คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปีตามคาด ชี้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวตามที่คาดการณ์ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและส่งออก คาดอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบในช่วงปลายปี ด้านปัญหาหนี้ SMEs ยังน่าห่วง เพราะหดตัวจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ในวันที่ 21 สิงหาคม 2567 เผยว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
สำหรับเหตุผลการคงดอกเบี้ย กนง. เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ จากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปจะชะลอลงบ้างหลังขยายตัวดีในช่วงก่อนหน้า
ดังนั้น กรรมการส่วนใหญ่ จึงประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม
นายปิติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการส่งออกสินค้าบางกลุ่มยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนยังฟื้นตัวแตกต่างกัน โดยรายได้แรงงานในภาคการผลิตและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น ในระยะต่อไป กนง. จึงยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านต่ำจากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มชะลอลงตามผลผลิตที่ขยายตัวดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้แนวโน้มราคาหมวดพลังงานและอาหารสดไม่เร่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้านำเข้า
ทั้งนี้ กนง. มองว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 แต่ต้องติดตามการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
สำหรับภาวะการเงินของไทยในช่วงที่ผ่านมาโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง โดยตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวนจากมุมมองผู้ร่วมตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับแข็งค่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับลดลงตามการเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ กนง. พบว่าต้นทุนยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมทรงตัว โดยสินเชื่อในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์หดตัวส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้านสินเชื่อครัวเรือนชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลง ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน กลุ่มเปราะบางที่ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า
ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า ในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในช่วงถัดไป หนง. จะติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อต้นทุนการกู้ยืมและการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ กนง. ยังพบว่า สินเชื่อ SMEs หดตัวจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น กนง. จึงสนับสนุนมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งยังสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและมีส่วนช่วยให้กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) เกิดขึ้นต่อเนื่อง
กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ระบุว่า หลังการแถลงของกนง. ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทในปี 2567 อ่อนลงเพียง 0.2% โดย กนง. ระบุว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงหลัง ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับตัวลงตามทิศทางของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ สำหรับการประชุม กนง. ในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 16 ตุลาคม 2567 แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม ในรอบนี้จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันมีความเหมาะสมเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน กรุงศรีประเมินท่าทีของคณะกรรมการ กนง. ในวันนี้ แล้วเห็นว่า กนง. มีสัญญาณที่ระมัดระวังมากขึ้น โดยมีการระบุว่า ในอนาคตจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงด้านขาลงของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงคุณภาพสินเชื่อที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น กรุงศรียังคงเห็นว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป แต่ยอมรับว่ามีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอนด้านนโยบายของรัฐบาลใหม่เพิ่มเข้ามาเช่นกัน