ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วงยื่นภาษีประจำปีอีกครั้งครับ โดยช่วงนี้เป็นช่วงของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี 2567 ทีต้องยื่นในช่วงต้นปี 2568 โดยสามารถยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 (กรณียื่นแบบกระดาษ) และวันที่ 8 เมษายน 2568 (กรณียื่นผ่านอินเตอร์เน็ต)
และแน่นอนว่าในช่วงนี้ ก็เป็นช่วงที่หลายคนมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการยื่นภาษีประจำ ซึ่งผมเองก็ได้ทำคลิปสอนยื่นภาษีประจำปีไว้เรียบร้อยแล้ว (ดูได้ที่ สอนยื่นภาษีปี 2567 ออนไลน์ และ วิธีดึงข้อมูลรายได้และค่าลดหย่อนจากสรรพากร (ทำตามได้เลย))
แต่อย่างไรก็ตามก็มีหลายประเด็นที่หลายคนสงสัย และอยากได้คำตอบเพิ่มเติม จึงเป็นที่มาของบทความนี้นั่นเองครับ โดยผมได้รวบรวมคำถามที่ถามกันบ่อย ๆ และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ไว้ตามนี้เลยครับ
ตอบ : ปัจจุบันกรมสรรพากรมีช่องทางให้เราตรวจสอบข้อมูลรายได้ (บางส่วน) และค่าลดหย่อน (บางตัว) ผ่านระบบที่ชื่อว่า Digital My TAX และสามารถดึงข้อมูลดังกล่าวไปยื่นภาษีประจำปีได้ด้วย แต่แน่นอนว่า ก็จะมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับใครหลายคน เช่น ข้อมูลยังไม่ขึ้น หรือ ข้อมูลมาแต่ไม่ครบ ซึ่งถ้าใครกำลังเจอปัญหานี้อยู่ ผมแนะนำว่า ระบบการตรวจสอบที่ว่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลที่สรรพากรมี (ซึ่งอาจจะครบหรือไม่ครบก้ได้) ดังนั้นถ้าหากเรามีข้อมูลที่ถูกต้อง และมั่นใจว่ามีหลักฐานต่าง ๆครบถ้วน ก็สามารถยื่นภาษีก่อนได้เลยครับ (ไม่จำเป็นต้องรอ - โดยเฉพาะคนที่ต้องการขอคืนภาษี) แต่สำหรับใครที่อยากรอให้ข้อมูลทั้งหมดขึ้นมาก่อน เพื่อให้สามารถตรวจสอบเพื่อความมั่นใจ ก็สามารถรอได้ครับ เพราะเท่าที่สังเกตดูข้อมูลมักจะครบในช่วงเดือนมีนาคมครับ
อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่ข้อมูลรายได้ไม่ขึ้น อันนี้ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องยื่นภาษีนะครับ เนื่องจากข้อมูลที่ขึ้นในระบบจะเป็นเพียงข้อมูลที่มีการนำส่งสรรพากรไว้ (เช่น ผ่านการหักภาษี ณ ทีจ่าย) ดังนั้นถ้าเรารู้ว่าเรามีรายได้ส่วนไหน ก็ต้องนำมายื่นให้ถูกต้องด้วยครับผม
ตอบ : การจ่ายภาษีเพิ่มหรือได้คืนภาษีนั้น อยู่ที่ภาษีที่คำนวณได้ (จากการยื่นภาษี) หักออกด้วยยอดภาษีที่จ่ายล่วงหน้าไว้ (ผ่านการถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และ การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี) ดังนั้นถ้าหากเราคำนวณแล้วได้ยอดภาษีมากกว่าภาษีที่จ่ายล่วงหน้าไว้ ก็ต้องชำระเพิ่ม แต่ถ้าหากมีภาษีที่จ่ายล่วงหน้าไว้มากกว่าภาษีที่คำนวณได้ เราก็จะได้คืนครับ
สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้บ่อย ๆ คือ ค่าลดหย่อนที่เราใช้สิทธิ์นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยอดชำระหรือขอคืนภาษีโดยตรง เพราะรายการค่าลดหย่อนต่าง ๆ นั้นเป็นเพียงตัวนึงที่นำมาหักออกจาก “เงินได้สุทธิ” ที่เราใช้คำนวณภาษีเท่านั้น ซึ่งต้องนำยอดดังกล่าวมาคำนวณภาษีอีกที ถึงจะตอบได้ว่าสุดท้ายแล้วมีภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มหรือได้คืน
นอกจากนั้นสำหรับบางคนที่ไม่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ รวมถึงไม่ได้มีการจ่ายภาษีครึ่งปีไว้ล่วงหน้า แม้ว่าจะคำนวณออกมาแล้วไม่ต้องเสียภาษี (เงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท) ก็ไม่มีสิทธิ์ขอคืนภาษีเช่นกันครับ
ตอบ : สำหรับคนที่มีภาษีชำระไว้เกิน และต้องการขอคืนภาษี ต้องอย่าลืมเลือกช่อง “มีความประสงค์ขอคืนภาษี” ไว้ด้วยนะครับ ไม่งั้นจะไม่ได้เงินคืนครับ โดยกรมสรรพากรจะคืนเงินผ่านทางช่องทางดังต่อไปนี้ครับ
1. รับเงินคืนผ่านบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ สำหรับกรณีของ บุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ผมแนะนำให้ลงทะเบียน พร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก กรมสรรพากรจะโอนเงินภาษีส่วนที่ชำระไว้เกินคืนเข้าบัญชีธนาคารที่เราลงทะเบียนไว้โดยอัตโนมัติครับ (เน้นนะครับว่าต้องเป็นบัญชีธนาคาร (พร้อมเพย์) ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนเท่านั้นนะครับ)
2. รับเงินคืนผ่านธนาคารกรุงไทย หรือ ธ.ก.ส. หากเราไม่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ กรมสรรพากรจะออก หนังสือแจ้งคืนเงินภาษี (ค.21) เพื่อใช้เป็นหลักฐานไปรับเงินที่ธนาคาร ซึ่งเราสามารถนำหนังสือ ค.21 ไปพร้อมกับบัตรประชาชนและเอกสารตามที่ธนาคารกำหนดก็จะสามารถรับเงินคืนได้ทันที
3. รับเงินคืนผ่านไปรษณีย์ (เฉพาะบางกรณี) สำหรับกลุ่มที่ไม่สามารถใช้พร้อมเพย์ได้ เช่นชาวต่างชาติ ห้างหุ้นส่วนสามัญ / คณะบุคคล / วิสาหกิจชุมชน กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ทางกรมสรรพากรจะส่ง หนังสือ ค.21 พร้อมเช็ค ไปยังที่อยู่ที่แจ้งไว้ในแบบภาษี โดยเราสามารถนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารได้ครับ
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทั่วไป ผมแนะนำว่าผูกพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชนง่ายสุด และได้เงินคืนเร็วสุดครับ โดยจะได้เงินคืนหลังจากที่สถานะเป็นนำส่งเงินคืนภาษีภายใน 3-5 วันทำการครับ
ตอบ : ถ้าหากมีเอกสารหลักฐานครบถ้วน สำหรับคนที่ขอคืนภาษี สามารถอัพโหลดได้ทันทีที่ยื่นแบบเสร็จครับ หรือ อาจจะรอเอกสารเพิ่มเติมเมื่อเจ้าหน้าที่สรรพากรขอตรวจสอบก็ได้ครับ (กรณีส่งแบบกระดาษหรือเอกสารตัวจริง ให้เก็บสำเนาไว้ด้วยนะครับ เพื่อความปลอดภัยในจัดการเอกสาร หากมีปัญหาภายหลังครับ)
ในทางกลับกัน หากเรายื่นแล้วพบว่า ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เราไม่จำเป็นต้องส่งเอกสารให้กับสรรพากรทันทีครับ ถ้าหากไม่โดนตรวจสอบหรือมีการขอเอกสารเพิ่มเติมหลังจากที่ได้ยื่นแบบเรียบร้อยแล้ว
แต่อย่างไรก็ดี เรามีหน้าที่เก็บเอกสารเพื่อความถูกต้องของข้อมูลไว้ และตามกฎหมายภาษีกำหนดไว้ว่าควรเก็บไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีครับ
ตอบ : หากยื่นภาษีผิด เราสามารถยื่นเพิ่มเติมได้ครับ แต่ต้องยื่นข้อมูลทั้งหมดใหม่ (เหมือนไม่เคยกรอกมาก่อน) และกรอกข้อมูลการจ่ายชำระภาษี (ครั้งก่อนหน้า) ว่ามีภาษีชำระไปเท่าไรเพิ่มเติมเข้าไป (หากครั้งก่อนหน้าเป็นการขอคืนภาษีให้กรอกเป็น 0) ครับ
ส่วนกรณีที่พบว่า ไม่ได้ยื่นภาษีปีก่อนหน้า แต่อยากยื่นให้ถูกต้อง สามารถยื่นย้อนหลังได้ผ่านทางเวปไซด์กรมสรรพากรสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2564 เป็นต้นไปครับ แต่ถ้าเป็นแบบแสดงรายการก่อนหน้านั้นต้องยื่นแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาครับ
สำหรับคำถามหลักๆ สำคัญที่ผมรวบรวมมาก็มีประมาณนี้ครับ หวังว่าจะมีประโยชน์และทำให้เข้าใจการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากยิ่งขึ้นครับ โดยใครที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นภาษีและรายละเอียดเกี่ยวกับการยื่นภาษีประจำปี ผมมีทำคลิปอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในช่อง https://www.youtube.com/@TAXBugnomsChannel ครับ หากใครสนใจก็สามารถไปติดตามและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms