Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
Meta เชือด ‘แอคปลอม’ เกือบ 700 ล้านบัญชี ลบโพสต์ตุ๋น 1.1 พันล้านโพสต์
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

Meta เชือด ‘แอคปลอม’ เกือบ 700 ล้านบัญชี ลบโพสต์ตุ๋น 1.1 พันล้านโพสต์

25 ต.ค. 66
19:46 น.
|
729
แชร์

ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกให้โอนเงิน หลอกขายของไม่ตรงปก โรแมนซ์สแกม ฯลฯ ยังคงเป็นปัญหาคลาสสิกในสังคมไทย ยิ่งช่องทางการสื่อสารวิวัฒนาการไปมากเท่าไร ดูเหมือนว่ากลโกงของการหลอกก็จะสดใหม่และซับซ้อนขึ้น รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจะยิ่งทวีความรุนแรง และกระจายวงกว้างขึ้นไปทุกที

 

1698237400275

 

 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า คดีฉ้อโกงผ่านทางช่องทางออนไลน์ยอดนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ ขายของออนไลน์, หลอกทำภารกิจ, หลอกกู้เงิน, คอลเซ็นเตอร์ และหลอกลงทุน ซึ่งในระยะเวลาปีเศษๆ ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์คดีฉ้อโกงทางไซเบอร์กว่า 360,000 คดี เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 600 -700 คดีต่อวัน

 

ด้านสถิติจาก Meta เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Facebook, Instagram และ Whatsapp เผยว่า Meta ได้เดินหน้าลบบัญชีปลอมออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลกบน Facebook และได้ดำเนินการลบเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านชิ้น อ้างอิงจากข้อมูลรายงานการบังคับใช้มาตรฐานชุมชนประจำไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2566

 

โดย 98.8% ของบัญชีปลอม และ 95.3% ของเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวง จะถูกตรวจพบและลบออกไปผ่านการดำเนินงานเชิงรุกด้วยเทคโนโลยี AI ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้

 

จุดนี้แสดงให้เห็นว่า เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดบัญชีปลอม และเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวง แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มีหน้าที่สำคัญในการ ‘ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม’ ก่อนที่จะลามไปเกิดเป็นความเสียหายแก่ผู้ใช้ โดยสำหรับ Meta มีมาตราการด้านต่างๆ เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

 

1698237397762

 

ถอดหลักคิด Meta ตรวจจับและป้องกันสแกมบนแพลตฟอร์ม

 

Meta มีนโยบายในกันสกัดกั้นไม่ให้เนื้อหาที่สร้างขึ้นเพื่อหลอกลวง ให้ข้อมูลเท็จ หรือฉ้อโกงเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม โดยใช้หลัก ‘Risk-based approach’ หรือการคำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากบัญชีต้องสงสัย นำไปสู่การสกัดกั้นตั้งแต่เนิ่นๆ ในกรณีนี้ หากแพลตฟอร์มพบว่าบัญชีใดบัญชีหนึ่งมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการหลอกลวง เจ้าของบัญชีดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ใช้งานบัญชีปลอมหรือนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตนเองที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งหากเจ้าของบัญชีไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ตามที่กำหนด หรือ Meta พบว่ามีการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ จะจัดการลบบัญชีดังกล่าว 

 

นอกจากนี้ Meta ยังจะเดินหน้าดำเนินการและลงโทษกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว ตามความรุนแรงของการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย โดย Meta ได้ใช้เทคนิคการดำเนินงานที่หลากหลายเพื่อตรวจจับปัญหาภัยลวงออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Meta ประกอบด้วย

 

• ใช้เทคโนโลยี machine learning เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชีที่ละเมิดนโยบายของ Meta

• ลดการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง

• ตรวจสอบเข้มข้นบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่าง ๆ

• จัดตั้งช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงโดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย

• ตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ

 

1698237402941

 

สกัดช่องทางตุ๋นแบบใหม่ ‘ยิงแอดหลอกเชือด’

 

อีกหนึ่งช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการกระจายเฟคนิวส์ เผยแพร่ช่องทางล่อลวง หรือเข้าถึงผู้เคราะห์ร้ายก็คือการยิงโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งโดย เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “การป้องกันไม่ให้โฆษณาบนแพลตฟอร์มของเราถูกใช้งานเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมการหลอกลวงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้พัฒนามาตรฐานการโฆษณา เพื่อเป็นแนวทางที่ระบุว่าโฆษณาแบบใดได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์มในเครือของ Meta โดยนโยบายของเราไม่อนุญาตโฆษณาที่มีเนื้อหาหลอกลวงหรือสร้างความเข้าใจผิด รวมถึงสแกม และหากเราตรวจจับโฆษณาที่ละเมิดมาตรฐานการโฆษณาของเรา เราจะดำเนินการไม่อนุมัติโฆษณาดังกล่าวในทันที”

 

“ในปัจจุบัน เราได้ใช้กระบวนการดำเนินงานที่หลากหลายเพื่อตรวจจับและตรวจสอบโฆษณา บัญชี และผู้ดูแลที่อาจละเมิดนโยบายของเรา เรามีการดำเนินงานเชิงลึกที่มากกว่าการตรวจสอบโฆษณาแต่ละชิ้น โดยเรายังตรวจสอบและสำรวจพฤติกรรมของนักโฆษณา และอาจจำกัดการใช้งานของนักโฆษณาที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการโฆษณาของเรา และเรายังคงมองหาวิธีการในการขยายกระบวนการดำเนินงานและเครื่องมือของเราอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนสามารถรายงานโฆษณามาที่เราได้”

 

1698237443988

 

กำแพงกันภัยไซเบอร์ 3 ชั้น : แพลตฟอร์ม หน่วยงานรัฐ ภูมิคุ้มกันของผู้ใช้งาน

 

การที่มิจฉาชีพจะเจาะเข้ามายังผู้เสียหายได้นั้น จะต้องผ่านกำแพง 3 ชั้นด้วยกันก็คือ มาตรการด้านความปลอดภัยของแพลตฟอร์ม, การป้องกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยไซเบอร์ ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และปราการสุดท้าย ก็คือ ภูมิคุ้มกันของตัวผู้ใช้งานเอง ซึ่งแน่นอนว่ามิจฉาชีพนั้นจะหาทางเจาะเข้ามาผ่านทั้ง 3 ช่องทางนี้ และอัพเกรดวิธีการเจาะให้สดใหม่ และซับซ้อนอยู่เรื่อยๆ

 

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Meta ได้ร่วมทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมถึงนักวิชาการและภาคประชาสังคม โดยเรามีการพูดคุยและมีกรอบความร่วมมือในหลาย ๆ เรื่องรวมถึงการรับมือปัญหาภัยหลอกลวงบนโลกออนไลน์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มของ Meta และแอป Facebook นั้น เรามีการทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงดีอีเอสและมีการจัดการเนื้อหาที่เป็นปัญหาอย่างรวดเร็วที่ทางกระทรวงได้แจ้งข้อมูลเข้ามา รวมถึงการสร้างการตระหนักรู้และแคมเปญการให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถรู้เท่าทันกลลวงและรู้วิธีการรายงานเนื้อหาเข้ามาได้ 

 

นอกจากนั้น เรายังมีการตรวจหาและไล่ลบบัญชีที่มีการตรวจพบว่าเป็นเนื้อหาที่เป็นอันตราย หลอกลวงหรือละเมิดกฎอยู่เป็นประจำ และด้วยเทคโนโลยี machine learning และ AI ก็ทำให้เราสามารถตรวจพบเนื้อหาเหล่านั้นก่อนที่ผู้ใช้อื่น ๆ จะได้เห็นด้วย” คุณอิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta กล่าว

 

เพื่อความแข็งแกร่งให้กับปราการด่านที่ 3 Meta ได้จัดแคมเปญ #StayingSafeOnline ภายใต้โครงการ We Think Digital Thailand โครงการหลักในการเสริมทักษะดิจิทัลของ Meta ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้แก่ชาวไทย เกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมของผู้ประสงค์ร้าย และป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากสแกมอีคอมเมิร์ซ สแกมความปลอดภัย และการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง รวมถึงภัยบนโลกออนไลน์อื่น ๆ 

 

โดยภายใต้แคมเปญดังกล่าว ได้มีการเปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้และวิดีโอเพื่อให้ความรู้ที่ให้บริการเป็นภาษาไทยอย่างหลากหลาย และยังมีการร่วมพัฒนาแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ร่วมกับหลากหลายองค์กร ทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม ได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โคแฟค ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแคมเปญดังกล่าวได้เข้าถึงชาวไทยเป็นจำนวนกว่า 30 ล้านคนแล้วในปัจจุบัน ตั้งแต่มีการเปิดตัวในปี พ.ศ. 2564 

 

นอกจากนี้ แคมเปญ #StayingSafeOnline ยังกำลังจะเปิดตัวการดำเนินงานเฟสใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยจะให้ความสำคัญกับเคล็ดลับในการระมัดระวังและรู้เท่าทันสแกมเมอร์ที่มีอยู่หลากหลายประเภท

แชร์
Meta เชือด ‘แอคปลอม’ เกือบ 700 ล้านบัญชี ลบโพสต์ตุ๋น 1.1 พันล้านโพสต์