บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “BRC” เผยทิศทางการดำเนินธุรกิจในฐานะบริษัทเรือธง (Flagship Company) ของกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) และกลุ่มบริษัทไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น จำกัด (TCC) เตรียมพัฒนาโมเดลธุรกิจ จากพื้นฐานธุรกิจเดิมของบิ๊กซี ผนวกกับการรวบรวมพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ Modern Trade และ ธุรกิจ Wholesale ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างการเติบโต เตรียมนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ)
ข้อมูลจาก Euromonitor บริษัทวิจัยระดับโลกเผยว่า ในระหว่างปี 2556 ถึงปี 2565 ในกลุ่ม Modern Trade สามอันดับแรกในประเทศไทย BRC คือ “มีผลการดำเนินงานดีที่สุดในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต และมีสถิติการเติบโตสูงสุด ในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ” เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของส่วนแบ่งทางการตลาด (ซึ่งคำนวณจากรายได้จากการขายปลีก)
นอกจากนี้ BRC ยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีระบบนิเวศทางธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในประเทศอื่น ๆ ที่เติบโตสูงในภูมิภาค ผ่านเครือข่ายร้านค้าหลากหลายรูปแบบและแบรนด์ทั่วประเทศ ด้วยรูปแบบธุรกิจแบบรวมศูนย์ซึ่งผสมผสานระหว่าง Modern Tradeและธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (Town Center Business) ซึ่งเป็นจุดแข็งอันโดดเด่นที่ทำให้ BRC สามารถสร้างโอกาสในการนำเสนอผลกำไรและการเติบโตได้อย่างมั่นคง
นาย อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ “BRC” กล่าวว่า “บิ๊กซี คือชื่อที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยมากว่า 30 ปี และวันนี้เราพร้อมที่จะก้าวสู่มิติใหม่ของธุรกิจและการเติบโตอันแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมภายใต้ชื่อ “บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น” หรือ “BRC” ภายหลังการปรับโครงสร้าง บริษัทฯ จะมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับศักยภาพในทุก ๆ ด้าน ให้เป็นผู้นำของภาคธุรกิจการค้าปลีกและค้าส่ง ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งมอบประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ไม่เหมือนใครด้วยความคุ้มค่าและการคัดสรรสินค้าอย่างดี ซึ่งเป็นจุดหมายในการสร้างความสุขแบบบิ๊ก ๆ ให้กับลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติในการเลือกซื้อสินค้าและบริการอย่างครบวงจร”
ปัจจุบัน BRC มีเครือข่ายร้านค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ (Multi-format) ประกอบด้วย
อีกทั้งร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมภายใต้โมเดลร้านค้า “โดนใจ” ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่ BRC มุ่งให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย หรือร้านค้าโชห่วย เพื่อยกระดับสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ผ่านการให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเติบโตและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่นของตนเอง
BRC ยังพัฒนา Omnichannel Platform จากการวิเคราะห์และทำความเข้าใจฐานลูกค้าขนาดใหญ่ภายใต้โปรแกรมสิทธิพิเศษ “บิ๊กพอยต์” กว่า 18 ล้านราย เพื่อมอบประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้าอย่างครบวงจรผ่านช่องทางออนไลน์ไปยังช่องทางออฟไลน์ (Online to Offline) ได้อย่างไร้รอยต่อ โดยนำเสนอผ่านการทำการตลาดแบบรายบุคคลซึ่งตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าผ่าน บิ๊กซี ออนไลน์ (www.bigc.co.th) แอปพลิเคชันบิ๊กซีพลัส (Big C PLUS) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานประมาณถึง 3.5 ล้านรายต่อเดือน นอกจากนั้นยังมีร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส เช่น Shopee, Lazada, Foodpanda, Grab Mart และอื่น ๆ
นอกจากนี้ การที่ BRC ได้รับการสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขบางประการจากกลุ่ม TCC ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในทำเลที่มีศักยภาพจำนวนมากในประเทศไทย BRC อาจจะสามารถเข้าถึงที่ดินดังกล่าว ทําให้ BRC อยู่ในสถานะที่มีโอกาสเติบโตได้โดยการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว
ด้านการเติบโตในต่างประเทศนั้น BigC ยังได้เข้าลงทุน และเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกในกัมพูชา และลาวแล้ว ส่วนในประเทศเวียดนามนั้น BigC ถือว่าเป็นผู้นำในธุรกิจค้าส่ง รวมทั้งภายใต้ข้อตกลงในสัญญาให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมและสัญญาให้สิทธิกับ BJC บิ๊กซี รีเทล มีสิทธิในการได้มาซึ่งกิจการ MM Mega Market (Vietnam) Company Limited และเครื่องหมายการค้า MM ที่ใช้ในการดำเนินกิจการร้านค้า MM Mega Market ในประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขบางประการตามสัญญา
ขณะเดียวกัน BRC ยังมุ่งมั่นเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมให้ดีขึ้น ตลอดจนดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางธุรกิจอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในอัตราร้อยละ 15 ในปี 2575 เมื่อเทียบกับปี 2564 และตั้งเป้าหมายระยะยาวเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593
ล่าสุด BRC ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยคาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้น IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในปี 66