Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
กสิกร ครองแชมป์ 10 อันดับแบงก์กำไรสูงสุด
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

กสิกร ครองแชมป์ 10 อันดับแบงก์กำไรสูงสุด

22 เม.ย. 67
17:17 น.
|
5.2K
แชร์

ปิดจ๊อบ! งบแบงก์ไตรมาส 1/2567 ด้วยภาพกำไร 10 แบงก์พาณิชย์ พุ่ง 63,511.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.13% จากไตรมาสก่อนหน้า ที่ 54,689.86 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 5.36% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 60,280.58 ล้านบาท

โดยภาพผลประกอบการ ทั้ง 10 แบงก์ ดังนี้ ธนาคารกรุงเทพ (BBL)  , ธนาคารกรุงไทย(KTB) , กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB), กลุ่มการเงินทิสโก้ (TISCO), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร(KKP), ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LHFG) และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) 

กสิกรไทย ครองแชมป์ อันดับ 1 

ธนาคารกสิกรไทย แจ้งไตรมาส 1 ปี 2567 กำไรสุทธิ 13,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.65% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 25.55% จากช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 29,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.93% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 

สาเหตุหลัก ๆ จากการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ในไตรมาสนี้ธนาคารพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) จำนวน 11,684 ล้านบาท 

โดยธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สำรองฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพียงพอ สะท้อนสถานการณ์ในปัจจุบัน และรองรับความไม่แน่นอนของปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ  

นอกจากนี้ กสิกรไทยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,318,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 จำนวน 35,253 ล้านบาท หรือ 0.82% ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนในตราสารทางการเงินเพิ่มตามการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม เงินให้สินเชื่อสุทธิลดลงตามภาวะตลาด ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.19% และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 150.35% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.37%

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เผยว่า “ในปีนี้ธนาคารกสิกรไทยได้วางยุทธศาสตร์ 3+1 โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการเติบโตด้านสินเชื่ออย่างมีคุณภาพภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม การขยายธุรกิจรายได้ค่าธรรมเนียม การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางการให้บริการ การแสวงหารายได้ใหม่ในระยะกลางและระยะยาว รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทั้งลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน หน่วยงานกำกับดูแล และสังคม ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน” 

อันดับ 2 คือ SCBX กำไร 11,281 ล้านบาท

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2567 จำนวน 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน

โดยในไตรมาส 1 ของปี 2567 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 31,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% เป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิและรายได้จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 2.1% จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในธุรกิจสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารไทยพาณิชย์ และการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของบริษัทลูก  อื่น ๆ

รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ มีจำนวน 10,178 ล้านบาท ลดลง 7.6% เป็นผลจากการลดลงของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคาร และรายได้ที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ  

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 10,201 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากปีก่อน เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความเปราะบางอันเนื่องมาจากสภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงระดับสูง โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 160.6% 

คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 3.5% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.3% ในปีก่อน เงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัท อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.6% และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ระดับ 9.3%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า “บริษัท เอสซีบี เอกซ์ มีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและให้ความสำคัญกับการสนับสนุนแนวนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ โดยให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางตามความเหมาะสมและศักยภาพของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

บริษัท เดินหน้าสร้างขีดความสามารถในการเติบโตในอนาคต โดยบริษัท จับมือกับ WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำจากประเทศจีน ในฐานะพันธมิตรด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพของกลุ่มในการเตรียมยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศ

นอกจากนั้น ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัท ได้เปิดตัว “ไต้ฝุ่น” โมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่พัฒนาขึ้นสำหรับภาษาไทยโดยเฉพาะ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาด้าน AI ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการขับเคลื่อนและผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น AI-First Organization ควบคู่กับการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ อีกด้วย”

อันดับ 3 คือ KTB กำไร 11,079 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย ประกาศ ไตรมาส 1 ปี 2567 กำไรสุทธิ จำนวน 11,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการดำเนินงานเติบโตอย่างยั่งยืน สินเชื่อขยายตัวอย่างสมดุล บริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่น รักษา Coverage Ratio ในระดับสูง รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าลดภาระทางการเงิน แก้ปัญหานี้

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เผยว่า "เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขับเคลื่อนโดยการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเติบโตได้ต่ำลง และเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อการผลิตและการส่งออก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการขยายวงและต่อเนื่อง และสภาวะภูมิอากาศแปรปรวน รวมถึงแรงกดดันจากภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ขณะที่ธุรกิจ SME บางส่วนเปราะบางและขาดความยืดหยุ่นจึงฟื้นตัวได้ช้า" 

ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสม ยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงคงที่ประมาณ 181% ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับเมื่อสิ้นปี 2566 พร้อมทั้งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างยืดหยุ่นและระมัดระวังต่อเนื่อง โดยมี สินเชื่อด้อยคุณภาพเท่ากับ 98,815 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio) เท่ากับ 3.14%

 

แบงก์กรุงเทพ ประกาศกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 10,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% จากไตรมาส 4 ปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินรับฝากเพิ่มขึ้นตามการทยอยปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากเมื่อครบกำหนด ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.06% 

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากรายได้จากการลงทุน ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากบริการประกันผ่านธนาคารและกองทุนรวมเติบโตดีจากไตรมาสก่อน  

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 47.1%  ทั้งนี้ ธนาคารพิจารณาตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,582 ล้านบาท ภายใต้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

ธนาคารกรุงเทพยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

โดยมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,736,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% จากสิ้นปีก่อน จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศ  สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 3.0% 

ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วน
ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 291.7%

อันดับ 5 คือ BAY กำไร 7,543 ล้านบาท

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2567 มีกำไรสุทธิจำนวน 7,543 ล้านบาท ลดลง 13.1% จากไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น ภายใต้นโยบายการบริหารความเสี่ยงรอบคอบระมัดระวัง เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจกระทบคุณภาพสินเชื่อในอนาคต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับไตรมาสแรกของปี 2567
• กำไรสุทธิ จำนวน 7,543 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2567 ลดลง 13.1% หรือจำนวน 1,133 ล้านบาท จากไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรอง ภายใต้นโยบายการบริหารความเสี่ยงรอบคอบระมัดระวัง เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจกระทบคุณภาพสินเชื่อในอนาคต
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
• เงินให้สินเชื่อรวม ลดลง 0.9% หรือจำนวน 17,252 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวลดลงตามฤดูกาลของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อรายย่อย
ในขณะเดียวกันสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่ออาเซียนยังคงเติบโตที่ 2.7% และ 4.0% ตามลำดับ
• เงินรับฝาก เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 8.9% หรือจำนวน 164,500 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประจำ
• ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 4.16% เพิ่มขึ้นจาก 3.35% ในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของยอดคงค้างของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการควบรวมกิจการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศในไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สี่ของปี 2566 และจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ
• รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 26.9% หรือ 2,383 ล้านบาท จากไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ จากกิจการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่ควบรวมมาในไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สี่ของปี 2566
• อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นสู่ 43.0% จาก 44.4% ในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการควบคุมค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
• อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.69% เมื่อเทียบกับ 2.53% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ขณะที่การตั้งสำรองอย่างรอบคอบระมัดระวังโดยเฉพาะสำหรับบริษัทลูกในต่างประเทศ ส่งผลให้สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมปรับสูงขึ้นสู่ระดับที่ 248 เบสิสพอยท์ ในไตรมาสแรกของปี 2567 หากไม่รวมพอร์ตโฟลิโอของสินเชื่ออาเซียน อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 2.30%
• อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 141.5%
• อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 18.08% เทียบกับ 18.24% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566

นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2567 ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวที่ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ช้าลง โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคบริการ ด้วยแรงส่งจากการท่องเที่ยว รวมถึง การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการผลิตในบางประเภทอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณฯ ประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ยังคงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญในไตรมาสที่ผ่านมา”

อันดับ 6 คือ ttb กำไร 5,334 ล้านบาท

ทีเอ็มบีธนชาต รายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ 5,334 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งยังสามารถลดหนี้เสียได้อย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2.56% ขณะที่อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังอยู่ในระดับสูงที่ 155% เน้นย้ำพันธกิจ Financial Well-being เดินหน้าดูแลลูกค้า พร้อมร่วมสนับสนุนแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม มุ่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อและการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเพื่อหนุนรายได้ การมีประสิทธิภาพด้านต้นทุน และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์

หนึ่งในจุดเด่นของผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้ ได้แก่ ด้านสินเชื่อ ซึ่งธนาคารยังคงเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เน้นกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารมีความชำนาญ เข้าใจทั้งความต้องการและความเสี่ยงเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนมีรถ กลุ่มคนมีบ้าน และพนักงานเงินเดือน ภายใต้แนวคิด Ecosystem play หนุนให้ธนาคารสามารถเติบโตสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายได้ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อรถแลกเงิน (+4%) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (+3%) และสินเชื่อบุคคล (+4%)

ในประการสำคัญ ธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ และการรวบหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยและช่วยให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในระยะยาว โดยปัจจุบันธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านการปรับโครงสร้างหนี้คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อประมาณ 11% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะที่จำนวนลูกค้าภายใต้โครงการรวบหนี้ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 17,000 ราย ณ สิ้นปีที่แล้ว สู่ระดับ 21,000 ราย โดยธนาคารสามารถช่วยให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวประหยัดดอกเบี้ยไปได้กว่า 1,400 ล้านบาท

นอกจากนั้นแล้ว ธนาคารยังได้เปิดตัวแคมเปญ “พิชิตหนี้” ซึ่งมุ่งช่วยพนักงานเงินเดือนลดภาระหนี้และปลอดหนี้ให้เร็วขึ้นอย่างยั่งยืน โดยได้ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือคนไทยให้ได้ 200,000 ราย ภายใน 3 ปี เป็นไปตามพันธกิจของธนาคาร และสอดรับกับหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

จากการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบ การดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด และการบริหารจัดการหนี้เสียในเชิงรุก ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารเป็นไปตามเป้าหมาย สามารถลดอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลงมาได้อย่างต่อเนื่องจาก 2.62% ณ สิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 2.56% ณ สิ้นไตรมาส 1 พร้อมยังคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในระดับสูงที่ 155%

อันดับ 7 คือ TISCO กำไร 5,334 ล้านบาท

กลุ่มทิสโก้ เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ของปี 2567 กำไรสุทธิ 1,733 ล้านบาท ลดลง 3.3% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า จากรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักที่ลดลง ขณะที่การตั้งสํารองหนี้เสียเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงตามแผนการเร่งขยายธุรกิจ High yield พร้อมให้ความช่วยเหลือดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม 

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2567 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 1,733 ล้านบาท ลดลง 3.3% จากไตรมาส 1 ของปีก่อนหน้า สาเหตุจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในกลุ่มธุรกิจหลักชะลอตัวลง ทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ที่ถูกกดดันจากภาวะตลาดทุนที่ยังไม่ฟื้น และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่อ่อนตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ที่ชะลอตัวตามยอดขายรถยนต์ในประเทศ อีกทั้ง ต้นทุนทางการเงินยังเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง และคาดว่าจะถูกกดดันต่อตลอดทั้งปี 

ในส่วนของสินเชื่อรวมขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% จากปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียน “สมหวัง เงินสั่งได้” โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทเพิ่มความรอบคอบและระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงติดตามและดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังเปราะบาง และคุณภาพลูกหนี้ที่อ่อนตัวลง บริษัทเพิ่มระดับการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) มาอยู่ที่ 0.5% ของสินเชื่อเฉลี่ย เพื่อรองรับความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ยังคงรักษาอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 20.9% 

อันดับ 8 คือ KKP กำไร 1,506 ล้านบาท

อันดับ 9 คือ CIMBTกำไร 626.1ล้านบาท

อันดับ 10 คือ LHFG กำไร  399.2 ล้านบาท


 

แชร์
กสิกร ครองแชมป์ 10 อันดับแบงก์กำไรสูงสุด