สำหรับผู้มีมดลูกวัยทำงานบางคน วันหนึ่งที่ไม่อยากให้ตรงกับวันทำงานเลย ก็คือ วันที่ประจำเดือนมาวันแรกที่ร่างกายจะเจอสารพัดอาการไม่ว่าจะเป็นปวดท้อง ปวดหลัง คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ที่ทำให้ไม่สามารถตั้งสมาธิกับงานได้มากเท่าที่ควร หรือบางคนก็มีอาการหนักจนเป็นลม หรือปวดจนต้องใช้วันลาป่วยนอนอยู่บ้านเลยก็มี ถึงแม้สำหรับบางคนอาการปวดนี้จะเกิดขึ้นทุกเดือนจนจำนวนวันลาป่วยไม่สามารถครอบคลุมได้
เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ จึงทำให้มีแนวคิดสวัสดิการ ‘menstrual leave’ เกิดขึ้น ซึ่งก็คือ การให้ผู้มีประจำเดือนทุกคนลาป่วยได้ในกรณีที่มีอาการปวดจากการเป็นประจำเดือนจนไม่สามารถทำงานได้
ล่าสุด ‘สเปน’ ก็ได้กลายมาเป็น ‘ประเทศแรกในยุโรปที่มีการผ่านกฎหมาย menstrual leave’ ที่บังคับให้นายจ้างให้ลูกจ้างที่มีประจำเดือนลาได้ 3-5 วันต่อเดือนโดยยังจ่ายค่าจ้าง (paid leave) ในกรณีที่มีใบรับรองแพทย์แสดงชัดเจนว่า ลูกจ้างคนดังกล่าวมีอาการจากการเป็นประจำเดือนจนไม่สามารถทำงานได้ โดยรัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทต่างๆ ที่ให้สวัสดิการนี้แก่พนักงาน กฎหมายนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้มีประจำเดือนและนักเรียกร้องสิทธิทั้งในและนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สวัสดิการนี้จะเป็นสวัสดิการที่ช่วยให้ผู้มีประจำเดือนทุกคนสามารถเข้าร่วมตลาดแรงงานได้ โดยไม่ต้องทุกข์ทรมานกับอาการที่จะเกิดขึ้นทุกเดือน คนบางกลุ่ม รวมไปถึงผู้มีประจำเดือนเอง ก็มองว่ากฎหมายนี้อาจกลายทำให้นายจ้างหลายๆ คนใช้เป็นข้ออ้างไม่จ้างงาน ไม่เลื่อนตำแหน่ง หรือเสนอเงินเดือนต่ำๆ ให้ผู้มีประจำเดือนได้ เพราะมองว่าคนกลุ่มนี้จะไม่มี productivity เท่าผู้ไม่มีประจำเดือน
ในบทความนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมารู้จักสวัสดิการนี้กันว่ามีแนวคิดอย่างไร อาจส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้มีประจำเดือน รวมไปถึงมีประเทศไหนในโลกมีกฎหมายในลักษณะนี้แล้วบ้าง
‘Menstrual Leave’ ไม่ใช่แนวคิดใหม่ มีมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20
แนวคิดเรื่องสวัสดิการการลางานจากอาการปวดประจำเดือน เป็นแนวคิดที่เป็นที่พูดถึงและบังคับใช้ตั้งแต่ครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 โดยมีแนวคิดว่า ผู้มีประจำเดือนทุกคนควรได้รับสิทธิในการลางานปละพักผ่อนอยู่บ้านได้ หากสภาพร่างกายทำให้ผู้มีประจำเดือนคนนั้นไม่พร้อมสำหรับการทำงาน ในลักษณะเดียวกับการเจ็บป่วยแบบอื่นๆ และเนื่องจากความเจ็บปวดจากการเป็นประจำเดือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นประจำ และกระทบการใช้ชีวิตของผู้มีประจำเดือนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้วันลาสำหรับประจำเดือนควรจะเป็นสิ่งที่แยกออกมาจากสวัสดิการลาป่วยธรรมดา
จากข้อมูลทางการแพทย์ อาการปวดประจำเดือน (dysmenorrhea) เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปสำหรับผู้ที่มีประจำเดือน แต่ส่วนมากจะเป็นการปวดในระดับที่ไม่รบกวนชีวิตประจำวัน ในขณะที่มีบางส่วน ประมาณ 20-30% มีอาการปวดหนักจนเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต และบางส่วนปวดจนต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เพราะเป็นการปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ (secondary dysmenorrhea) ที่เกิดจากภาวะผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis) และเนื้องอกมดลูก (uterine fibroids)
การให้สิทธิผู้มีประจำเดือนลาป่วยในกรณีปวดประจำเดือนเกิดขึ้นครั้งแรกใน ‘รัสเซีย’ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สำหรับผู้หญิงในบางสายงาน แต่สวัสดิการนี้ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับคนงานหญิงจึงถูกยกเลิกไปในปี 1927 ก่อนจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1947 ที่รัฐบาล ‘ญี่ปุ่น’ ผ่านการแก้ไขกฎหมายแรงงานให้ผู้หญิงมีสิทธิลาป่วยได้หากมีอาการป่วยจากการเป็นประจำเดือน
ตอนนี้มีประเทศไหนมีหฎหมายให้สิทธิ Menstrual Leave บ้าง?
ในปัจจุบัน นอกจากสเปนที่เพิ่งผ่านกฎหมายดังกล่าวแล้ว ในโลกยังมีอีกหลายประเทศที่มีกฎหมายในลักษณะนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศในทวีปเอเชีย ประเทศและพื้นที่ที่มีกฎหมายให้สิทธิผู้มีประจำเดือนสามารถทำ menstrual leave นอกจากสเปน มีดังนี้
โดยนอกจากการให้สิทธิ Menstrual Leave ในกฎหมายระดับประเทศแล้ว การให้สิทธินี้อาจยังปรากฎในนโยบายของบริษัทที่เลือกให้สิทธินี้กับพนักงาน โดยไม่ต้องกฎหมายมาบังคับ เช่น Zomato บริษัทส่งอาหารใน India และ Modibodi บริษัทผลิตชุดชั้นในในออสเตรเลีย
สิทธิ Menstrual Leave อาจทำให้ผู้มีประจำเดือนถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การให้สิทธิการลาแก่ผู้มีประจำเดือนโดยรวมจะทำให้ผู้มีมดลูกในเพศสภาพต่างๆ มีวันลาเพิ่มเติมที่ทำให้ไม่ต้องทนทำงานในขณะที่กำลังเจ็บปวดจากการเป็นประจำเดือน และเพิ่มความเท่าเทียมในที่ทำงาน การให้สิทธินี้อาจให้ผลตรงกันข้าม หากถูกบังคับใช้ในสังคมที่ไม่เข้าใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เพราะอาจทำให้คนในสังคมมองผู้มีมดลูกว่า เป็นผู้มีร่างกายไม่พร้อมสำหรับการทำงาน มีคุณค่าน้อยกว่า ซึ่งจะนำไปสู่การกีดกันในขั้นตอนการสมัครงาน และความเหลื่อมล้ำด้านรายได้
โดยในหมู่ผู้หญิงและผู้มีมดลูกเอง สิทธินี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงเพราะบางคนมองว่าการให้สวัสดิการแบบนี้จะทำให้หลายคนคิดว่าผู้มีมดลูกมีสิทธิพิเศษ และอาจใช้สิทธินี้ถือโอกาสไม่ทำงานถึงแม้จะไม่มีอาการ หรือมีอาการปวดที่ไม่รุนแรงในช่วงเป็นประจำเดือน นอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสลดเงินเดือนพนักงานหญิงที่ใช้สิทธิดังกล่าว
นอกจากนี้ การที่สังคมมีมุมมองในทางลบต่อผู้มีประจำเดือนยังทำให้ผู้มีมดลูกไม่อยากใช้สิทธิในการลาป่วยจากการปวดประจำเดือน ถึงแม้จะทำได้ตามกฎหมาย
โดยจากการรายงานของ BBC คนงานผู้หญิงในประเทศญี่ปุ่นส่วนมากลังเลที่จะใช้สิทธินี้เพราะกลัวว่าการลาจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพราะสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมปิตาธิปไตยที่กีดกันผู้หญิงจากการทำงานด้วยวัฒนธรรมอยู่แล้ว
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่อง Menstrual Leave นั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นที่พูดถึงเป็นเวลาอย่างน้อยเกือบ 100 ปีมาแล้ว และยังได้รับการบรรจุในกฎหมายแรงงานของหลายๆ ประเทศ
อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าการบรรจุสิทธิเหล่านี้ในกฎหมายไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะทำให้ผู้มีมดลูกสามารถใช้สิทธินี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแนวคิดเรื่องเพศ และความเท่าเทียมทางเพศของคนในสังคมด้วย
ที่มา: The Washington Post, BBC, Adecco Group, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์