การเงิน

Negative Income TAX แนวคิดภาษีที่คืนเงินให้กับคนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์

8 ก.ย. 67
Negative Income TAX แนวคิดภาษีที่คืนเงินให้กับคนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์
ไฮไลท์ Highlight
ต้องบอกว่า Negative Income Tax (NIT) หรือ ภาษีเงินได้ติดลบ เป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง Milton Friedman หากเป้าหมายของรัฐคือการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยคือการเพิ่มรายได้โดยตรง วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการให้เงินช่วยเหลือผ่านระบบภาษี 

เมื่อไม่มีสัปดาห์ที่ผ่านมา นโยบาย Negative Income Tax (NIT) ได้ถูกกล่าวถึงในวงการเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวถึงนโยบายนี้ในงาน Vision for Thailand 2024 วันที่ 22 สิงหาคม 2567 ในประเด็นที่พูดถึงเรื่องของ “ความเป็นธรรมของการปรับปรุงนโยบายภาษี” 

ต้องบอกว่า Negative Income Tax (NIT) หรือ ภาษีเงินได้ติดลบ เป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง Milton Friedman หากเป้าหมายของรัฐคือการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยคือการเพิ่มรายได้โดยตรง วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการให้เงินช่วยเหลือผ่านระบบภาษี 

milton_friedman
Milton Friedman
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Milton_Friedman

หรือพูดง่าย ๆ ว่า ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับที่รัฐกำหนดไว้จะได้รับเงินโอนจากรัฐบาลแทนที่จะจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยรัฐบาลจะจ่ายเงิน (ภาษี) เพิ่มเติมกลับไปให้จนกว่ามีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชึพ ซึ่งมีเงื่อนไขที่เกี่ยวพันกันตรงที่ว่า ต้องมีข้อกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อให้ทราบข้อมูลว่า ใครมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำ) เมื่อตรวจสอบพบแล้ว รัฐบาลจะโอนเงินช่วยเหลือกลับไปตามอัตราการชดเชยที่กำหนด และอาจจะมีการปรับลดสัดส่วนของอัตราชดเชยดังกล่าวได้ 

ยกตัวอย่างเช่น รัฐกำหนดเกณฑ์ของเส้นความยากจน คือ 100,000 บาท โดยถ้าหากใครมีเงินได้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด จะได้รับเงินโอนในอัตรา 50% ของจำนวนเงินที่ต่ำกว่าระดับนี้ 

หากนายบักหนอมมีรายได้อยู่ที่ 60,000 บาทต่อปี เขาจะได้รับเงินโอน 20,000 บาท (40,000 x 50%) เพื่อให้รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 บาท (60,000 + 20,000)

แต่ถ้านายบักหนอมมีรายได้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 100,000 บาทต่อปีเมื่อไร อัตราการโอนเงินจะลดลงเหลือ 20% โดยรัฐจะหยุดโอนเงินให้เมื่อมีรายได้ขั้นต่ำถึง 200,000 บาท 

ดังนั้นถ้านายบักหนอมมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 150,000 บาทต่อปี เขาจะยังได้รับเงินชดเชยอยู่ที่ 10,000 บาท (50,000 x 20%) เพื่อให้รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 160,000 บาท (150,000 + 10,000)

อย่างไรก็ดีแนวคิดดังกล่าวนั้น ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เคยถูกหยิบยกมาพูดถึงในหัวข้อชื่อ “เงินโอน แก้จน คนขยัน : Negative Income Tax” ผ่านการศึกษาและนำเสนอจากสำนักเศรษฐกิจการคลังในการประชุมสัมมนาประจำปี 2557 โดยนำเสนอตามหลักการว่า การนำนโยบาย Negative Income Tax มาปรับใช้ในประเทศไทยควรคำนึงถึงเงื่อนไขสามด้านที่มีความสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย การกำหนดเกณฑ์รายได้ที่เหมาะสม การคำนวณภาระทางการคลัง และการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ 

  1. เกณฑ์รายได้ที่เหมาะสม หนึ่งในความท้าทายสำคัญของประเทศไทย ในการนำ NIT มาใช้คือการกำหนดเกณฑ์รายได้ที่จะทำให้ประชาชนสามารถรับประโยชน์จากนโยบายนี้อย่างเหมาะสม ในบริบทของประเทศไทยซึ่งมีรายได้เฉลี่ยที่ไม่สูงนัก การกำหนดเกณฑ์รายได้ที่ต่ำเกินไปอาจทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ไม่ได้รับสิทธิ์ ในขณะที่การกำหนดเกณฑ์สูงเกินไปอาจเป็นภาระงบประมาณมหาศาลเช่นเดียวกัน

  2. การคำนวณภาระทางการคลัง เมื่อมีการนำเงินไปใช้ตามนโยบาย NIT จะทำให้รัฐบาลมีภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้น การคำนวณงบประมาณที่เหมาะสมในการโอนเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยจึงมีความสำคัญ หากการคำนวณไม่แม่นยำ งบประมาณอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ รวมถึงต้นทุนในการทำให้ประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีที่ต้องจ่ายไป

  3. การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ การใช้นโยบายดังกล่าว ต้องมีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในภาพรวมของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น หรือการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของประชาชนที่อาจทำให้เกิดการพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐมากเกินไป

อย่างไรก็ตามหากรัฐสามารถนำระบบนี้มาปรับใช้ได้โดยไม่มีปัญหากับข้อจำกัดดังกล่าวที่ว่ามา ย่อมจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายได้ดี และไม่หนักกับภาระของภาษีที่ต้องใช้ในงบประมาณส่วนนี้มากเกินไป 

ปัจจุบัน หลายประเทศได้ใช้นโยบาย Negative Income Tax ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ สหรัฐอเมริกา โดยใช้ชื่อว่า Earned Income Tax Credit (EITC) ซึ่งเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านการคืนภาษี สหราชอาณาจักรใช้ชื่อว่า Working Tax Credit (WTC) ที่สนับสนุนให้คนทำงานแม้จะมีรายได้น้อย และสิงคโปร์มีโครงการ Workfare Income Supplement (WIS) ซึ่งมุ่งเน้นสนับสนุนผู้ที่มีรายได้ต่ำโดยตรง 

สุดท้ายแล้ว นโยบาย Negative Income Tax จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรและการออกแบบนโยบายที่เหมาะสม ทั้งในด้านการกำหนดเกณฑ์รายได้ ภาระงบประมาณ และการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวมแต่อย่างไรก็ดี นโยบายนี้ไม่สามารถดึงดูดให้ผู้ที่มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงภาษีเข้าสู่ระบบได้นะครับ… 

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก https://www.fpo.go.th/main/getattachment/General-information-public-service/FPO-symposium/8515/NIT_Symposium_Benge_25-7-57.pdf.aspx

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT