Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
5 ขั้นตอน พิชิต No Buy Month Challenge
โดย : ราชันย์ ตันติจินดา

5 ขั้นตอน พิชิต No Buy Month Challenge

8 ก.พ. 67
23:15 น.
|
861
แชร์

No Buy Month Challenge หนึ่งในเทรนด์ฮิตของวัยรุ่นและวัยทำงานยุคใหม่ ที่ช่วยสร้างวินัยการใช้เงินหรืออาจเปลี่ยนนิสัยการใช้จ่ายเงินของเราได้ ไม่เพียงแต่ทำให้เห็นความสำคัญของการใช้เงิน ยังเพิ่มโอกาสมีเงินเก็บได้มากขึ้นด้วย โดย Challenge นี้เริ่มต้นและพิชิตได้ไม่ยาก ด้วย 5 ขั้นตอน พิชิต No Buy Month Challenge

1.หยุดจ่าย ของไม่จำเป็น

ของไม่จำเป็นที่ควรหยุด คือ ของที่ไม่ซื้อในเดือนนี้ก็ยังสามามารถใช้ของที่มีอยู่ได้ ดังนั้นจึงถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องหยุดในช่วง No Buy Month Challenge ซึ่งของที่ว่าแบ่งได้ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

  • ของที่วันนี้ไม่มี ก็ไม่เดือดร้อน เช่น โทรศัพท์รุ่นใหม่ กระเป๋าใหม่ เสื้อผ้าใหม่ ค่าสมาชิกดูซีรีย์หนังแอปที่ 2 ขึ้นไป ค่าเที่ยวต่างจังหวัด ค่าสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เป็นต้น
  • ของที่ซื้อมาวันนี้ ก็ยังไม่ได้ใช้ หลักๆ คือ ของที่ใช้แล้วหมดไป แต่ปัจจุบันของนั้นยังมีและสามารถใช้ได้อยู่อีกหลายเดือน เช่น เครื่องสำอาง น้ำหอม ของใช้ในบ้านอย่างสบู่/แชมพู เป็นต้น

2.เลือกจ่าย ให้น้อยที่สุด

ของบางอย่างแม้จำเป็นต้องใช้ต้องจ่ายอยู่เกือบทุกวัน แต่ก็สามารถเลือกจ่ายให้น้อยลงได้ เพื่อให้ Buy ด้วยเงินที่น้อยลงโดยของที่สามารถเลือกจ่ายให้น้อยลงได้ แบ่งได้ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

  • เลือกใช้ของฟรี อย่างน้ำดื่ม ที่อาจไม่จำเป็นต้องซื้อเป็นขวดจากร้านสะดวกซื้อ ขวดละ 7-20 บาท ทุกวันหรือทุกมื้อ แต่เลือกดื่มน้ำฟรี ที่เป็นสวัสิดการของที่ทำงานที่ผ่านเครื่องกรองที่ได้มาตรฐาน หรือของร้านอาหารที่ไปใช้บริการและน่าเชื่อถือ
  • เลือกใช้ของราคาถูกลง เช่น ของแบบและยี่ห้อเดียวกัน ซื้อต่างร้านหรือต่างช่องทาง ราคาก็ต่างกัน หรือสินค้าคล้ายกันแต่ต่างยี่ห้อราคาก็ต่างกันไม่น้อย การเช็กและเปรียบราคาก่อนซื้อจะช่วยให้การซื้อครั้งนี้และครั้งต่อไป อาจได้ของเหมือนเดิมแต่จ่ายน้อยลงได้
  • เลือกใช้ของไม่เกินความจำเป็น เช่น ค่าแพ็คเกจโทรศัพท์ หากที่ผ่านมามีเน็ตหรือค่าโทรเหลือเกิน 30%ของแพ็คเกจทุกเดือน ก็ควรพิจารณาหยุดซื้อแพ็คเกจเดิมและเปลี่ยนไปซื้อแพ็คเกจใหม่ที่ราคาถูกลง หรือค่าสมาชิกแอปซีรีย์หนังหากมีสมัครไว้หลายแอป แต่มีเวลาดูในแต่ละเดือนได้ไม่ครบทุกแอป ก็อาจเลือกจ่ายค่าสมาชิกสลับแอปกันไปในแต่ละเดือนได้

3.ลดการจ่าย ด้วยการปรับวิถีชีวิต

ค่าใช้จ่ายบางอย่าง อาจจ่ายจนกลายเป็นความเคยชิน ทั้งที่หากหยุดหรือเปลี่ยนวิถีชีวิตบางอย่าง ก็ช่วยให้รายจ่ายลดลงได้ เช่น

  • การเดินทาง ที่อาจมีตั้งแต่เรียกรถจากแอปแบบไม่จำกัดประเภทรถ ซึ่งค่าโดยสารมักแพงกว่าการเลือกเฉพาะแบบ Taxi หรือหากลองอดทนให้เวลาในการรอรถโดยเลือกเรียกเฉพาะรถ Taxi หรือการลองเปลี่ยนจากนั่ง Taxi ทุกวัน เป็นนั่งรถประจำทางในเช้าบางวัน หรือเฉพาะช่วงเย็นขากลับบ้านที่ไม่ต้องแข่งขันกับเวลาเท่าช่วงเช้า ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้
  • ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เช่น คนที่ชอบดื่มกาแฟ ก็มีทางเลือกตั้งแต่กาแฟหรูใกล้ที่ทำงานราคาแก้วละร้อยกว่าบาท กาแฟสดจากตู้อัตโนมัติราคาแก้วละ 20-40 บาท หรือแม้แต่การเตรียมกาแฟผงหรือกาแฟซองมาชงน้ำร้อนฟรีที่ทำงานด้วยต้นทุนแก้วละ 2-5 บาทก็ได้ ส่วนร้านอาหารกลางวันก็มีตั้งแต่ร้านอาหารดีๆ ร้านอาหารตามสั่งข้างออฟฟิศ หรือร้านอาหารสวัสดิการราคาถูกของที่ทำงาน

    No Buy Month Challenge

4.ตั้งเป้าจ่าย ในแต่ละวัน

หลังจาก คุม-ลด-รู้ทัน ค่าใช้จ่ายแต่ละอย่างแล้ว ก็สามารถตั้งเป้าเงินที่ควรจ่ายในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม เช่น ในวันทำงาน 1 วัน อาจมีค่าเดินทาง ไป-กลับ รวมวันละ 150 บาท ค่าอาหาร เช้า-กลาง-เย็น ในกรณีที่ทานคนเดียวไม่ได้ไปสังสรรค์ร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัวอยู่ที่วันละ 200 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่ไม่มีการจ่ายระหว่างวัน เช่น การชงกาแฟดื่มเอง ก็อาจรอจ่ายเงินซื้อกาแฟครั้งเดียวในช่วงปลายเดือน เท่ากับว่าใน 1 วันทำงาน ควรมีเป้าหมายใช้เงินไม่เกินวันละ 350-400 บาท เป็นต้น

เมื่อกำหนดเป้าเงินที่ใช้จ่ายในแต่ละวันได้แล้ว ต่อมาคือการคุมการใช้เงินให้อยู่ สำหรับใครที่ปกติใช้จ่ายด้วยเงินสด สามารถคุมได้ด้วยการหยิบเงินใส่กระเป๋าไปทำงานวันละ 400 บาท หรือหากโดยปกติใช้มือถือสแกนจ่าย ก็แยกบัญชีเงินฝากไว้ 1 บัญชีโดยเฉพาะแล้วผูกกับ Mobile Banking และโอนเงินเข้าบัญชีนี้วันละ 400 บาท เพื่อคุมให้ใช้เงินไม่เกินเป้าที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตามนอกจากเงินไว้ใช้จ่ายวันละ 400 บาทแล้ว ควรกันเงินส่วนหนึ่งเผื่อค่าใช้จ่ายนอกแผนด้วย โดยอาจมีธนบัตร 1 พันบาท ใส่ไว้ในช่องของกระเป๋าสตางค์ หรือมีเงินเป็นเลขถ้วนๆ 1,000 – 5,000 บาท ติดบัญชีไว้ด้วย

5.แยกเงินที่เหลือ ให้เป็นสัดส่วน

No Buy Month Challenge ไม่ได้จบแค่หยุดจ่ายหรือจ่ายเงินให้น้อยลง เพราะแม้เดือนนี้อาจพิชิต Challenge มีเงินเหลือเก็บได้จริง แต่หากไม่จัดสรรเงินที่เหลือให้ดีเมื่อออกจาก Challenge แล้ว ก็อาจนำเงินส่วนที่เก็บมาได้นี้ไปใช้จ่ายจนหมดได้ โดยเงินที่เหลือซึ่งถือเป็นเงินรางวัลจาก No Buy Month Challenge ในแต่ละเดือน ควรจัดสรรไว้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • จัดสรรไว้ซื้อของจำเป็น เช่น ของใช้ส่วนตัว ของใช้ในบ้าน ที่อาจไม่จำเป็นต้องจ่ายทุกวัน แต่เมื่อของใช้เหล่านั้นหมดหรือเสื่อมสภาพไป ก็ต้องซื้อใหม่อยู่ดี โดยอาจเป็นการซื้อแบบมีปฎิท้นชัดเจน เช่น พิจารณาซื้อจากการเดินห้างสรรพสินค้าใกล้บ้านทุกเดือน หรืออาจจดบันทึกรายการของใช้จำเป็นและรอซื้อในช่วงที่มีโปรโมชันเป็นครั้งคราวไป
  • จัดสรรไว้โปะหนี้ สำหรับหนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ล้วนเป็นหนี้ที่คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก การจัดสรรเงินไปโปะหนี้ จะช่วยให้เงินส่วนนี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการลดภาระดอกเบี้ยลง แทนที่จะถูกนำไปใช้จ่ายให้หมดไป
  • จัดสรรไว้เก็บออมและลงทุน เพื่อเป็นเงินเก็บสำรองยามฉุกเฉิน และเป็นเงินลงทุนต่อยอดให้งอกเงย โดยควรนำไปเก็บไว้ในที่เอาออกไม่ง่ายนัก เช่น เงินฝากประจำ กองทุน Term Fund กองทุนหุ้น/ผสม ประกันชีวิต เป็นต้น แทนการเก็บไว้ในเงินฝากออมทรัพย์ที่พร้อมถูกนำไปใช้จ่ายทันทีที่เผลอใจ 

No Buy Month Challenge แม้หลายคนอาจละเลยไม่สนใจเพราะคิดว่าเป็นแค่เทรนด์ชั่วครั้งชั่วคราว แต่หากได้ลองเข้าร่วม Challenge สักครั้ง และอยู่กับ Challenge นี้ไปสัก 2-4 เดือน เชื่อว่าวิถีการใช้จ่ายของหลายคนจะเปลี่ยนไป สุขภาพการเงินจะดีขึ้น เหมือนกับการ Challenge ให้ตนเองออกกำลังกาย ดูแลอาหารการกิน ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตัวเราเองเท่านั้นที่รับรู้ได้

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

แชร์

5 ขั้นตอน พิชิต No Buy Month Challenge