Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
'พิชัย' เปิด 5 แนวทางรับมือภาษีทรัมป์  ย้ำแก้ปัญหาแบบ Win-Win
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

'พิชัย' เปิด 5 แนวทางรับมือภาษีทรัมป์ ย้ำแก้ปัญหาแบบ Win-Win

8 เม.ย. 68
22:44 น.
แชร์

รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกกำลังเคร่งเครียดกับการหามาตรการรองรับผลกระทบจากการประกาศภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับวันนี้ ( (8 เมษายน 2568) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ก็ได้หารือและออกแนวทางในการรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐเช่นกัน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมร่วมกับคณะทำงานด้านนโยบายการค้าสหรัฐฯ โดยมองว่า แม้ว่าสถานการณ์นี้จะเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทันสมัย แข่งขันได้ และเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

ภาพจาก ทำเนียบรัฐบาล

รัฐบาลไทยวาง 5 แนวทางรับมือวิกฤตภาษีของสหรัฐฯ

1.การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร โดยวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าสินค้าใดที่ไทยขาดแคลนวัตถุดิบ และสามารถนำเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตได้ในลักษณะ win-win เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือเครื่องในสัตว์ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญในการเพิ่มมูลค่าเป็นอาหารสำเร็จรูป การนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าก็ยังสามารถลดความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้การค้าของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมรองรับการส่ออกในรูปแบบที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง

2. การทบทวนภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการ โดยหากบริหารจัดการโควตาและเงื่อนไขอย่างเหมาะสม อาจสามารถเปิดตลาดเพิ่มเติมได้โดยไม่กระทบภาคการผลิตภายในประเทศมากนัก และส่งสัญญาณบวกต่อสหรัฐฯ ว่าไทยพร้อมลดอุปสรรคทางการค้าและเดินหน้าเปิดเสรีเศรษฐกิจอย่างสมดุล

3.การลดอุปสรรคภายในประเทศ โดยเฉพาะกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อน หรือขั้นตอนนำเข้าสินค้าที่ล่าช้า ซึ่งแม้ไม่ใช่ภาษีโดยตรง แต่ถือเป็น Non-Tariff Barriers ที่อาจทำให้ถูกมองว่าไทยกีดกันทางการค้าโดยไม่จำเป็น การปรับปรุงกลไกในจุดนี้จะช่วยลดภาระผู้ประกอบการ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสายตาคู่ค้าระหว่างประเทศ

4.การควบคุมสินค้านำเข้าที่อาจเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีจากประเทศที่สาม โดยเฉพาะกรณีที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ รัฐบาลเตรียมใช้มาตรการเข้มข้นในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อไม่ให้ไทยถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับการเลี่ยงภาษี และยังคงรักษาความน่าเชื่อถือในเวทีการค้าระหว่างประเทศ

5.การปรับโครงสร้างการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยเริ่มขาดแคลนทรัพยากร เช่น พลังงานและปิโตรเคมี ซึ่งอาจต้องนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ในอนาคต รวมถึงการสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยไปตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ เพื่อผลิตสินค้าป้อนตลาดโลก ลดแรงเสียดทานทางการค้า และเพิ่มเครือข่ายมูลค่าเพิ่มของไทยในต่างประเทศ

นายพิชัยย้ำว่า รัฐบาลไทยจะแก้ปัญหาแบบรอบคอบมีการวางแผน เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขแต่จะไม่ดำเนินการทันที จะดำเนินการอย่างเป็นระบบ ภายใต้แนวทาง Win-Win เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง โดยขณะนี้ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำรายละเอียด เตรียมเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) อย่างรอบคอบ และจะเดินทางไปหารือโดยเร็วเมื่อทุกอย่างพร้อม

ขณะที่การดูแลภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบรัฐบาลยังเตรียมแผนรองรับเศรษฐกิจในประเทศควบคู่กันไป เช่น การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอาจรวมถึงการขยายเพดานหนี้สาธารณะหากมีความจำเป็น เช่นเดียวกับที่จีนเคยดำเนินการในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม

มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ถูกระบุว่า จะมีผลในวันพรุ่งนี้ (9 เม.ย.) ขณะที่ทีมเจรจาของสหรัฐฯเองก็เริ่มเปิดเผย ท่าทีตอบกลับกับบางประเทศซึ่งกำลังสะท้อนว่าข้อเสนอที่ดูยินยอม ผ่อนปรน จากประเทศต่างๆยัไง่สามารถทำให้สหรัฐฯพอใจได้ เช่นกรณีของเวียดนามที่เล่นใหญ่ ยอมลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% และขอให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีใหม่ที่ทรัมป์เพิ่งประกาศออกไปอย่างน้อย 45 วัน นับจากวันที่ 9 เมษายน แต่ปรากฏว่า ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ แสดงความเห็นว่า ข้อเสนอของเวียดนามยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ

“แม้ว่าเราจะลดภาษีของทั้งสองประเทศลงเหลือศูนย์ สหรัฐฯ ก็ยังขาดดุลการค้าก็เวียดนามอยู่ราว 120,000 ล้านดอลลาร์” นาวาร์โรกล่าวในรายการ Sunday Morning Futures ทางช่อง Fox News พร้อมเสริมว่า “ปัญหาหลักคือการละเมิดกฎการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่เวียดนามยังคงใช้อยู่”

สำหรับประเทศในอาเซียนขณะนี้กำลังมีท่าทีในการรับมือกับสหรัฐฯแตกต่างกันไป และถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีการถูกขึ้นภาษีสูงมาก โดยกัมพูชาถูกเก็บภาษีสูงสุดถึง 49% ตามด้วยเวียดนามที่ 46% ไทย 36% อินโดนีเซีย 32% มาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ในอัตราต่ำสุดที่ 10%

แชร์
'พิชัย' เปิด 5 แนวทางรับมือภาษีทรัมป์  ย้ำแก้ปัญหาแบบ Win-Win