KBANK หรือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาประกาศแผนธุรกิจปีนี้ สำหรับ 2 ธุรกิจหลัก ซึ่งได้แก่
- จะเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ฟื้นตัวแล้ว และ เน้นปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นหลัก โดยในปีที่แล้วสินเชื่อใหม่กว่า 90% ของ KBANK เป็นสินเชื่อแบบมีหลักประกันทั้งหมด
- ด้าน NIM หรือส่วนต่างผลตอบแทนของดอกเบี้ยรับ และ ดอกเบี้ยจ่าย คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยจะอยู่ในอัตรา 3.3-3.5% สะท้อนว่าอัตรากำไรจะดีขึ้น
- ด้านหนี้เสีย (NPL) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมจะอยู่ที่อัตรา 3.25% เรียกได้ว่าทรงตัว ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจจะยังไม่แน่นอน
- จะเสนอบริการด้านการลงทุนใหม่ ๆ มากขึ้น ชดเชยการทำธุรกรรมที่ลดลงจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป
ด้านต้นทุนคาดว่า ค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 40% ของรายได้
มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า ด้านธุรกิจสินเชื่อ KBANK จะเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ฟื้นตัว และ มีหลักประกัน ช่วยลดความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้
ส่วนธุรกิจค่าธรรมเนียม KBANK จะเจาะไปที่ธุรกิจด้านการลงทุนเป็นหลัก เน้นสร้างการเติบโตจากตรงนี้ ด้วยการเสนอบริการใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์นักลงทุน
ต่อไปมาดูกันว่า KBANK จะใช้วิธีอะไรให้เป้าหมายตรงนี้เกิดขึ้นได้จริง
สำหรับกลยุทธ์ที่ KBANK เลือกใช้ก็คือ กลยุทธ์ 3+1 และ Productivity เราลองมาไล่ดูกันทีละอัน
KBANK จะเน้นไปที่การเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกแบบมาให้กลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพโดยเฉพาะ โดยจะนำข้อมูล Insights ที่ได้มาวิเคราะห์ให้ตรงจุด
ส่วนการปล่อยสินเชื่อจะปล่อยให้กับลูกค้าที่เป็นทั้งบุคคลและธุรกิจ ในส่วนของธุรกิจจะจัดโครงการให้ความรู้ธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก ชูจุดเด่น และสร้างความเข้าใจเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน
ด้านบริการด้านการลงทุนในปีนี้ KBANK จะขยาย และ พัฒนา ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และ คอยให้ความรู้ผ่านช่องทาง K-Wealth เพื่อให้ บลจ. กสิกรไทยเป็นอันดับหนึ่งด้านธุรกิจกองทุนรวมต่อเนื่อง
ส่วนธุรกิจชำระเงิน ปีนี้ KBANK จะต่อยอดการพัฒนาแอปพลิเคชัน K PLUS ในด้านบริการชำระเงิน และ เริ่มขยายบริการชำระเงินสำหรับธุรกิจร้านค้า
โดย K-BANK นั้นถือได้ว่าเป็นผู้นำด้านการทำธุรกรรมของไทย พิสูจน์ได้ผ่านปริมาณการทำธุรกรรมที่มากถึง 1 ใน 3 ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมดในประเทศที่ถูกทำบนแอปพลิเคชัน K PLUS
โดยจะเน้นไปที่การเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานในแอปพลิเคชัน อย่างเช่น
- K PLUS ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน จาก 23,100,000 คน เป็น 23,900,000 คน เติบโตขึ้น 3.5%
- K BIZ แอปพลิเคชันจัดการธุรกรรมการเงินสำหรับธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน จาก 1.2 ล้านคน เป็น 2.1 ล้านคน คิดเป็นการเติบโตขึ้น 75%
โดยที่ผ่านมา KBANK มีความแข็งแกร่งด้านช่องทางดิจิทัลอยู่แล้ว โดยแอปพลิเคชัน K PLUS ถือเป็นอันดับ 1 ทั้งในด้านการใช้งาน แบรนด์ และบริการด้าน Call Center ที่พิสูจน์ได้ผ่านคะแนน Net Promoter Score
จะทำผ่าน บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด (KIV) บริษัทลูกที่เน้นเจาะกลุ่มลงทุนในลูกค้ารายย่อย ที่ยังเป็นลูกค้าของธนาคารไม่ได้ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง อย่างเช่น รายได้ไม่มั่นคง
โดย KIV จะขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาคมากขึ้นทั้งในจีน เวียดนาม และ อินโดนีเซีย
ส่วนอีกธุรกิจที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต ก็คือ ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ KBANK ได้เปิดตัวออกมา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนที่สนใจในสินทรัพย์ทางเลือกยุคใหม่
ด้านเทคโนโลยี บริษัทได้นวัตกรรมใหม่ ๆ จาก KBTG ที่คอยสนับสนุนบริษัท โดยหนึ่งในผลงานสำคัญของ KBTG ก็คือแอปพลิเคชัน K PLUS
และทั้งหมดนี้ก็คือกลุ่มธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตในระยะกลางถึงยาวให้กับ KBANK
หลังจากได้เห็นเรื่องการเติบโตกันไปแล้ว ทีนี้มาดูกลยุทธ์เกี่ยวกับเรื่อง ประสิทธิภาพการทำงาน กันบ้าง
ในปีนี้ KBANK จะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเช่น AI มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในองค์กร
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงเห็นแล้วว่า ทิศทางของ KBANK ในปีนี้ คือ สร้างการเติบโตภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสมบนภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
ซึ่ง KBANK เองก็มีเครื่องยนต์หลายตัวที่ช่วยหนุนให้ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ขอปิดด้วย ข้อความแถลงของ คุณ ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ที่ได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนการเติบโตครั้งนี้ว่า
ในปี 2568 นี้ บริษัทจะนำเทคโนโลยี AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับองค์กร รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทั้งของเดิมและของใหม่ ให้ตอบโจทย์ลูกค้าอยู๋เสมอ
โดยการเติบโตตรงนี้จะอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม สอดคล้องไปกับสถานการณ์ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ที่มา: K Press