Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สรุปกองทุนลดหย่อนภาษีปี 2567  และสิ่งที่เราควรถามตัวเองก่อนเลือกลงทุน
โดย : ถนอม เกตุเอม

สรุปกองทุนลดหย่อนภาษีปี 2567 และสิ่งที่เราควรถามตัวเองก่อนเลือกลงทุน

8 พ.ย. 67
14:57 น.
|
744
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

  • เลือกกองทุนให้ถูกประเภทกับเป้าหมายที่เราต้องการ และความเสี่ยงที่เรารับได้
  • ปีนี้มี 3 กองทุนที่เป็นทางเลือกให้เราใช้ลดหย่อนภาษีได้ TESG  SSF และ RMF
  • ทุกครั้งที่เกิดความผิดพลาดในการลงทุน ลองเช็คหนทางแก้ไขว่า ควรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อปรับผลตอบแทนและความเสี่ยงตามที่เรารับได้ในแต่ละช่วงเวลา

ปีนี้ลดหย่อนภาษีด้วยอะไรดี TESG หรือ SSF หรือ RMF แบบไหนดีกว่ากัน ? โค้งสุดท้ายลดหย่อนภาษีปลายปี 2567 แบบนี้ ผมมักจะได้ยินคำถามทำนองนี้บ่อย ๆ 

ก่อนจะไปตอบคำถามว่าซื้ออะไร ผมอยากชวนคุยในมุมของเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีก่อนครับ 

ตัวแรก คือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)

โดยเป็นกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance หรือ ESG) หรือ ลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (Sustainable Bond)  ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต.ครับ
โดยในปี 2567 กองทุน TESG มีการเปลี่ยนเงื่อนไขเพิ่มเติม ให้ซื้อได้ในจำนวนเงินที่มากขึ้นและถือครองในอายุที่น้อยลงตามนี้ครับ 

  • ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 300,000 บาท 
  • เงื่อนไขในการถือครองหลังจากซื้อไม่น้อยกว่า 5 ปี (เต็ม) 
  • ซื้อปีไหนสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น และไม่มีกำหนดจำนวนเงินซื้อขั้นต่ำ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน) 

ตัวที่สอง กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนเกษียณของเราครับ โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

  • ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายได้
  • ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไข สามารถผิดได้ไม่เกิน 1 ปี หรือที่เรียกกันว่า ปีเว้นปี)
  • ซื้อปีไหนสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น และไม่มีกำหนดจำนวนเงินซื้อขั้นต่ำ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน) 

ตัวสุดท้าย กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนลงทุนระยะยาวของเราครับ โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

  • ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี (เต็ม) 
  • ซื้อปีไหนสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น และไม่มีกำหนดจำนวนเงินซื้อขั้นต่ำ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน) 
  • ปี 2567 เป็นปีสุดท้ายของการซื้อกองทุน SSF (หากไม่มีการประกาศต่ออายุ หรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย) 

*การลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ  หมายถึง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

ตารางสรุปกองทุนลดหย่อนภาษี

ทีนี้มาถึงคำถามแล้วครับว่า แล้วควรเลือกตัวไหนดี ผมมีแนวคิดสั้น ๆ สามข้อให้พิจารณาครับ

 

  • กระแสเงินสดที่เรามี ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า สิ่งสำคัญในการลดหย่อนภาษีสำหรับกลุ่มนี้ คือ เงินที่เราจะใช้ไปเพื่อลดหย่อน ดังนั้นต้องเช็คให้ดีว่า เรามีเงินเพียงพอไหม และ เราสามารถคงเงินไว้ได้ตามเงื่อนไขลดหย่อนภาษีของการลงทุนแต่ละประเภทหรือเปล่า ซึ่งแต่ละคนมีวงเงินในการลดหย่อนภาษีแตกต่างกันไป 

 

 

  • เป้าหมายที่เราเลือก และ สินทรัพย์ที่เราลงทุน โดยหลักการแล้วกองทุนลดหย่อนภาษีกลุ่มนี้ถูกออกแบบให้เราสามารถเลือกตามเป้าหมายในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลาที่แตกต่างกัน และประเภทสินทรัพย์ในแต่ละกลุ่ม 

 

ดังนั้นสิ่งทีต้องตอบให้ได้ คือ เราเลือกจากแนวคิดแบบไหน และ ยอมรับผลของการเลือกของตัวเองได้หรือเปล่า เพราะสิ่งที่ผมมักจะได้ยินเสมอคือ กองทุนลดหย่อนภาษีกลุ่มนี้ดีกว่ากองทุนนั้น กองทุนนั้นดีกว่ากองทุนโน้น แต่ความเป็นจริงแล้ว กองทุนแต่ละกลุ่มถูกออกแบบในเป้าหมายที่แตกต่างกัน และ สินทรัพย์ที่แตกต่างกัน หรือถ้าให้พูดสั้น ๆ ก็คือ เลือกกองทุนให้ถูกประเภทกับเป้าหมายที่เราต้องการ และความเสี่ยงที่เรารับได้ครับ 

 

  • ลงทุนผิดได้ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งที่ต้องคิดคือ เราได้แก้ไขหรือไม่? หลายครั้งหลายคราวเรามักจะมองว่าการลงทุนครั้งนี้ต้องได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุด กองทุนที่เลือกลงทุนต้องไม่ขาดทุน หรือ ผลตอบแทนเป็นอย่างที่วางไว้ แต่ในชีวิตจริงก็มีหลายครั้งที่อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์

 

ดังนั้นผมมองว่า สิ่งที่เราควรยึดและใส่ใจจริง ๆ คือ เป้าหมายการเงินระยะยาวที่เรามี ทุกครั้งที่เกิดความผิดพลาดในการลงทุน ลองเช็คหนทางแก้ไขว่า ควรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เช่น สับเปลี่ยนกองทุน (ในประเภทเดียวกัน) เพื่อปรับผลตอบแทนและความเสี่ยงตามที่เรารับได้ในแต่ละช่วงเวลา หรือ การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เราเข้าใจมันจริง ๆ เพื่อผลประโยชน์ที่ได้รับในอนาคต ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าการลดหย่อนภาษีเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว

สุดท้ายแล้ว ก่อนจะลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีต่าง ๆ เราควรตอบคำถามเหล่านี้ให้ดี เพื่อที่เราจะได้ลงทุนด้วยความเข้าใจ และปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไรนั่นเองครับ...แต่ขอเป็นกำไรน่าจะดีกว่านะครับ (ฮา) 

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

แชร์
สรุปกองทุนลดหย่อนภาษีปี 2567  และสิ่งที่เราควรถามตัวเองก่อนเลือกลงทุน