Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ธนาคารกลางเข้าซื้อทองคำแข็งแกร่ง ปัจจัยสำคัญหนุนราคาทองคำไตรมาส 1/2024
โดย : ฐิภา นววัฒนทรัพย์

ธนาคารกลางเข้าซื้อทองคำแข็งแกร่ง ปัจจัยสำคัญหนุนราคาทองคำไตรมาส 1/2024

2 มิ.ย. 67
01:00 น.
|
497
แชร์

ในวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา สภาทองคำโลก (World Gold Council : WGC) เปิดเผยรายงานสรุปภาพรวมตลาดทองคำโลกในช่วงไตรมาส1/2024 ซึ่งไฮไลท์ที่อยากทุกคนพิจารณา คือ ความต้องการซื้อทองคำสุทธิของกลุ่มธนาคารกลาง ที่นับว่าเป็นมีส่วนสำคัญต่อการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงเวลาดังกล่าว

ในปี 2022 และ 2023 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำอย่างแข็งแกร่งด้วยปริมาณมากกว่า 1,000 ตันต่อปี ซึ่งธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังคงเป็นธนาคารกลางผู้ซื้อทองคำสุทธิมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นที่ 287.09 ตัน ในช่วงระหว่างปี 2022 ถึง 2023 ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2024 PBOC แม้ PBOC มีการเข้าซื้อทองคำที่ 27.06 ตัน นับเป็นอันดับ 2 รองจากธนาคารกลางตุรกี (CBRT) ที่เข้าซื้อทองคำ 30.12 ตัน แต่กระนั้น หากเทียบการข้อมูลการซื้อทองคำสะสมนับตั้งแต่ปี 2022 แล้ว  PBOC ยังคงเป็นธนาคารกลางผู้เข้าซื้อทองคำสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก

ความจำเป็นของ PBOC ในการเข้าถือครองทองคำเพิ่มมากขึ้น มีแนวโน้มมาจากทั้งเหตุผลทางด้านการเมืองและทางด้านเศรษฐกิจ 

  • ประการทางด้านการเมือง คือ การเพิ่มการถือครองทองคำของ PBOC นั้น มาพร้อมกับการลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐ และการลดบทบาทของสกุลเงินดอลลาร์ในปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศ (International reserves) ซึ่งถือว่ามีส่วนช่วยสกัดอิทธิพลของทางการสหรัฐ เนื่องด้วยสกุลเงินดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐนั้น สามารถส่งผ่านผลกระทบจากทั้งการดำเนินนโยบายการคลังของฝั่งรัฐบาลสหรัฐ และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

    อีกทั้งสหรัฐและจีนถือเป็นประเทศคู่ขัดแย้งที่สำคัญ ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งสินทรัพย์สหรัฐของทางการจีน จึงมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกแช่แข็ง หากความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในระยะข้างหน้า ซึ่งประเด็นลักษณะนี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางของประเทศจำนวนหนึ่ง เข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

  • ส่วนประการทางด้านเศรษฐกิจ ดังที่กล่าวไปแล้วว่าสกุลเงินดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐนั้น สามารถส่งผ่านผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้ ซึ่งในระยะที่ผ่านมา สหรัฐเผชิฐกับภาวะเงินเฟ้อสูง ทำให้เฟดมีความจำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย หนุนการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ ขณะที่พันธบัตรสหรัฐถูกลดมูลค่าลงอย่างหนัก ตามอัตราผลตอบแทนของตราสารที่เร่งตัวสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง 

    istock-1218850265(2)

สถานการณ์ข้างต้นนับว่าได้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศภูมิภาคเอเชีย รวมไปถึงประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอื่นร่วมด้วย เนื่องด้วยค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า มีส่วนกดดันให้เงินสกุลอื่นอ่อนค่าลง ดันให้ค่าใช้จ่ายสินค้านำเข้าของประเทศต่างๆ สูงขึ้น อันเป็นผลให้เกิดการนำเข้าเงินเฟ้อ (Imported inflation) จึงอาจกล่าวได้ว่า ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงของสหรัฐ ได้สร้างความผันผวนทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนและด้านราคาให้กับประเทศอื่นด้วย

นอกจากนั้น พันธบัตรสหรัฐที่เสื่อมมูลค่าลง มีส่วนทำให้มูลค่าสุทธิของทุนสำรองระหว่างประเทศของหลายประเทศลดลงตามไป อย่างไรก็ดี การถือครองพันธบัตรที่เป็นเป็นตราสารหนี้ หากยังไม่ได้มีเทขายออกมาก่อนครบกำหนดไถ่ถอน มูลค่าที่เสื่อมลงไปดังกล่าวนับว่าไม่ใช่มูลค่าสูญเสียจริง แต่สำหรับประเทศอย่าง จีน ที่มีการควบคุมความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน มูลค่าการลดลงของสินทรัพย์ที่ถืออยู่ อาจส่งผลต่อการดำเนินกลยุทธ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยน และการบริหารทุนสำรองฯ

อนึ่ง แม้ว่าปัจจุบัน เฟดจะส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า แต่ด้วยความไม่แน่นอนต่อระยะการปรับลดดังกล่าว อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจเป็นธนาคารกลางชั้นนำแห่งสุดท้ายที่อาจตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงไปถึงช่วงไตรมาส 4/2024 ทำให้ปัจจุบัน ความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐนั้น นับว่ามีความผันผวนเป็นอย่างมาก ตามกระแสคาดการณ์ของนักลงทุนต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งค่าเงินสกุลอื่นก็ได้รับผลกระทบจากความผันผวนดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสกุลเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยจากประการด้านเศรษฐกิจนี้ นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้หลายประเทศเข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุผลจากที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น จึงไม่ใช่แค่ PBOC ที่เข้าซื้อทองคำด้วยปริมาณสูง แต่โดยภาพรวมแล้ว ธนาคารกลางในภูมิภาคตะวันออกกลางและภูมิภาคเอเชีย คือ กำลังซื้อทองคำหลักของกลุ่มธนาคารกลาง ในช่วงไตรมาส 1/2024 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นไตรมาส 1 ที่ธนาคารกลางมีการเข้าซื้อทองคำสุทธิที่ 289.72 ตัน สูงขึ้นจาก 286.21 ตัน ในไตรมาส 1/2023 และถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 2000

ทั้งนี้ คาดการณ์ของนักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ปชี้ว่า หากธนาคารกลางทั่วโลกยกระดับการเข้าซื้อทองคำจาก 1,000 ตันต่อปี สู่ระดับ 2,000 ตันต่อปี ราคาทองคำอาจมีการปรับตัวขึ้นถึงระดับ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ภายในปี 2025

อย่างไรก็ดี วายแอลจี ประเมินว่า แม้กลุ่มธนาคารกลางอาจไม่ได้ยกระดับการเข้าซื้อทองคำสู่ระดับดังกล่าว แต่หากยังรักษาการเป็นกำลังซื้อในตลาดทองคำที่แข็งแกร่งตลอดทั้งปีนี้ ขณะที่เฟดยังคงส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไป ราคาทองคำมีโอกาสสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 ที่ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กระนั้น ยังคงแนะนำให้นักลงทุนติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อทิศทางราคาทองคำ เพื่อประเมินสถานการณ์ในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง  

ฐิภา นววัฒนทรัพย์

ฐิภา นววัฒนทรัพย์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท YLG Bullion And Future จำกัด

แชร์

ธนาคารกลางเข้าซื้อทองคำแข็งแกร่ง ปัจจัยสำคัญหนุนราคาทองคำไตรมาส 1/2024