ออมสินลุยธุรกิจน็อนแบงก์ ปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคล 1-4 หมื่นบาทต่อราย วันเดียวอนุมัติ เน้นดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด หวังช่วยเอสเอ็มอี-คนค้าขายเข้าถึงสินเชื่อในระบบ เล็งขอใบอนุญาตแบงก์ชาติต้นปี ’66
ถ้าใครเคยขอเงินกู้แบงก์แล้วไม่ได้ ไม่ว่าจะเพราะไม่ได้ทำงานประจำ ไม่มีหลักประกัน หรืออะไรก็แล้วแต่จะเข้าใจดีว่ามันเป็นเรื่องที่เจ็บปวด ทำให้ต้องหันไปกู้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่แบงก์ (น็อนแบงก์) เช่น บริษัทนาโนไฟแนนซ์ บัตรกดเงินสด ซึ่งก็จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หรือบางคนที่จำเป็นก็จะไปหาเงินกู้นอกระบบที่ง่ายกว่า แต่ดอกเบี้ยก็โหดกว่าอย่างมหาศาลเช่นกัน
ปัญหาเรื่องเงินกู้นอกระบบของคนตัวเล็ก และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ใช่แบงก์ (พีโลน) ที่เพดานดอกเบี้ยสูงถึง 25% นี่เอง ที่ทำให้แบงก์รัฐอย่าง "ออมสิน" ลงมาเล่นในตลาดพีโลน โดยใช้ความแข็งแกร่งในฐานะ "แบงก์รัฐ" กดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าตลาดได้
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปี 2566 ธนาคารจะเดินหน้าประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจนอนแบงก์อย่างเต็มตัว เพราะเห็นว่าดอกเบี้ยในตลาดส่วนนี้สูงเกินไป โดยมีเป้าหมายว่าการเข้าไปดำเนินธุรกิจในครั้งนี้ จะกดอัตราดอกเบี้ยต่ำลงมา
"จากเดิมที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ระดับ 25% จะลดลงมากว่า 5% โดยออมสินจะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 20%"
สำหรับการเดินหน้าประกอบธุรกิจดังกล่าวจะเป็นการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพิ่มอีก 1 แห่ง โดยช่วงต้นปี 2566 จะขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อประกอบธุรกิจน็อนแบงก์สินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ให้บริษัท มีที่ มีเงิน ถือหุ้น 100% หรือ ให้บริษัท มีที่ มีเงิน และออมสิน ถือหุ้นสัดส่วนอย่างละ 50% ก็ได้ หรือให้ออมสิน ถือหุ้น 49% และระดมทุนร่วมกับพาร์ทเนอร์ ใหม่อีก 50% ก็ได้ เป็นต้น
“การประกอบธุรกิจดังกล่าวนี้ ออมสินจะเข้าไปรับความเสี่ยงสูงขึ้น แต่ก็เป็นการช่วยคนที่เข้าไม่สินเชื่อ และหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ กลับเข้ามาอยู่ในระบบและเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอี ซึ่งจะเป็นการช่วยพ่อค้าแม่ค้า ที่ต้องการสินเชื่อ โดยจะเป็นธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อได้ภายในวันเดียว กรอบวงเงินในการอนุมัติประมาณ 10,000-40,000 บาท เป็นต้น“
อย่างไรก็ดี ออมสินยังมีข้อจำกัดในการเดินหน้าประกอบธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากธนาคารมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจจึงอาจจะเคลื่อนตัวได้ช้า แต่คาดว่าบริษัทจะสามารถดำเนินการจัดตั้งได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยขณะนี้ก็มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นมีในใจแล้ว ซึ่งรูปแบบจะเป็นการเน้นปล่อยสินเชื่อผ่านแอปที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ อนุมัติสินเชื่อภายใน1 วัน สู้กับกู้นอกระบบเป็นหลัก
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.65 ออมสินจะเริ่มให้บริการปล่อยสินเชื่อ digital lending ผ่านแอปพลิเคชั่น mymo ซึ่งเป็นหลักการ my credit ใช้พฤติกรรมจากลูกค้าที่เดินบัญชีออมสิน โดยปัจจุบันมีลูกค้าใช้แอป mymo อยู่แล้ว 13 ล้านราย ก็จะให้บริการในกลุ่มดังกล่าวนี้ ซึ่งระยะเริ่มต้นจะปล่อยสินเชื่อให้ 1 แสนรายแรกก่อน เพื่อเป็นการทดสอบระบบ กรอบวงเงิน 10,000-30,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน