ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างหนัก จากการที่นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เพราะกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังตัวเลขการจ้างงานออกมาแย่กว่าคาด อัตราว่างขึ้นเพิ่มขึ้นแตะระดับ 4.3% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นเพราะเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยช้าเกินไป
สภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ดูเลวร้ายลง ประกอบกับภาวะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น เทขายสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น ไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น เงินเยน เงินสวิสฟรังก์ และทอง ทำให้ดัชนีมูลค่าหุ้นทั่วโลกดิ่งเหว นำโดย Nasdaq ดัชนีหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ร่วงลงแล้วกว่า 7% ขณะที่ S&P 500 ลดลงแล้วกว่า 5%
ส่วนทางด้านของตลาดหุ้นเอเชีย นำโดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ในวันจันทร์ที่ผ่านมาร่วงลงมากกว่า 12% ขณะที่หุ้นไทยร่วงเกือบ 40 จุด หลุดแนวรับบริเวณ 1,281 จุดลงมา ถือเป็นการทำจุดต่ำสุดใหม่ในรอบเกือบ 4 ปี
ทั้งนี้ แม้ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ จะค่อนข้างน่าเป็นห่วง ก็ยังมีคำถามอยู่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจริงหรือไม่? และการที่หุ้นมีมูลค่าลดลงทั่วโลกนั้นเป็นเพราะนักลงทุนตื่นตูมเกินไปหรือไม่? เพราะการจะตัดสินว่าเศรษฐกิจแต่ละประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือยังนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน และดูแค่เพียงตัวเลขการจ้างงานไม่ได้
วันนี้ SPOTLIGHT จะพามาหาคำตอบ โดยได้รวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มาให้อ่านกัน เพราะตัวเลขที่เห็นอาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงก็เป็นได้
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานตัวเลขสหรัฐฯ ออกมาซบเซากว่าคาด โดยในเดือนกรกฎาคม ในสหรัฐฯ มีตำแหน่งงานเพิ่มเพียง 114,000 ตำแหน่ง น้อยกว่าความคาดหมายที่ 175,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นไปสูงถึง 4.3% ซึ่งทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราว่างงานสามเดือนอยู่ที่ 4.1% มากกว่าจุดต่ำสุดในช่วง 1 ปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 3.5% ถึง 50 bps
นี่ทำให้สถานการณ์ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ตรงกับเงื่อนไขของกฎ “Sahm Rule” ที่ชี้ว่าหากอัตราการว่างงานเฉลี่ยสามเดือนมากกว่าระดับที่ต่ำที่สุดใน 12 เดือน มากกว่า 50 bps ขึ้นไป เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
สภาวะนี้ทำให้หลายคนมองว่าเฟดปรับลดดอกเบี้ยช้าเกินไปจนตลาดแรงงานซบเซา และทำให้เศรษฐกิจเสี่ยงเข้าภาวะถดถอย เพราะภาวะว่างงานทำให้ประชาชนมีกำลังใช้จ่ายลดลง และส่งผลเป็นลูกโซ่ทำให้ธุรกิจต่างๆ ทำรายได้ได้น้อยลงไปด้วย
ทั้งนี้ แม้จะเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ นักวิเคราะห์ก็ยังมองว่า ตัวเลขนี้ไม่ได้สะท้อนว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึง Claudia Sahm นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้เป็นคนคิดกฎ Sahm Rule ด้วย เพราะมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายอยู่ และถ้าหากลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆ นี้ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถกลับลำจากขาลงได้
ขณะที่ Neil Shearing หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics ยังมองว่า ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ยังไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่นักลงทุนกังวล เพราะตัวเลขจ้างงานที่ลดลงน่าจะเป็นผลระยะสั้นจากเฮอร์ริเคน Beryl
นอกจากนี้ ตาม Sahm Rule อัตราการว่างงานที่เป็นภัยต่อเศรษฐกิจจะต้องเกิดจากการที่บริษัทเลย์ออฟพนักงาน แต่ในปัจจุบัน ปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ เพิ่ม คือ การที่มีคนเข้าตลาดแรงงานมากขึ้น และไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถหางานทำได้ทันท
Jay Bryson หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ Wells Fargo มองว่า แม้อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังจะสามารถเอาตัวรอดและเติบโตได้ในสภาวะปัจจุบัน ยกเว้นว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงรุนแรงที่กระทบกับเศรษฐกิจ เช่น ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น หรือวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์
ด้านฝ่ายวิจัยจาก Innovest X ระบุว่า เครื่องวัดต่างๆ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังห่างไกลจากภาวะถดถอย ไม่ว่าจะยึดตามคำนิยามของสำนักวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งนิยามว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือภาวะการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ กินเวลายาวนานหลายเดือน หรือนิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ GDP รายไตรมาสติดลบติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส
เพราะ ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2024 เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 1 และ 2.8% ในไตรมาสที่ 2 และแม้ปัจจุบัน ดัชนี LEI หรือ ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังเป็นลบอยู่ แต่ก็ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเมื่อปีก่อน
ส่วนตัวเลขส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว-สั้น หรือ Yield Curve แม้ปัจจุบันจะยังเป็นลบ ข้อมูลก็บ่งชี้ว่า ภาวะนี้ก็ใกล้กลับมาเป็นบวกมากขึ้น ซึ่งผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลงทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและภาคประชาชนดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ Innovest X มองว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงๆ ภาครัฐก็ยังมีช่องว่าเชิงนโยบายสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เช่น การลดดอกเบี้ยและทำ QE เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง
โดยหลังจากมีการรายงานตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ย่ำแย่ดังกล่าว นักวิเคราะห์มองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยเร็วและแรงมากขึ้น โดยจะลดถึง 50 bps ในเดือนกันยายน จากตอนแรกที่คาดว่าจะลดเพียง 25 bps โดย Jay Bryson คาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 50 bps สองครั้งในเดือนกันยายนและพฤศจิกายน และลดอีก 25 bps ในเดือนธันวาคม รวมทั้งหมด 3 ครั้งในปี 2024