เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ขายหุ้น Apple เกือบ 50% และเพิ่มการถือเงินสดเป็น 2.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับมุมมองของบริษัทต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ระบุในเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) ว่า บริษัทได้ถือครองหุ้น Apple มูลค่าเพียง 8.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffet) ซีอีโอ ได้ลดการถือครองหุ้นในบริษัทแอปเปิ้ลลงเกือบ 50% สิ้นสุด ณ ไตรมาสที่ 2/2567
เบิร์กเชียร์ได้ขายหุ้น Apple ไปประมาณ 390 ล้านหุ้นในไตรมาสนี้ นอกเหนือจากที่เคยขายหุ้นไปแล้วกว่า 115 ล้านหุ้นในช่วงไตรมาสที่ 1/2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากมูลค่าหุ้นของ Apple ในขณะนั้น เพิ่มสูงขึ้นถึง 23%
ทั้งนี้ เบิร์กเชียร์ มีเงินสดในบริษัทพุ่งสูงขึ้นถึงเกือบ 2.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 1.89 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 1/2567 โดยยังคงถือหุ้นอยู่ประมาณ 400 ล้านหุ้น มูลค่า 8.42 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567
โดยเบิร์กเชียร์มักถือครองเงินสดไว้ เมื่อไม่สามารถหาโอกาสการลงทุนที่ดีได้ และมักสะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เนื่องจากหลายคนมองว่า การกระทำของเบิร์กเชียร์ บ่งชี้ถึงสภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ล่าสุด ข้อมูลของรัฐบาล แสดงให้เห็นว่า การเติบโตของงานที่ช้าลงและอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ทำให้บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าว อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ก็จะทำให้ผลตอบแทนที่เบิร์กเชียร์ได้รับจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นลดลง
นอกจากนี้ Berkshire ยังใช้เงินสดในการซื้อหุ้นของตัวเองคืนน้อยลง โดยซื้อคืนเพียง 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2/2567 และไม่มีการซื้อเพิ่มเติมเลยในช่วงสามสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยจะยอมใช้เงินสดเพื่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมาก และสามารถทำเงินให้บริษัทได้มาก
ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม Berkshire ยังได้ขายหุ้น Bank of America ซึ่งเป็นหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของบริษัทไปแล้วมากกว่า 3.8 พันล้านดอลาร์สหรัฐฯ
ส่วนผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 3/2567 (เม.ย..-มิ.ย.) ของ Apple พบว่า รายได้อยู่ที่เกือบ 8.58 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 2.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.57 แสนล้านบาท
โดยยอดขายจาก iPad เพิ่มขึ้นมากถึง 24% เป็น 7.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ยอดขาย iPhone กลับลดลง 1% เป็น 3.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน ที่ยอดขายลดลง 6.5% เป็น 1.47 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันจากแบรนด์โทรศัพท์มือถือท้องถิ่น
ซึ่งบัฟเฟตต์ก็เป็นแฟนตัวยงของ Apple โดยเขาเคยกล่าวในการประชุมว่า เขาคาดหวังว่า Apple จะยังคงเป็นการลงทุนในหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของเบิร์กเชียร์
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่บัฟเฟตต์จึงขายหุ้น Apple ที่เบิร์กเชียร์ซื้อมาเมื่อกว่า 8 ปีที่แล้วออกไป ยังคงไม่มีข้อสรุป ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของบริษัท มูลค่าตลาด หรือข้อกังวลเรื่องการจัดการพอร์ตโฟลิโอก็ตาม เนื่องจากโดยปกติแล้ว บัฟเฟตต์ไม่ต้องการให้หุ้นตัวใดตัวหนึ่งเติบโตมากเกินไป)
แต่หุ้น Apple ที่เบิร์กเชียร์ถืออยู่ครั้งหนึ่งมีขนาดใหญ่จนครอบครองพอร์ตโฟลิโอหุ้นไปครึ่งหนึ่ง และการขายหุ้นในครั้งนี้ก็ดูสมเหตุสมผล เพราะอัตราภาษีของรัฐบาลกลาง 21% จากกำไร น่าจะเพิ่มขึ้น
Brian Mulberry ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอลูกค้าที่ Zacks Investment Management กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เบิร์กเชียร์ และนักลงทุนจำนวนมาก ต้องการเห็นหลักฐานเพิ่มเติมว่า การลงทุนใน AI ของ Apple จะคุ้มค่าด้วยการเติบโตของรายได้ และไม่เชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เร็วพอ
ที่ผ่านมา บัฟเฟตต์หลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นบริษัทเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ในช่วงอาชีพการงานของเขา ก่อนที่จะเข้าซื้อ Apple ในปี 2559 โดยได้รับอิทธิพลจากผู้ช่วยฝ่ายลงทุนอย่าง Ted Weschler และ Todd Combs ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ความชื่นชอบ Apple ของบัฟเฟตต์ มีมากจนเขาเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นอย่างมาก เพื่อให้เป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของเบิร์กเชียร์ และยังเรียกบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่งนี้ว่าเป็นธุรกิจที่สำคัญเป็นอันดับสองรองจากกลุ่มธุรกิจประกันภัยของเขา
โดยนักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น Apple ในวันนี้อย่างใกล้ชิด หลังเบิร์กเชียร์ลดสัดส่วนการถือครองหุ้น Apple ลงเกือบ 50%
ทั้งนี้ หุ้น Apple เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.69% ราคาล่าสุดอยู่ที่ 219.86 ดอลลาร์สหรัฐฯ และยังเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกด้วยมูลค่าตลาด 3.342 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนหุ้นเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ลดลงเล็กน้อง 0.8% เหลือเพียง 428.36 ดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่อันดับ 8 บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกด้วยมูลค่าตลาดประมาณ 9.22 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่มา Bloomberg, The Guardian, CNBC, Infoquest, Companies Market Cap