การเงิน

ผู้จัดการกองทุนมองครึ่งปีหลังศก.ไทยขยายตัว คาดขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%

31 ก.ค. 66
ผู้จัดการกองทุนมองครึ่งปีหลังศก.ไทยขยายตัว คาดขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เผยผู้จัดการกองทุนในภาพรวมมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศภายหลังจากการเลือกตั้ง โดยคาดว่าการเติบโตของ GDP จะเป็นปัจจัยบวกที่มีอิทธิพลต่อการลงทุนในประเทศ จึงคาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกเล็กน้อยไปอยู่ที่ระดับ 2.25% ณ สิ้นปี 2566  

สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกในระยะ 1 ปีข้างหน้านั้น ส่วนใหญ่เชื่อว่าในภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะทรงตัวหรือชะลอตัวลงเช่นเดียวกับการสำรวจมุมมองครั้งก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และอัตราการเติบโตของ GDP ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ส่วนใหญ่ชะลอตัวลง ลงได้ในระยะถัดไป รวมทั้งเศรษฐกิจโลกน่าจะได้แรงหนุนจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะปรับตัวได้ดีขึ้นระยะข้างหน้า 

สอดคล้องกับรายงานของ SCB CIO ที่เปิดเผยว่า ปรากฎการณ์อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว (disinflation) เริ่มปรากฎในหลายประเทศ ดังจะเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในหลายประเทศทั่วโลกที่เริ่มชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะในไตรมาสที่ 2 โดยในเดือน ก.ค. ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 3% จากระดับสูงสุด 9.1%  และไทยอยู่ที่ 0.2% จากระดับสูงสุด 7.9%

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market) ยังชะลอลงช้าและอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเงินเฟ้อในภาคบริการยังอยู่ในระดับสูงตามความแข็งแกร่งในการฟื้นตัวของภาคธุรกิจนี้ โดยเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.ค. ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 4.8% จากระดับสูงสุด 6.6% และไทยอยู่ที่ 1.3% จากระดับสูงสุด 3.2 % 

จากแนวโน้มเงินเฟ้อและเศรษฐกิจดังกล่าว SCB CIO คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะจบรอบการขึ้นดอกเบี้ย แต่จะคงดอกเบี้ยไว้ในระดับ 5.5%ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอ และจากแนวโน้มเงินเฟ้อและดอกเบี้ยดังกล่าวน่าจะทำให้ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ เริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด เช่นกัน ยกเว้น ธนาคารกลางยุโรปและอังกฤษที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 4% และ 5.75% ตามลำดับ 

ทางด้านเศรษฐกิจจีนพบฟื้นตัวช้ากว่าคาดในไตรมาสที่ 2/2023 ทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นแบบเฉพาะเจาะจงในช่วงครึ่งหลังของปี สะท้อนจากท่าทีล่าสุดของการประชุม Politburo ปัจจัยเสี่ยงที่เริ่มสูงขึ้นคือหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นที่ครบกำหนดชำระค่อนข้างมากในช่วง ส.ค.-ก.ย. ที่มียอดรวมกว่า 24% ของยอดทั้งหมดของปี  2023 ที่มีแนวโน้มทำให้ภาครัฐน่าจะขอความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐให้เข้ามาช่วยซื้อพันธบัตรเหล่านี้  

 

AIMC เน้นลงทุนบอนด์ระยะสั้น-กลาง หุ้นใหญ่

จากแบบสอบถาม AIMC พบว่าผู้จัดการกองทุนยังมองว่าการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ทั่วโลกมีมุมมองภาพรวมเชิงบวก โดยให้น้ำหนักไปที่ตราสารหนี้ระยะปานกลางถึงยาวของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและจีน 

ส่วนการลงทุนในหุ้นทั่วโลกมีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) โดยกรณีลงทุนจะเน้นลงทุนเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ (large Cap) ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ สำหรับประเทศที่น่าสนใจลงทุนในหุ้น ได้แก่สหรัฐอเมริกา จีนและญี่ปุ่น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคทั้งสินค้าพื้นฐานและฟุ่มเฟือย กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ และกลุ่มบริการทางการแพทย์เป็นกลุ่มที่มีความโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น 

ในส่วนของสินทรัพย์การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกยังคงให้น้ำหนักปานกลางถึงน้อยลง โดยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานและน้ำมันดิบ เป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความสนใจ

 

SCB CIO แนะหุ้นจีน A-Share รับอานิสงส์มาตรการกระตุ้นศก. ครึ่งปีหลัง

ส่วนทางด้าน SCB CIO แนะนำ Neutral หุ้นสหรัฐฯ และทยอยขายหุ้นกลุ่ม Tech สับเปลี่ยนเข้าหุ้น defensive) และ Slightly Negative หุ้นยุโรปจากผลของเงินเฟ้อยืดเยื้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังขึ้นต่อ 

สำหรับตลาดหุ้นที่ Valuation ยังถูกมักมีปัจจัยความเสี่ยงกดดัน เช่น ตลาดหุ้นจีน ไทย และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม จึงแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นจีน A-share เพราะรัฐบาลจีนมีแนวโน้มสูงที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงในช่วงครึ่งหลังของปี และหุ้นไทย เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายเริ่มลดลง  

สำหรับหุ้นจีน H-share SCB CIO ได้มีการปรับมุมมองเป็น Neutral จากความกังวลประเด็นหุ้นกลุ่มธนาคาร (18% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด) ที่ผลประกอบการอาจถูกกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยและการเข้าช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงหุ้นกลุ่ม Tech (37% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด) จากความเสี่ยงด้าน Tech war ที่ยังคงมีอยู่ค่อนข้างสูง

advertisement

SPOTLIGHT