Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
SCB EIC ชี้ซีรีส์วายโตต่อเนื่อง คาดปี 68 มูลค่าพุ่ง 4,900 ล้านบาท
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

SCB EIC ชี้ซีรีส์วายโตต่อเนื่อง คาดปี 68 มูลค่าพุ่ง 4,900 ล้านบาท

13 ม.ค. 68
16:23 น.
|
163
แชร์

“ซีรีส์วาย” เป็นหนึ่งประเภทของซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน โดยเป็นได้ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างชายและชาย (Boy Love) และความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและหญิง (Girl Love) โดยคำว่า “วาย” มีที่มาจากวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่นประเภทยาโออิ (YAOI) ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายและชาย และยูริ (Yuri) ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและหญิง

ปัจจุบัน ความนิยมของซีรีส์วายมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องกระแสของโลกที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการรับชมที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นตามการเติบโตของเทคโนโลยี ทั้งบริการสตรีมมิงที่หลากหลาย และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีราคาถูกลง

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ระบุว่ารายได้ของผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายยังคงมีสัดส่วนต่อมูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงของไทยในภาพรวมไม่สูงนัก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีตามกระแสความนิยมของซีรีส์วาย ซึ่งคาดว่ามูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 0.7% ในปี 2019 เป็น 3.0% ในปี 2023 และ 3.9% ในปี 2025 หรือเติบโตราว 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 4,900 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนศักยภาพของซีรีส์วายในการขับเคลื่อนธุรกิจการผลิตสื่อบันเทิงของไทยในภาพรวมให้เติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า รวมถึงเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ เช่น ธุรกิจให้เช่าสถานที่ถ่ายทำ ธุรกิจให้เช่าอุปกรณ์ถ่ายทำ (Production) และธุรกิจหลังการถ่ายทำ (Post-Production) อาทิ อุปกรณ์สำหรับตัดต่อวิดีโอ

‘ซีรีส์วายไทย’ อันดับหนึ่งครองใจคนทั่วโลก

ความนิยมของซีรีส์วายมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรับชมที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นตามการเติบโตของเทคโนโลยี โดยเฉพาะบริการสตรีมมิง เช่น YouTube, WeTV (จีน), iQiYi (จีน), VIU (ฮ่องกง) และ GagaOOLala ของไต้หวัน ซึ่งนำเสนอเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ โดยเฉพาะ ซึ่งการเข้าถึงที่ง่ายขึ้นทำให้ซีรีส์วายไทยติดเทรนด์โซเชียลมีเดียในหลายประเทศ ณ ช่วงเวลาที่ออกอากาศบ่อยครั้ง

ยกตัวอย่างซีรีส์ Boy Love “KinnPorsche The Series” ที่ติดเทรนด์ X อันดับ 1 ในไทยและอินโดนีเซีย และอันดับ 4 ในตุรกี ส่วน “High School Frenemy” ซึ่งเป็นซีรีส์ Boy Love เช่นกัน ก็ติดเทรนด์ X อันดับ 1 ในไทย เวียดนาม มาเลเซีย และมียอดผู้ชมสูงเป็นอันดับ 1 ใน VIU นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ขณะที่ซีรีส์ Girl Love อย่าง “Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก : Episode 1” สามารถติดเทรนด์ X อันดับ 1 ในไทยและมาเลเซีย รวมถึง 5 อันดับแรกในเวียดนาม บราซิล และฟิลิปปินส์

ผลการตอบรับดังกล่าว ทำให้ซีรีส์วายไทยถูกผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2022 ซีรีส์ Boy Love ของไทยมีการออกอากาศมากกว่าปีละ 50 เรื่อง ทำให้ปัจจุบันไทยมีภาพยนตร์ ซีรีส์ และเรื่องสั้นแนว Boy Love ที่ออกอากาศแล้วมากกว่า 300 เรื่อง และในปี 2024 ซีรีส์ Boy Love ของไทยมีสัดส่วนราว 55% ของซีรีส์ Boy Love ที่ออกอากาศทั้งหมดในเอเชีย โดยสามารถเอาชนะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่มีสัดส่วนรวมกันราว 28% และเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดซีรีส์วาย

สำหรับซีรีส์ Girl Love ของไทยก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากสถิติยอดรับชมบน YouYube ณ เดือนพฤศจิกายน ปี 2024 อย่างเรื่อง “Blank เติมคำว่ารักลงในช่องว่าง” ที่มียอดชมเฉลี่ยราว 5.8 ล้านครั้งต่อตอน ซึ่งใกล้เคียงกับซีรีส์ Boy Love ที่ออกอากาศในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ในปี 2024 มีภาพยนตร์ ซีรีส์ และเรื่องสั้น Girl Love ของไทยออกอากาศมากกว่า 40 เรื่อง โดยคิดเป็น 60% ของซีรีส์ Girl Love ที่ออกอากาศทั้งหมดในเอเชีย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าฟิลิปปินส์ หนึ่งในประเทศที่เป็นฐานผู้ชมสำคัญของซีรีส์วายไทย

ปัจจัยสำคัญดันซีรีส์วายให้โดดเด่น

การที่ซีรีส์วายไทยสามารถขยายความนิยมไปในหลายประเทศได้อย่างรวดเร็ว มีปัจจัยสำคัญมาจากการนำเสนอความสัมพันธ์ของตัวละครอย่างเปิดเผย โดยมีพื้นฐานจากสังคมไทยที่มีการยอมรับความหลากหลายทางเพศ และเปิดกว้างกับการแสดงออกถึงตัวตนของคนทุกเพศวัย สอดคล้องกับรายงานผลสำรวจความคิดเห็นต่อกลุ่ม LGBTQIA+ ในปี 2024 ของ Ipsos ที่สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างใน 23 ประเทศทั่วโลก พบว่าคนไทยมีมุมมองที่สนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในหลายด้าน เช่น การคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ สมรสเท่าเทียม และการอุปการะบุตรบุญธรรมของคู่รักเพศเดียวกัน เป็นต้น

ปัจจัยถัดมาคือการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดซีรีส์วายไทย ส่งผลทำให้ผู้ผลิตต้องสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาแปลกใหม่ รวมถึงการยกระดับคุณภาพต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง บทละคร และเทคนิคการถ่ายทำ ปัจจุบัน การนำเสนอเนื้อหาด้านความรักวัยรุ่นไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทางผู้ผลิตจึงเริ่มนำเสนอเนื้อหาที่มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ ดรามาเข้มข้น แอ็กชัน สืบสวนสอบสวน แฟนตาซี รวมถึงการสอดแทรกประเด็นทางสังคม เช่น การขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ การตีแผ่ปัญหาทางสังคม เป็นต้น

ปัจจัยสุดท้ายคือการเข้าถึงได้ง่ายจากบริการสตรีมมิง ซึ่งทำให้ซีรีส์วายไทยสามารถขยายความนิยมไปในหลายประเทศได้อย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลของ GSMA พบว่าอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของโลกเติบโตจาก 50% ในปี 2018 เป็น 66% ในปี 2024 และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของไทย เติบโตจาก 58% ในปี 2018 เป็น 88% ในปี 2024 ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การรับชมความบันเทิงผ่านทางออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น

ขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการสตรีมมิงก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2023 ผู้ใช้บริการ Netflix เติบโตราว 11.6% (YOY) และแพลตฟอร์ม GagaOOLala มีจำนวนผู้ใช้บริการเติบโตสูงถึง 33% (YOY) โดยเฉพาะผู ้ใช้บริการจากอินเดียที่เพิ่มขึ้นถึง 40% (YOY) ขณะที่ในปี 2024 ผู้ใช้บริการ WeTV เติบโตสูงถึงกว่า 14% (YOY)

นโยบายภาครัฐกับการสนับสนุนธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงไทย

ข้อมูลเหล่านี้กำลังสะท้อนศักยภาพของซีรีส์วายในการขับเคลื่อนธุรกิจการผลิตสื่อบันเทิงของไทยในภาพรวมให้เติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า หากภาครัฐพิจารณานโยบายสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายไทยเพิ่มเติม จะช่วยพัฒนาคุณภาพซีรีส์ของไทย และเพิ่มโอกาสในการส่งออก Soft Power นี้สู่ตลาดโลกได้มากขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับภาครัฐในหลายประเทศที่กำหนดนโยบายสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ที่ถ่ายทำในประเทศ นโยบายคืนเงินค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำภาพยนตร์ให้ครอบคลุมภาพยนตร์และซีรีส์วายของผู้ผลิตชาวไทย ไปจนถึงสนับสนุนการเผยแพร่สื่อบันเทิงไทยในต่างประเทศ

อ้างอิง: SCB EIC

แชร์
SCB EIC ชี้ซีรีส์วายโตต่อเนื่อง คาดปี 68 มูลค่าพุ่ง 4,900 ล้านบาท