสำหรับ bitazza (เพิ่มขึ้น 267%) และ 925 ล้านสำหรับ Satang Pro (เพิ่มขึ้น 853%)
สำหรับเจ้าตลาดตลอดการอย่าง Bitkub นั้น แม้ท็อป จิรายุส จะเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Zipmex นั้นจะส่งผลเชิงบวกให้ลูกค้าหันมาใช้บริการของ Bitkub แต่อาจเป็นเพราะกระแส “ล้มดีลซื้อ Bitkub ของ SCB” เลื่อนพิจารณาดีลแบบไม่มีกำหนด ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนก.ค. จึงทำให้ยังไม่เห็นวอลุ่มที่ควรจะเพิ่มขึ้นจากการไหลเข้ามาของลูกค้า Zipmex แถมยังลดลงกว่า 4,000 ล้านบาท (คิดเป็น 6.9%)
อย่างไรก็ดี หัลงการประกาศล้มดีลอย่างเป็นทางการของ SCB ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ก็อาจส่งผลเชิงบวกต่อขวัญกำลังใจของลูกค้า เห็นได้จากวอลุ่มเทรดของเดือนก.ย. ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ถึง 13,470 ล้านบาท หรือกว่า 21% เลยทีเดียว
เมื่อช่วงปลายปีก่อน ที่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีรุ่งเรืองเฟื่องฟูถึงขีดสุดในวัฏจักรบิตคอยน์รอบนี้ Zipmex มีโปรเจกต์สำหรับเหรียญลูกรัก ‘Zipmex Token (ZMT)’ ไว้มากมาย เพื่อหวังในเป็น Utility Token ชั้นนำระดับภูมิภาค จับมือกับพาร์ทเนอร์ยักษ์ใหญ่ทั้งในไทยและระดับภูมิภาคอย่างสยามพิวรรธน์ หรือเฟอร์รารี่ นอกจากนี้โมเดลการเป็น ‘คริปโทแบงก์’ ทั้งในแง่ของการให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลกับองค์กรขนาดใหญ่ และบริการ Ziplock และ ZipUp สำหรับนักลงทุนรายย่อย ก็ช่วยทำให้ Zipmex โดดเด่นจากเอ็กซ์เชนจ์รายอื่น ราคาเหรียญ ZMT ซึ่งในแง่หนึ่ง ทำหน้าที่เหมือน ‘หุ้น’ ของบริษัทจึงพุ่งทะยานทะลุ 100 บาทในช่วงเดือนปลายเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม
แต่หลังจากที่ตลาดระส่ำระส่าย ผสานกับการคุมเข้มจากแบงก์ชาติและก.ล.ต. ทำให้หลากหลายโปรเจกต์ในฝันของ Zipmex ประเทศไทยต้องถูกพับเก็บกลับบ้าน ซ้ำร้าย ยังเกิดเหตุการณ์บริษัทล้มละลาย ราคาเหรียญจากที่ร่วงอยู่แล้ว จึง ‘รูด’ ลงต่อเนื่อง จนลงมาเคลื่อนไหวในระดับต่ำกว่า 10 บาทตั้งแต่ช่วงสิงหาคมที่ผ่านมา
แต่ในช่วงที่ผ่านมานี้ ข่าวการเข้าซื้อกิจการโดยกองทุน V Venture ในเครือ TTA ของ 'กึ้ง เฉลิมชัย มหากิจศิริ' ก็ช่วยดันราคาเหรียญให้พุ่งกว่า 85% แตะระดับ 10 บาท/ZMT อีกครั้ง ในช่วงวันที่ 3 ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Zipmex กำลังอยู่ในช่วงการเจรจาขั้นสุดท้ายกับกองทุนร่วมลงทุน V Ventures บริษัทในเครือของบริษัท Thoresen Thai Agencies หรือ TTA ซึ่งมี ‘กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ’ นักธุรกิจชื่อดัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อขายหุ้นใหญ่ในธุรกิจ แถม CoinDesk รายงานอ้างที่มาจากฝ่ายการตลาดของ Zipmex ว่า บริษัทกำลังจะมีการลงนามในวันศุกร์ แต่จนถึงเมื่อวานนี้ก็ยังมีการเจรจาต่อรองเงื่อนไขกันอยู่
ด้านนักลงทุนสัมพันธ์ของ TTA ระบุว่า บริษัทฯ สนใจเข้าลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจริง และมีการเจรจากับแพลตฟอร์มซื้อขายหลายราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย (Zipmex Thailand) โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปีหน้า (2023)
แถลงการณ์ล่าสุดจาก Zipmex ผ่านทางเพจ Zipmex Thailand เผยว่าเนื่องจากดีลอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของดีลได้
หาก Zipmex ตกไปอยู่ในมือของ กึ้ง เฉลิมชัย และ TTA จริงตามที่กระแสข่าวว่านั้น คงต้องตามกันต่อไปว่า Zipmex เมืองไทย จะสามารถกลับขึ้นมาเป็นเบอร์ต้นของวงการคริปโทในบ้านเราได้หรือไม่ และด้วยวิธีการอะไร
ที่มา : SEC, Zipmex Thailand, Bloomberg