สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งการประชุมธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ 3 แห่งที่ตลาดการเงิน ตลาดทุน และภาคเศรษฐกิจกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด เริ่มที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จัดการประชุมในวันที่ 13-14 มิ.ย. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดการประชุมในวันที่ 15 มิ.ย.และปิดท้ายด้วยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะจัดการประชุมวันที่ 15-16 มิ.ย.นี้
สถานการณ์โควิดนโยบายการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดอยู่ในระดับต่ำ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจแต่หลังจาก นั้นโลกต้องเผชิญกับปัญหาสงครามรัสเซีย ยูเครน ที่ดันราคาพลังงานพุ่งกระฉูดจนข้าวของแพงเงินเฟ้อสูง จึงทำให้หลายประเทศใช้ดอกเบี้ยสูงมาสกัดเงินเฟ้อกันตลอดปี 2565
คำถามคือ ปัจจุบันเงินเฟ้อเริ่มชะลอลงบ้าง?แต่น่าไว้ใจแค่ไหน? และถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเห็นการหยุดขึ้นดอกเบี้ย? ซึ่งทั้ง 3 ธนาคารกลางก็มีการใช้นโยบายการเงินต่างกัน เพราะเงินเฟ้ออาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่สุดของบางประเทศ
ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ถูกจับตามองมากที่สุดเพราะเฟดขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 10 ครั้ง ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมาหรือตั้งแต่มีนาคม 2565 จนปัจจุบันดอกเบี้ยของเฟดอยู่ที่ 5 - 5.25% ในการประชุมครั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group มีข้อมูลว่า บรรดานักลงทุน 72.4% เชื่อว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิม 5.00-5.25% และมีเพียง 27.6%เท่านั้นที่เชื่อว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 28,000 ราย สู่ระดับ 261,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 235,000 ราย ซึ่งบ่งชี้ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในทางบวก
อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ หรือ CPI ของสหรัฐฯที่จะออกมาในวันอังคารก่อนหน้าเฟดเพียงแค่ 1 วันเท่านั้นนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไปและดัชนี CPI พื้นฐานจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด
ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 7 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ส่วนในการประชุมสัปดาห์นี้ถูกสำนักข่าวรอยเตอร์สำรวพบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายที่จะขึ้นดอกเบี้ยคือ 27 ก.ค.ก่อนที่จะพักการดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งนางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ระบุว่า จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของ ECB
ปิดท้ายที่การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ซึ่งถูกคาดการณ์ว่า จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในการประชุมวันที่ 15-16 มิ.ย.โดยมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับ 0%
ทั้งนี้เพราะสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ตรงกันข้ามกับสหรัฐและยุโรป เพระาเงินเฟ้อญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มว่าจะลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% โดยนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ เน้นย้ำก่อนหน้าว่ามีความจำเป็นในการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำพิเศษ จนกว่าค่าจ้างจะมีการขยายตัวอย่างยั่งยืนพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคา ซึ่งมีโอกาสมากขึ้นที่ BOJ จะปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในการทบทวนรายไตรมาสที่จะมีขึ้นในเดือนก.ค.