ก.ล.ต. เปิดแถลงข่าวแจงปม บล.เอเชีย เวลท์ ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ตามที่กฎหมายกำหนด ชี้เป็นเพราะบริษัทนำเงินไปจ่ายสำนักหักบัญชีแทนลูกค้าจนขาดสภาพคล่อง พร้อมยื่นเดดไลน์ถึง 13 ก.พ. 2566 ให้เพิ่มเงินทุนให้ถึงเกณฑ์
เมื่อเวลา 16.30 น. วันนี้ (22 พ.ย.) โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกมาให้ข้อมูลและตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีที่ได้ออกประกาศสั่งให้ บล.เอเชีย เวลท์ โอนทรัพย์สินของลูกค้าไปยังบริษัทหลักทรัพย์อื่นภายใน 10 วันทำการ และระงับการดำเนินธุรกิจทั้งหมด จนกว่าจะเพิ่มเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital: NC) ให้ได้ตามเกณฑ์
โดยจากการแถลงข่าวเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหา ผลกระทบที่จะมีต่อลูกค้า และแผนการของ ก.ล.ต. ในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา สามารถสรุปได้โดยสังเขป ดังนี้
ทำไม บล. เอเชีย เวลท์ ไม่สามารถดำรงกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้?
ตามคำจำกัดความของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ คือ สินทรัพย์สภาพคล่องของบริษัทหลักทรัพย์หักด้วยหนี้สินรวมของบริษัทนั้น ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเพิ่มมาตรฐานเกี่ยวกับฐานะความมั่นคงทางการเงินของบริษัท และสร้างความมั่นใจว่าบริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องให้เพียงพอที่จะจ่ายคืนหนี้สินแก่ลูกค้าได้เมื่อบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน
ซึ่งตามกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. เมื่อเอาสินทรัพย์สภาพคล่องของบริษัทมาหักด้วยหนี้สินแล้ว บริษัทต้องมีสินทรัพย์สภาพคล่องเกินหนี้สิน 7%
อย่างไรก็ตามในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บล. เอเชีย เวลท์ ต้องนำสินทรัพย์สภาพคล่องของบริษัทไปนำจ่ายแก่สำนักหักบัญชี (Thailand Clearing House) แทนลูกค้าขาซื้อและขาขายที่ผิดชำระหนี้ ทำให้สินทรัพย์สภาพคล่องของบริษัทตกลงไปต่ำกว่ากำหนด จนเงินกองทุน “ติดลบเกิน 5 วัน” นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ดังที่ระบุในประกาศ
และทำให้ ก.ล.ต. ต้องเร่งระงับการทำธุรกิจทั้งหมดของบริษัท และให้บริษัทโอนเงินของลูกค้าไป บล. อื่น ตามที่ลูกค้าประสงค์เพื่อลดและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการที่บริษัทขาดความสามารถในการชำระหนี้
ใครจะได้รับผลกระทบบ้าง?
ในกรณีนี้ ถึงแม้การที่เงินกองทุนติดลบจะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการชำระหนี้ ก.ล.ต. กล่าวว่าเหตุการณ์นี้จะ “ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกค้า” เพราะตามหลักบริษัทหลักทรัพย์ต้อง “แยก” (segregate) ทรัพย์สินของลูกค้าออกมาไว้อีกบัญชีอยู่แล้ว และกองทุนสภาพคล่องนี้ “คิดจากทรัพย์สินสภาพคล่องของบริษัทเท่านั้น” ไม่ได้เอาทรัพย์สินของลูกค้ามาคิดรวม
ทำให้การที่กองทุนสภาพคล่องสุทธิติดลบในครั้งนี้จะส่งผลต่อฐานะทางการเงินของบริษัทเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า แต่ที่แนะนำให้ลูกค้าเร่งย้ายเงินออกมาจาก บล.เอเชีย เวลท์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการที่ บล. ขาดสภาพคล่อง และเพื่อให้ลูกค้านำทรัพย์สินของตนใน บล. เอเชีย เวลท์ ไปใช้ได้ในระหว่างที่บริษัทต้องหยุดดำเนินการ
ก.ล.ต. จะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหา?
ในเบื้องต้น ก.ล.ต. จะดำเนินการเร่งให้ บล.เอเชีย เวลท์ โอนเงินลูกค้าไป บล. อื่นตามที่ลูกค้าต้องการก่อนภายใน 10 วันทำการ หรือภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2565 โดยกล่าวว่า บล.เอเชีย เวลท์ มีหน้าที่แจ้งเตือนให้ลูกค้าดำเนินการขอย้ายเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด
จากนั้น บล.เอเชีย เวลท์ มีหน้าที่ต้องส่งแผนการเพิ่มเงินทุน และแก้ไขปัญหาสภาพคล่องภายในวันที่ 13 ธันวาคม และมีหน้าที่ต้องดำเนินการเพิ่มเงินในกองทุนสภาพคล่องสุทธิให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565
ก.ล.ต. ระบุว่า บล.เอเชีย เวลท์ อาจหาทางเพิ่มสินทรัพย์สภาพคล่องของตัวเองได้หลายทาง ทั้งการเพิ่มเงินลงทุน ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ หรือขายทรัพย์สินที่ไม่มีสภาพคล่องอื่นๆ (illiquid assets) เพื่อเปลี่ยนทรัพย์สินเหล่านั้นให้เป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง (liquid assets)
แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยว่า “ก.ล.ต. จะดำเนินการอย่างไรต่อไปหาก บล.เอเชีย เวลท์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสภาพคล่องได้ในระยะเวลาที่กำหนด”
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากถึงเวลาที่กำหนดแล้ว ก.ล.ต. พิจารณาเห็นว่าสถานะทางการเงินของ บล.เอเชีย เวลท์ ย่ำแย่ หรือตรวจสอบแล้วมีการกระทำผิดอื่นใดที่ทำให้ บล. ขาดคุณสมบัติที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีมาตรการเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อควบคุมความเสียหายที่จะมีต่อลูกค้าได้