Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดแผน ‘ปุ้มปุ้ย’ ปลาประป๋องไทย สู่เวทีโลก เมื่อไทยส่งออกปลากระป๋อง อันดับ 2 ของโลก อันดับ 1 ในอาเซียน
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เปิดแผน ‘ปุ้มปุ้ย’ ปลาประป๋องไทย สู่เวทีโลก เมื่อไทยส่งออกปลากระป๋อง อันดับ 2 ของโลก อันดับ 1 ในอาเซียน

11 มิ.ย. 67
14:28 น.
|
2.0K
แชร์

pumpuitfex0010

เป็นที่รู้กันว่า เมื่อยามเศรษฐกิจถดถอย ข้าวยากหมากแพง พบเจอกับวิกฤตเงินเฟ้อ และหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ทำให้หลายๆ ครอบครัวต้องทำการรัดเข็มขัด จากการบริโภคอาหารปรุงสดใหม่ ก็เปลี่ยนเป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานราคาถูก และเก็บไว้ได้นานอย่าง มาม่า และ ปลากระป๋อง ทำให้หลายๆบ้านมักจะมีไว้ติดตู้เสมอเพื่อเป็นอาหารกันตาย

ทำให้ปลากระป๋อง นอกเหนือที่จะเป็นเมนูเพื่อนยามยากให้อิ่มท้องได้แล้วนั้น ปลากระป๋อง ยังกลายเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้นๆได้อีกด้วย แต่

โดยรู้จักจุดเริ่มต้นของปลากระป๋อง มูลค่าการส่งออกปลากระป๋องของไทยและชวนมารู้จักกับแบรนด์ ปุ้มปุ้ย ปลากระป๋องหน้ายิ้ม น้ำลาย 3 หยด ให้มากขึ้นกัน 

SPOTLIGHT ได้มีโอกาส Exclusive Interview กับคุณกุลเกตุ โตทับเที่ยง รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหาร บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด(มหาชน) หรือปุ้มปุ้ย

คุณกุลเกตุ โตทับเที่ยง รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหาร ปุ้มปุ้ย ได้ให้สัมภาษณ์กับ SPOTLIGHT ว่า “ปลากระป๋อง ถือเป็นอาหารที่สวนทางกระแสเศรษฐกิจ และเมื่อ เกิดอุทกภัย หรืออะไรที่เป็นวิกฤต ปลากระป๋องจะเป็นสินค้าที่เติบโตได้ดี ทำให้ในช่วงโควิด เราไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถทานอาหารนอกบ้านได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องกักตุนอาหารไว้”  

สำหรับภาพรวมของตลาดในต่างประเทศนั้น ปุ้มปุ้ยจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัว และสถานการณ์ความไม่สงบของสงครามความขัดแย้งทำให้กลุ่มประเทศในแต่ละภูมิภาคคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

แต่หากมองลงไปที่ผู้บริโภคนั้น ถือว่าผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลังสถานการณ์การแพร่รระบาดของ Covid-19 ที่กลับมาดำเนินชีวิตเป็น ปกติ ผู้บริโภคสามารถสรรหาทางเลือกใหม่ๆ ทำให้เราเองต้องปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ตลอดเวลา 

“เพราะปุ้มปุ้ย ไม่อยากเป็นแค่อาหารกระป๋อง แต่เราอยากเป็นอาหารที่ผู้บริโภคสามารถทานได้ตลอดทุกช่วงเวลา ทําให้เราพยายามนำเสนอปุ้มปุ้ยในหลากหลายรูปแบบ เช่น ขนม อาหารพร้อมทาน หรือ Topping เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุก GEN ที่มีความต้องการหลากหลาย” 

artboard1copy_253

รู้จักปุ้มปุ้ย แบรนด์ปลากระป๋องปลาหน้ายิ้ม น้ำลาย 3 หยด

แบรนด์ปลากระป๋องปุ้มปุ้ย ได้จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2522 หรือเมื่อ 45 ปีที่แล้ว โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 2 ล้านบาทด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลิตปลากระป๋องชั้นดี รสชาติอร่อยเพื่อทดแทน ไม่ต้องพึ่งพาลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ในเริ่มแรกได้ผลิตและจำหน่ายปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศฉลากสีส้ม และปลาปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศฉลากสีชมพู ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ปุ้มปุ้ย” และ “ปลายิ้ม” ด้วยกำลังผลิต 1 ล้านกระป๋องต่อปี จนทำให้ผู้บริโภคเริ่มรู้จักปุ้มปุ้ยสีส้มและปุ้มปุ้ยสีชมพู และในปีนั้นด้วย ความนิยมที่เพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคชาวไทย ปุ้มปุ้ย-ปลายิ้ม ได้ออกผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นในกลุ่มปลาปรุงรสนอกเหนือจากปลาในซอสมะเขือเทศ ที่เป็นที่รู้จักทั่วไป พร้อมกับเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

โดยแบรนด์ได้ต่อยอดออกสินค้าใหม่ ๆ มาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องปรุงรส (ปลาทอดรสเผ็ด, ปลาซาร์ดีนสับปรุงรส) รวมถึงแตกไลน์ไปยังสินค้าอื่น ๆ ได้แก่ ปลาราดพริก, หอยลายอบกรอบ

ส่วนโลโก้ปลาตัวอ้วนน้ำลาย 3 หยด มีที่มาที่ไปจาก คำว่า “ปุ้มปุ้ย” ถอดความจากภาษาจีน คำว่า ปุ่ยปุ๊ย แปลว่า อ้วนๆ กลมๆ สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี ทำให้การออกแบบโลโก้เป็นปลาตัวโต อ้วนกลม  ปลาปุ้มปุ้ยต้องมีน้ำลาย 3 หยด ถึงจะเป็นของแท้ รวมถึงยังเป็นโอโก้อมตะนิรันดรกาล ที่เจ้าของธุรกิจไม่ต้องคิดเปลี่ยนใหม่ เพราะตรึงตาผู้บริโภคคนไทยมายาวนาน

269762373_3062626110663910_15

ส่องแผนธุรกิจของปุ้มปุ้ย

1.รุกตลาดต่างประเทศ ทั้งประเทศคู่ค้า และประเทศเกิดใหม่

คุณกุลเกตุ โตทับเที่ยง ได้กล่าวอีกว่า “ ที่ผ่านมา ปุ้มปุ้ย ได้ส่งออกไปตลาดต่างประเทศมานานแล้วกว่า 30 ปี แล้ว แต่ตลาดหลักๆ คือ ทวีปเอเชีย หรือยุโรป อเมริกา ทั้งหมด 20 ประเทศ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังเป็นกลุ่มคนเอเชียที่อาศัยอยู่ต่างแดน” 

โดยประเทศมาเลเซีย บรูไน เเละฮ่องกง ยังคงเป็นตลาดหลัก แต่ปุ้มปุ้ยก็ยังมีแผนขยายตลาดไปยังประเทศใหม่ๆ โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่

  • กลุ่มประเทศที่มีคู่ค้า หรือตัวแทนอยู่แล้ว

โดยจะเป็นการเน้นการสร้าง brand awareness ทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่ม younger generation อย่างในภูมิภาคอเมริกา และยุโรป เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นไปที่รสชาติ Asian ไม่ใช่แค่รสชาติ ไทยอย่างเดียว โดยเจาะตลาดไปที่ ประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

โดยในปัจจุบัน Soft Power ของประเทศเกาหลีได้รับความนิยมต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้ง =ในแถบภูมิภาคอเมริกาและยุโรป ดังนั้น สินค้าที่เราเน้นจึงจะเป็นกลุ่ม paste และ ready to cook ที่ผู้บริโภคภูมิภาคนี้มีพฤติกรรมในการที่ได้ทำอาหารด้วยตนเอง 

ส่วนตลาดภูมิภาคเอเชียที่เป็นจุดแข็งของเรา แต่เราจะเน้นขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ไปทาง อาหารพร้อมทาน และ snack เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มองหาทางเลือก ด้านผลิตภัณฑ์อาหารที่สะดวก เน้นความรวดเร็วทดแทนการทำอาหารเอง แต่ต้องมีรสชาติที่อร่อย ซึ่งเรื่องความหลากหลายของรสชาติและความอร่อย ปุ้มปุ้ยเองเป็นผู้นำตรงนี้อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็น ความท้าทายท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง แต่ทางเราก็มั่นใจในการดำเนินการตามเป้าหมายที่วาง ไว้

pumpuitfex0057

  • กลุ่มประเทศเกิดใหม่

โดยเน้นการนำจุดแข็งในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาหารกระป๋องปรุงรสให้มีรสชาติ Customize ตามความต้องการของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ เพื่อมองหาตลาดใหม่ๆ ในภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ คุณกุลเกตุ ได้เล่าถึงสถานการณ์ของปุ้มปุ้ย ในช่วงเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในช่วงที่ผ่านมาว่า “ ปุ้มปุ้ยได้มีการส่งตลาดไปฝั่งตะวันออกกลางอยู่แล้ว สิ่งที่ปุ้มปุ้ยเจอกับปัญหาเรื่องของการขนราคาค่าขนส่งสูงขึ้น ระยะเวลาในการขนส่งยาวนานขึ้น เเละข้อจํากัดอื่นๆ ที่สูงขึ้น แต่ปุ้มปุ้ย ตอนนี้ก็ยังพอไปได้อยู่”

pumpuitfex0196

2.ออกผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค

ปุ้มปุ้ยได้มีการออกผลิตภัณฑ์อาหาร ให้หลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากประเภทปลากระป๋องปรุงรส (ปลาราดพริก) ที่เป็นสินค้าขายดีอันดับ 1 และปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ ที่เป็นสินค้าขายดีอันดับ 2

“เพราะปัจจุบันลูกค้าปรับเร็ว และเปลี่ยนเร็วมาก ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของเราก็ต้องปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจตามพวกเขา” คุณกุลเกตุ โตทับเที่ยง ได้กล่าวกับทีม SPOTLIGHT ทําให้ปุ้มปุ้ยเร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น 

  • หอยลายปรุงรส

: เน้นขยายตลาดในรูปแบบ Noodle topping/Salad topping Segment โดยจะมีการพัฒนารูปแบบ Packaging ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมการ รับประทานอาหารของคนทั่วโลกให้มากที่สุด

pumpuitfex0047

  • ซัมบัล

: ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลตอบรับดีเกินคาดจากคู่ค้าในมาเลซีย ซึ่งมีการพัฒนาสูตรได้ตอบโจทย์โดยการดึงรสชาติที่หลากหลายทางวัฒนธรรม มา Customize ตามประเทศนั้นๆ โดยมีแผนขยายมายังประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ถือเป็นตลาดใหญ่ของเรา

  • อาหารพร้อมทาน

: ที่มีการปรับรูปแบบเป็นรีทอร์ทเพาซ์ (retort pouch) หรือบรรจุภัณฑ์ ที่ปิดผนึกสนิท (hermectically sealed container) มีความแข็งแรง ทนต่อความร้อนและความ ดันสูงได้ สามารถใช้บรรจุอาหารที่ต้องการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนเหมือนกระป๋อง เพื่อตอบโจทย์ พฤติกรรมผู้บริโภคในต่างประเทศที่ไม่นิยมอาหารกระป๋อง

pumpuitfex0036

ส่องผลประกอบการ 5 ปี ย้อนหลัง

บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน)

ปี 2561

รายได้รวม 1,278,433,169 บาท

กำไร (ขาดทุน) สุทธิ 22,441,859 บาท  

ปี 2562

รายได้รวม 1,372,946,768 บาท

กำไร (ขาดทุน) สุทธิ 22,805,749 บาท

ปี 2563

รายได้รวม 1,547,182,565 บาท

กำไร(ขาดทุน)สุทธิ 40,730,377 บาท

ปี 2564

รายได้รวม 1,605,395,859 บาท

กำไร (ขาดทุน)สุทธิ 33,476,408 บาท

ปี 2565

รายได้รวม 1,468,449,684 บาท

กำไร (ขาดทุน) สุทธิ 13,282,109 บาท

s__38535177

จุดเริ่มต้นของปลากระป๋อง คือ ‘นโปเลียน’ 

เคยสงสัยกันไหมว่าปลากระป๋อง ผลิตภัณฑ์ถนอมอาหารที่แปรรูปจากปลาสด ที่ปัจจุบันเราๆได้เห็นจนชินตาตามร้านสะดวกซื้อชั้นนำ ที่มีปลาให้เลือกสรรหลากหลายอย่าง ซาร์ดีน ทูน่า แซลมอน หรือ แมกเคอเรล ถูกบรรจุในนํ้าเกลือ นํ้ามันพืช ซอสมะเขือเทศ หรือแม้แต่น้ำแร่ทั้งแบรนด์ของคนไทยและนำเข้าจากต่างประเทศ ใครกันที่เป็นคนคิดปลากระป๋องขึ้นมาคนแรก? ที่มาที่ไปคืออะไร ทำไมถึงต้องคิดค้นปลากระป๋อง?

ตำนานปลากระป๋องนั้น เริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ. 1795 หรือเมื่อ 229 ปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสขนส่งเสบียงไปให้แก่ทหารที่อยู่ไกล แต่ระหว่างการขนส่งอาหาร.นั้นกลับบูดเน่า ทางทหารจึงได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไปรายงานแก่นโปเลียน และเมื่อโปเลียนรับรู้ถึงปัญหา จึงได้สั่งว่า "หากผู้ใดสามารถคิดค้นอาหาร หรือวิธีการเก็บรักษาอาหารไว้ได้เป็นระยะเวลานานๆ และสะดวกต่อการขนส่ง เพื่อเป็นเสบียงให้กับกองทัพที่ต้องไปรบในที่ห่างไกลได้สำเร็จ เมื่อนำผลงานมาเสนอ ก็จะได้รับรางวัลจำนวน 12,000 ฟรังก์ (ประมาณ 5.25 ล้านบาท)"

หลังจากนั้นผ่านไป  15 ปี ก็มีชายคนหนึ่งชื่อ นิโคลัส อัพเพิร์ต (Nicolas Appert) ซึ่งมีอาชีพเป็นคนขายลูกกวาด ได้มานำเสนอวิธีการถนอมอาหารที่เขาคิดค้นขึ้นเอง นั่นก็คือการนำอาหารบรรจุไว้ในกระป๋องบรรจุลงในเหยือกแก้วแล้วไปต้มในน้ำเดือด ซึ่งทำให้สามารถเก็บรักษาอาหารไว้ได้นานเป็นปีโดยไม่บูดได้เป็นครั้งแรก โดยสามารถถนอมอาหารได้หลากหลายประเภท ตั้งแต่อาหารสด ผัก ผลไม้ หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ เขาจึงได้รับเงินรางวัลจากนโปเลียนและได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของอาหารกระป๋องของโลก (The Father of Canning) นั้นเอง

dexezcrvaaarhma

ไทย ส่งออกปลาประป๋อง มากที่สุด อันดับ 2 ของโลก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองเพียงแค่จีน) ส่งผลให้ประเทศไทยครอง 1 ในอาเซียน

โดยมูลค่าตลาดส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปของประเทศไทยไปยังตลาดโลก มีมูลค่าสูงถึง 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 351.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น ขยายตัว 22.7% ชิลี ขยายตัว 96.7% เปรู ขยายตัว 183.1% จีน ขยายตัว 25.7% กัมพูชา ขยายตัว 11.9% และฟิลิปปินส์ ขยายตัว 138.1% 

แบ่งเป็น

  • ปลาทูน่ากระป๋อง ขยายตัว 17.2% คิดเป็นสัดส่วน 51.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA
  • ปลาแปรรูป เช่น ปลาทูน่าที่ทำให้สุกแล้ว คาร์เวียร์ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล ขยายตัว 18.2% สัดส่วน 32.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA
  • ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ขยายตัว 8.4% สัดส่วน 4.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA
  • ปลากระป๋องอื่นๆ ขยายตัว 6.2% สัดส่วน 11.1% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA 

ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 931.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.6% จากปีก่อนหน้า ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ชิลี และเกาหลีใต้

ปัจจุบันไทยมี FTA กับคู่ค้า 18 ประเทศ โดยคู่ค้า 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปบางส่วนให้ไทย เช่น

  • ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าปลาซาร์ดีน แมคเคอเรลกระป๋อง และไข่ของปลาค็อด อัตรา 5%
  • เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าปลาซาร์ดีนกระป๋อง อัตรา 16% ทูน่ากระป๋อง ทั้งแบบในน้ำมันและต้มสุกแล้ว อัตรา 20% ปลาไหลแปรรูป และฟิชเพสต์ อัตรา 5%
  • อินเดีย เก็บภาษีนำเข้าทูน่าทุกประเภท และคาร์เวียร์ อัตรา 30%

นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลง RCEP เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีนำเข้าทูน่าต้มสุกในกระป๋องให้ไทยจนเหลือศูนย์ในปี 2579

อ้างอิง : วิจัยกรุงศรี 

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แชร์

เปิดแผน ‘ปุ้มปุ้ย’ ปลาประป๋องไทย สู่เวทีโลก เมื่อไทยส่งออกปลากระป๋อง อันดับ 2 ของโลก อันดับ 1 ในอาเซียน