ภาพนี้กำลังบอกว่า..
ตอนนี้ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (OSP) เจ้าของ M-150 กำลังถูก บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CBG) เจ้าของคาราบาวแดง กินส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังไปเรื่อย ๆ
สาเหตุของเรื่องนี้มาจากตัวละครสำคัญที่ชื่อว่า “ราคา”
ตอนปี 2565 OSP ประกาศขึ้นราคา M-150 จาก 10 บาท เป็น 12 บาท ขึ้นราคา 2 บาท เพิ่มขึ้น 20%
ในมุมบริษัทการขึ้นราคาแบบนี้ ถ้าสมมติว่ายอดขายเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะเท่ากับว่าบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น 20% ทันที
ส่วนมุมมองฝั่งคนซื้อ ถ้าเรามีรายได้ประมาณหนึ่งการขึ้นราคา 2 บาท อาจจะไม่รู้สึกอะไร
แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่ากลุ่มลูกค้าหลักของเครื่องดื่มชูกำลังในไทยเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
ต่างจากในต่างประเทศที่เครื่องดื่มชูกำลังเป็นสินค้าพรีเมียม คนยอมจ่าย ขายได้แพงกว่า
เพื่อให้เห็นภาพ เราลองมาดูราคาเครื่องดื่มชูกำลังแบบแพ็ค 12 ชิ้น ที่วางขายในสหรัฐฯ กัน ว่าเฉลี่ยแล้วตกกระป๋องละเท่าไร
- Red bull (แบบกระป๋องนำเข้า) เฉลี่ยกระป๋องละ 56 บาท
- Monster เฉลี่ยกระป๋องละ 62 บาท
แน่นอนว่าการเทียบแบบนี้มีจุดอ่อน เพราะ ถ้าซื้อเป็นแพ็คเฉลี่ยออกมาแล้วก็ต้องถูกกว่า นอกจากนั้นยังมีเรื่องปริมาณ และ กำลังซื้อ ที่ต้องเอามาเทียบกันอีกด้วย
แต่ก็คงพอทำให้เห็นภาพว่าในต่างประเทศ เครื่องดื่มชูกำลังขายแพงกว่าในบ้านเรา 5-6 เท่า เลยทีเดียว
กลับมาที่บ้านเราอีกที จะเห็นได้ว่าเครื่องดื่มชูกำลังบ้านเรามีกลุ่มลูกค้าที่อ่อนไหวต่อราคามากกว่า
นั่นเลยทำให้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา CBG ได้ส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังไปเรื่อย ๆ จากการไม่ขึ้นราคาจนมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเกือบแซง OSP
ผลที่ออกมาเลยกลายเป็นว่า CBG ได้ส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น ตรงข้ามกัน OSP ที่เสียส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อย ๆ
ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นของ OSP ร่วงลงจากตอน IPO ที่ 25 มาเป็น 14.6 บาท -41% ในช่วงหลายปีมานี้
ซึ่งพอเป็นแบบนี้ ทาง OSP ก็เลยต้องแก้เกมออกผลิตภัณฑ์ขวด 10 บาท แบบผสมน้ำผึ้งออกมา ส่วนขวด 12 บาทก็ไม่ได้ทิ้งไปไหน และ วางภาพจำเป็นสินค้าพรีเมียม
คำถามที่น่าสนใจก็คือ
- ตอนนี้คนมอง OSP เป็นแบบไหน ? พรีเมียม หรือ แมส
- ถ้าเลือกเจาะตลาด 2 แบบ คนจะแยกกันซื้อแต่ละแบบพร้อมกัน หรือสุดท้ายแล้วคนจะกลับไปซื้อแบบ 10 บาทอยู่ดี
ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วใครจะเป็นผู้ชนะในเกมสงครามราคาตรงนี้
ที่มา: set.or.th, รายงานประจำปี 2565 และ 2566 ของแต่ละบริษัท, บทวิเคราะห์หุ้น OSP บล. เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บทวิเคราะห์หุ้น CBG บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด