ตีแผ่! ต้นเหตุ งบการเงิน STARK ขาดทุนย่อยยับปี 2565 ขาดทุนสะสม 10,378 ล้านบาท จากปี 2564 ขาดทุน 5,989.3 ล้านบาท ปรับปรุงงบปี 64 ใหม่ที่เคยมีกำไรสุทธิ 2,783.1 ล้านบาท พบงบการเงินมีความผิดปกติเพียบ
บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STARK ได้แจ้งงบการเงินปี 2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อกลางดึกของวันที่ 16 มิ.ย.2566 ซึ่งเป็นเดทไลน์ของ SET ได้สร้างความตกใจและสั่นสะเทือนวงการเงินเป็นอย่างมาก
เมื่อตัวเลขงบการเงินออกมามีความผิดปกติหลายอย่าง ทำให้มีการปรับปรุงแก้ไขงบการเงินใหม่ ตั้งแต่ปี 2564 ที่เคยประกาศมีกำไรสุทธิ 2,783.1 ล้านบาท เป็นขาดทุนสุทธิ 5,989.3 ล้านบาท และปี 2565 มีผลขาดทุนสุทธิ 6,651.1 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 11.04% จากปีก่อน
เมื่อมาวิเคราะห์งบการเงินดีๆ จะพบว่า ในปี 2564 ที่ได้มีการตรวจสอบงบการใหม่ ทำให้เห็นว่า มีตัวเลขหลายตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้
- กำไร (ขาดทุน) สุทธิ จากเดิม กำไรสุทธิ 2,794.9 ล้านบาท แก้ไขใหม่ เป็น ขาดทุนสุทธิ 5,989.3 ล้านบาท
- กำไร (ขาดทุน) ต่อหุ้น จากเดิม กำไรต่อหุ้น 0.2338 บาท แก้ไขใหม่ เป็น ขาดทุนต่อหุ้น 0.5270
- รายได้จากการขาย จากเดิม 25,217.2 ล้านบาท แก้ไขใหม่ ลดลงเป็น 17,486.6 ล้านบาท
- รายได้จากการให้บริการ จากเดิม 1,828.8 ล้านบาท แก้ไขใหม่ ลดลงเป็น 1,568.4 ล้านบาท
- มีรายได้อื่นเพิ่มเติมมาอีก 85 ล้านบาท
ขณะที่งบการเงินปี 2565 ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ที่ 6,651.1 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 11.04% จากปีก่อน ซึ่งได้รวมค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อีกจำนวน 3,473 ล้านบาท สาเหตุหลัก คือ
- รายได้จากการขาย เพิ่มขึ้น 33% จากปีก่อน เหตุมาจากราคาขายที่ปรับตัวสูงขึ้น และยอดคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
- ต้นทุนการขายโดยรวมเพิ่มขึ้น 15% สาเหตุมาจากการใช้วัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ทองแดงและอลูมิเนียม
- ค่าใช่จ่ายโดยรวม เพิ่มขึ้น 28% มาจากต้นทุนการขายและต้นทุนการให้บริการที่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนสูงถึง 83% รองลงมา คือ ค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนด้านเครดิต สูงถึง 3,472 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81% เพราะมีการสำรองด้อยค่าของเงินลงทุนของบริษัทย่อยในไทยและเวียดนาม และเวลาการเรียกเก็บหนี้ยาวนานมากขึ้น
- กำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงาน ที่ประสบปัญหาขาดทุนในปี 2564 จำนวน 4,334 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 4,837 ล้านบาท ผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบหลักที่ผันผวน และไม่สามารถส่งผ่านไปยังลูกค้าได้ทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อเป็นสินค้าคงคลัง ขณะที่บริษัทเองก็ไม่ได้ทำสัญญาลดภาระความผันผวนของราคาวัตถุดิบไว้ ทำให้กระทบต่อกำไรของแต่ละคำสั่งซื้อจากลูกค้าจำนวนมาก
- ต้นทุนทางการเงิน เพิ่มขึ้น 51% ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยจ่ายหุ้นกู้ เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและเจ้าหนี้ทรัสต์รีซีทส์ที่เพิ่มขึ้น ภาระหนี้จากการออกหุ้นกู้
- ขาดทุสุทธิ เพิ่มขึ้น 11% ผลจากการขาดทุนจากการดำเนินงาน การตั้งสำรองการด้อยค่าทรัพย์สินและเงินลงทุน ผลขาดทุนด้านเครดิตจากลูกค้า และเงินให้กู้ยืมระหว่างกัน รวมถึงการขาดทุนจากสินค้าสูญหาย
ขณะที่สินทรัพย์รวม อยู่ที่ 34,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% แต่ต่ำว่าหนี้สินที่มี 38,566 ล้านบาท ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้น ติดลบ 4,403 ล้านบาท
โดยรายงานการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ในระยะแรก ของบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ เอบีเอเอส จำกัด ภายหลังจากผู้ตรวจสอบบัญชีได้ตรวจพบพฤติการณ์ที่น่าสงสัยในการดำเนินงานและปฎิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 89/25 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
ทั้งนี้ ได้ทำการเข้าตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ในเดือนมีนาคม 2566-เมษายน 2566 ได้เข้าตรวจสอบรายการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับบัญชีลูกหนี้การค้าที่ผู้สอบบัญชีได้รับหนังสือยืนยันยอดที่แตกต่างกัน เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าจำนวนเงินสูงผิดปกติ เอกสารแจ้งหนี้ (invoices) ที่มีมูลค่าและจำนวนมากเป็นพิเศษ สินค้าคงคลังสูญหาย และรายงานการวิเคราะห์อายุลูกหนี้ที่ไม่ถูกต้อง
โดยสามารถสรุปผลการตรวจสอบ ได้ดังต่อไปนี้
- มียอดขายที่ผิดปกติ จำนวน 202 รายการ คิดเป็นมูลค่าขาย 8,063 ล้านบาท ในปี 2565 และมูลค่าขาย 3,593 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งพบรายการขายผิดปกติ ได้ตรวจพบจากการยืนยันยอดที่ถูกต้องกับลูกค้า การตรวจสอบการชำระเงิน ลักษณะการจ่ายเงินที่ไม่ปกติ การปลอมแปลงชื่อผู้จ่ายเงิน และการจ่ายเงินจากบัญชีอดีตเจ้าหน้าที่ของบริษัทแทนลูกค้า
- มียอดสินค้าคงคลังผิดปกติ โดยพบว่า ณ วันสิ้นงวด มีรายการสินค้า ทั้งรายการสินค้าระหว่างทำ วัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จ และมียอดรายการสินค้าติดลบในระบบสารสนเทศของบริษัท จำนวน 3,140 รายการ
- รายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ไม่ถูกต้อง พบว่า มีการคำนวณระยะเวลาคงค้างแตกต่างกัน ทำให้อายุลูกหนี้มีระยะเวลาน้อยกว่าความเป็นจริง และพบว่ามีความผิดปกติทุกไตรมาสในปี 2565
- เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า (Advance payments) ผิดปกติ โดยได้มีการตรวจสอบ ณ 31 ธันวาคม 2565 พบว่า บริษัทได้ทำการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าล่วงหน้า โดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย ผู้ขายวัตถุดิบจากต่างประเทศในสกุลเงินบาท เป็นเงินถึง 7,976 ล้านบาท ถือว่าเป็นยอดที่ผิดปกติมาก เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้าเป็นจำนวนมากเช่นนี้มาก่อน
เมื่ออยู่ระหว่างการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ต้องใช้ระยะเวลา STARK จึงได้ยื่นขอต่อนายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอขยายระยะเวลาตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงาน ก.ล.ต.ให้ขยายผลเพิ่มเติม (extended-scope special audit) เนื่องจากการดำเนินการตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จ จึงขอขยายระยะเวลาอีก 30 วัน หรือขยายระยะเวลาจนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2566
โดยมีความคืบหน้าในการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ ดังนี้
- STARK ยังไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของ STARK ได้ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคาร จำนวน 5 บัญชี จากทั้งหมด 7 บัญชี ซึ่งตรวจสอบไปแล้วประมาณ 60% ซึ่งบริษัทประสบปัญหาในการขอรายการเดินบัญชี (bank statment) จากบางธนาคาร เนื่องจากเอกสารที่ได้รับมาไม่เพียงพอในการตรวจสอบข้อมูลความเชื่อมโยงรายการระหว่างผู้รับเงินและผู้จ่ายเงิน เพราะเจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่าไม่สามารถให้ข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทำให้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการดังกล่าว
- บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ PDITL ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่ทำธุรกิจผลิต ธุรกรรมการซื้อ-ขายสายไฟฟ้า และสายเคเบิ้ลให้แก่ลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีเอกสารจำนวนมาก โดยปี 2565 มีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขายประมาณ 4,600 ชุด (ไม่รวมเอกสารประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง) บริษัทไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของ PDITL ได้เช่นกัน ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบความเชื่อมโยงรายการระหว่างบัญชีผู้รับเงินและผู้จ่ายเงินจากธนาคารที่เกี่ยวข้อง จำนวน 7 แห่ง จากทั้งหมด 9 แห่งสำหรับการตรวจสอบนั้น ผู้สอบบัญชีตรวจพบธุรกรรมที่อาจจะผิดปกติที่เกี่ยวกับการขายสินค้า ซึ่งขณะนี้ตรวจสอบไปแล้วประมาณ 20% ของข้อมูลทั้งหมด คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบธุรกรรมและยังไม่สามารถสรุปรายการที่ผิดปกติได้
- บริษัท อดิศรสงขลา จำกัด หรือ ADS บริษัทยังไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของ ADS ได้ เนื่องด้วยปัญหาเกี่ยวกับการขอรายการเดินบัญชีของ ADS จากบางธนาคาร ซึ่งผู้สอบบัญชี พบ ความแตกต่างระหว่างรายได้ค้างรับตามงบทดลองของบริษัท และรายได้ค้างรับที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งตรวจสอบไปแล้วประมาณ 30% ของข้อมูลทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบได้
- บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ TCI เป็นบริษัทย่อย ซึ่งยังประสบปัญหาเรื่องการขอรายการเดินบัญชีเช่นเดียวกัน ซึ่งตรวจสอบไปแล้วประมาณ 20% ของข้อมูลทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบได้
ทั้งนี้ ADS และ TCI มีที่ตั้งสำนักงาน ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา และสมุทรสาคร จึงต้องใช้เวลาในการรวบรวมเอกสาร อีกทั้ง ประสบปัญหาเรื่องพนักงานบัญชีมีจำนวนน้อย และระบบบัญชีและการจัดเก็บเอกสารที่แตกต่างกัน ทำให้ได้มีการจ้างพนักงานชั่วคราวเข้ามาช่วยรวบรวมเอกสาร เพื่อแก้ปัญหานี้แล้ว
ก.ล.ต.จี้ผลตรวจสอบกรณีพิเศษยังไม่ครอบคลุมที่สั่งไว้
ก.ล.ต.ชี้จากรายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินรวมของ STARKในประเด็นต่าง ๆ หลายประเด็น และผลการตรวจสอบ special audit ระยะแรก ซึ่งได้แสดงข้อมูลยอดขายที่ผิดปกติ ยอดสินค้าคงเหลือที่ผิดปกติ รายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง และเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าผิดปกติ ทำให้มีรายการปรับปรุงที่สำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2565 และการปรับปรุงรายการย้อนหลังไปยังงบการเงินของปีก่อนหน้าปี 2565
ก.ล.ต. จึงขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาศึกษาที่เกี่ยวข้องข้อมูลดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของ STARK จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566
ในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในกระบวนการตรวจสอบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
และหากพบว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก.ล.ต. จะดำเนินการตามกฎหมายตามกระบวนการต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการประสานความร่วมมือระหว่างกันด้วยแล้ว
นอกจากนี้ เนื่องจากผลการตรวจสอบ special audit ยังไม่ครอบคลุมขอบเขตการตรวจสอบตามที่ ก.ล.ต. สั่งการไว้ทั้งหมด ซึ่ง STARK ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจสอบ special audit เป็นวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เนื่องจากยังมีข้อมูลที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม โดย ก.ล.ต. จะได้พิจารณาคำขอดังกล่าวต่อไป