หลายเดือนมานี้ ตลาดหุ้นไทยกำลังเจอกับวิกฤติทั้งหน้าและหลัง
ทั้งวิกฤติเรื่องการเติบโต และ ปัญหาการถูก Forced Sell หรือบังคับขายหุ้นของผู้บริหาร ที่ไม่ต่างอะไรกับการซ้ำแผลเดิมเข้าไปอีก
หุ้นหลายตัวราคาร่วงติดฟลอร์ -30% หลายวันติดกัน เกิดเป็นคำถามด้านความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย
คำถามคือ แล้วคำว่า Forced Sell คืออะไร ? วันนี้ Spotlight สรุปมาให้แล้ว
ปกติแล้วถ้าเราอยากลงทุนในหุ้น สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือเข้าไปเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ที่สนใจแล้วฝากเงินเข้าไป
แต่ถ้าเราอยากซื้อหุ้นในจำนวนที่มากกว่านั้น อาจจะเป็นเพราะว่า เราเชื่อมั่นในตัวกิจการ หรือ ต้องการสร้างผลกำไรให้มากขึ้น อีกวิธีที่ทำได้ก็คือการกู้เงินมาลงทุนด้วยการเปิด บัญชีมาร์จิ้น
วิธีนี้จะทำให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นได้โดยไม่ต้องใช้เงินเต็มจำนวน โดยเงินส่วนที่เหลือโบรกเกอร์จะเป็นคนออกให้
ทำให้โบรกเกอร์มีสถานะเป็น ผู้ปล่อยกู้ ส่วนเราก็จะตกอยู่ในสถานะของ ผู้กู้
ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเรามีเงิน 100,000 บาท ต้องการซื้อ หุ้น A ที่ราคา 1 บาท ด้วยเงินทั้งหมด เราก็จะซื้อหุ้น A ได้ 100,000 หุ้น
แต่ถ้าเราอยากซื้อหุ้น A เพิ่มอีก เราสามารถทำได้ด้วยการเอาหลักประกันที่เป็น เงินสด หรือ หลักทรัพย์ มาวางกับโบรกเกอร์
สมมติว่าโบรกเกอร์กำหนดให้วางเงิน 50% ของเงินกู้ ถ้าเราเอาเงิน 100,000 บาท ไปวางค้ำประกัน เราก็จะกู้มาลงทุนเพิ่มได้อีก 100,000 บาท
มาถึงตรงนี้ เราก็จะมีเงินสำหรับซื้อหุ้นทั้งหมด 200,000 บาท เอาไปซื้อหุ้น A ได้ 200,000 หุ้น
แต่ปัญหาก็คือ ถ้าวันหนึ่งราคาของหุ้น A ตกจาก 1 บาท ไปเป็น 0.65 สตางค์ (-35%) โบรกเกอร์จะแจ้ง Margin Call กับเรา
แล้ว Margin Call คืออะไร ?
ก็คือ หลักประกันขั้นต่ำที่เราต้องมีให้ถึงเพื่อคงสถานะการกู้ ปัจจุบันจะมีอัตราอยู่ที่ 35% ของมูลค่าหลักทรัพย์ทั้งหมด
ซึ่งถ้าต่ำกว่านี้ บริษัทหลักทรัพย์จะแจ้ง Margin Call กับเรา แล้วเราก็ต้องนำหลักประกันมาเพิ่มให้สูงกว่าเกณฑ์
กลับมาที่เรื่องเดิมกันต่อ จากทุน 200,000 บาท พอราคาหุ้น A ร่วง -35% ก็จะเท่ากับว่ามูลค่าพอร์ตการลงทุนลดลงไปเหลือ 130,000 บาท
ซึ่งตอนนี้ก็เท่ากับว่าหลักประกันที่เราวางไว้ 100,000 บาท จะมีมูลค่าเหลือแค่ 30,000 บาท ต่ำกว่าเกณฑ์ Margin Call ที่ต้องเหลืออย่างน้อย 35% ขึ้นไป (35,000 บาท)
มาถึงจุดนี้ ถ้าเราไม่เอาเงินสด หรือ หลักทรัพย์มาค้ำประกันเพิ่ม ซึ่งในกรณีที่เราใช้เงินสดค้ำประกัน ผลที่ได้ก็คือ เราจะเสียเงินทั้งหมดไป
แต่ถ้าเป็นหลักทรัพย์ อย่างเช่น หุ้น โบรกเกอร์จะทำการบังคับขายทุกราคาเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้
ซึ่งในกรณีของการบังคับขายหุ้น ถ้าเราเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่มีสัดส่วนเป็นนัยยะกับบริษัท ราคาหุ้นของบริษัทนั้นก็จะร่วงลงอย่างรุนแรง
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงเห็นแล้วว่าการกู้เงินมาลงทุนเป็นเหมือนกับดาบสองคม
ซึ่งในกรณีที่ เราคิดถูก สภาวะตลาดเป็นใจ ผลกำไรที่เราได้ก็จะเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าสุดท้ายแล้ว ผลออกมาไม่เป็นเหมือนที่เราคิด หรือสภาวะตลาดไม่เป็นใจ ภาพที่ออกมาก็จะคล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราตอนนี้
ที่มีข่าวออกมาเรื่อย ๆ ว่า ผู้บริหารเอาหุ้นไปค้ำประกันจนเกิดการ Forced Sell ทำให้ราคาหุ้นตกอย่างรุนแรงรายวันกลายเป็นวิกฤติความเชื่อมั่น
ซึ่งที่ผ่านมาทาง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET เองก็ไม่ได้นิ่งเฉย
และได้ออกมาปรับกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อย่างเช่น การพิจารณาเปิดเผยข้อมูลหุ้นที่ถูกนำมาจำนำแบบรายเดือน เพื่อให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า มาตรการตรงนี้จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทยมากขนาดไหน
ที่มา: set.or.th