Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
Shopee vs Lazada แม่ค้ามือใหม่ขายของออนไลน์ เริ่มที่ไหนดี?
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

Shopee vs Lazada แม่ค้ามือใหม่ขายของออนไลน์ เริ่มที่ไหนดี?

10 พ.ค. 65
10:58 น.
|
10K
แชร์

5 เดือน 5 ที่ผ่านมาก็ยังแรงดีไม่มีตกเช่นเคย ทั้งทางฝั่งผู้ซื้อที่เตรียมไว้เงินช็อปของเซลส์ ฝั่งผู้ขายที่กระหน่ำจัดโปรลดราคาสินค้า รวมไปถึงฝั่งของ “อี-คอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม” ที่อัดแคมเปญโฆษณา ดึงลูกค้ามาช้อปสินค้าอย่างคึกคัก โดยตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา คนไทยก็คุ้นเคยกับการช้อปออนไลน์ ผสมกับนิสัยช้อปเก่งเป็นพื้นฐานของเราแล้ว คนไทยก็เลยครองตำแหน่ง “ช้อปออนไลน์เก่งสุด” ที่ 1 ของโลก จากการจัดอันดับของ we are social

 

 

แต่ด้วยเศรษฐกิจทั่วโลกช่วงนี้ที่ไม่ค่อยจะคึกคัก แถมค่าครองชีพก็แพงทะลุฟ้า หลายคนจึงหันมาลองอาชีพแม่ค้าออนไลน์ เพื่อหารายได้เสริม แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นกับแพลตฟอร์มไหนดี Spotlight จึงอาสาพาทุกท่านไปรู้จักกับ 2 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ “ลาซาดา” และ “ช้อปปี้” พร้อมเปรียบเทียบจุดเด่นจากผู้ขายจริง ให้แม่ค้าออนไลน์มือใหม่ เลือกช่องทางการขายที่เหมาะกับแบรนด์ของตัวเองมากที่สุด

 

 

Lazada Promo
 



“Lazada”



แพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ภายใต้บริษัทแม่ “อาลีบาบา” จากประเทศจีน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ลาซาดาประกาศว่ามีผู้ใช้งานในประเทศไทยอยู่บนแพลตฟอร์ม “เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรไทยทั้งหมด” หรือคิดเป็นราว 30-35 ล้านคน ครองส่วนแบ่งยอดขายอันดับ 1 ห่างจากอันดับ 2 เป็นเท่าตัว! และยังเป็นแพลตฟอร์มแรกที่นำแคมเปญยอดฮิต “11.11” เข้ามาในประเทศไทย จนเป็นบรรทัดฐานให้ร้านค้าออนไลน์ทั้งวงการทำตาม


โปรสำหรับร้านค้าหน้าใหม่บนลาซาดา

 

Lazada New Merchant



ร้านค้าออนไลน์ที่อยากจะนำสินค้ามาขายบนลาซาดา สามารถเปิดร้านได้ภายใน 1 นาที โดยมีโปรโมชันพิเศษสำหรับร้านค้าใหม่ เช่น “ขายและส่งสินค้าฟรีแบบไม่มีค่าธรรมเนียม” ได้ 30 วัน คูปองกระตุ้นยอดขาย พร้อมมีทีมดูแลร้านค้าส่วนตัวแบบพิเศษ เป็นเวลา 90 วัน พร้อมสิทธิพิเศษอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีช่องทางพิเศษ “LazMall” เปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้าของลาซาดา สำหรับเจ้าของแบรนด์ที่เป็นผู้ประกอบการค้าปลีก หรือตัวแทนจำหน่ายที่จดทะเบียนแล้ว จะได้รับสิทธิพิเศษเข้าร่วมแคมเปญที่มีเฉพาะสำหรับแบรนด์ใน LazMall จัดอันดับการค้นหาดีขึ้น และมีเครื่องมือของร้านค้าให้ใช้มากขึ้น



ส่องแพ็คเกจต้อนรับผู้ขายหน้าใหม่เพิ่มเติมได้ที่นี่

 

ค่าธรรมเนียมการขายบนลาซาดา

 

ค่าธรรมเนียมคงที่
-ค่าธรรมเนียมการชำระเงิน 3%
-ค่าธรรมเนียมการใช้บิรการมาร์เก็ตเพลส 1% (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%)
-ค่าคอมมิชชั่น 5% (เฉพาะผู้ขาย Laz Mall)

ค่าธรรมเนียมสำหรับโปรแกรมพิเศษจากลาซาดา (สำหรับร้านค้าที่สมัครเพิ่ม)
-ค่าธรรมเนียมโปรแกรมส่งฟรีพิเศษกับลาซาด้า 5% ของราคาขายสินค้าต่อชิ้นสูงสุดไม่เกิน 199 บาท
-ค่าธรรมเนียมโปรแกรมเงินคืนทุกวัน Daily Cashback 3% ของราคาขายสินค้าต่อชิ้น สูงสุดไม่เกิน 100 บาท
(2 รายการนี้ ฟรี 1 เดือนแรกสำหรับผู้ขายใหม่)

-ลาซาดาโบนัส ค่าธรรมเนียมจากโบนัสที่ลูกค้าใช้ เช่น ลูกค้าซื้อสินค้าครบทุก 500 บาทได้รับส่วนลด 40 บาท ลาซาด้าช่วยสนับสนุน 50% ผู้ขายจ่ายเพียง 20 บาทเท่านั้น

 

Lazada Coupon
 

จุดเด่นของลาซาดา

เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ ที่กำลังจะมีอายุครบ 10 ปี ลาซาจึงได้รับความเชื่อถือจากแบรนด์ใหญ่ๆ มาขายสินค้าบนลาซาดาเป็นจำนวนมาก แบรนด์สินค้าและผู้ขายก็นำสินค้ากลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็มาวางขายบนแพลตฟอร์มมากเช่นกัน ลาซาดาจึงเหมาะกับร้านค้าออนไลน์ที่จำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือสินค้าที่มีราคาสูง ลาซาจึงครองส่วนแบ่งตลาดเมื่อคำนวณจากยอดขาย มากกว่าแบรนด์ช้อปปี้ถึงกว่า 1 เท่าตัว อ้างอิงจากข้อมูลของ Euromonitor

ผู้ขายที่วางขายสินค้าบนลาซาดายังเล่าถึงอีกหนึ่งข้อดีของแพลตฟอร์มนี้ คือ “ระบบ AI” ของแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยแมทช์สินค้ากับลูกค้าได้อย่างแม่นยำ แบ่งเบาภาระการทำการตลาดได้เป็นอย่างดี และระบบคูปองของลาซาดาก็สามารถนำมาใช้ร่วมกันแบบ “Top-up” ลดแล้ว ลดอีกได้ เป็นหนึ่งจุดเด่นที่ดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มนี้ได้

นอกจากนี้ ด้วยความที่อยู่ในวงการมานานกว่า และทุ่มทุนใช้พรีเซนเตอร์ชื่อดังที่เป็นที่รู้จัก ลาซาดาจึงเข้าถึงลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดได้ดี เหมาะกับร้านค้าที่มุ่งทำตลาดต่างจังหวัดอีกด้วย
 



สินค้ามาแรง

 

Health

 

อันดับสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดบนแพลตฟอร์มลาซาดา 3 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากพฤติกรรมของขาช็อปที่อยู่บ้านมากขึ้น จึงใส่ใจตัวเอง และบ้านของตนมากขึ้น เนื่องจากแพลตฟอร์มมุ่งเน้นสร้างความน่าเชื่อถือ ร้านค้าที่ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หรือมีราคาสูง ก็สามารถนำมาขายบนลาซาได้ หรือหากต้องการยกระดับความพรีเมียมให้กับแบรนด์ ก็สามารถเลือกใช้ช่องทาง LazMall ได้ด้วย

 

shopeebanner
 

“Shopee”

 

ทางด้าน “แอปส้ม” ช้อปปี้ ภายใต้ “Sea group” เครือเดียวกับผู้ให้บริการเกมชื่อดัง “Garena” แม้จะมาทีหลังแต่ความปังก็ไม่เป็นรอง ข้อมูลจาก iprice เผยว่า ช้อปปี้มีผู้ชมเว็บไซต์ต่อเดือนกว่า 60.7 ล้านครั้ง เน้นการเข้าถึงผู้ใช้งานมากกว่า มีหน้าตาแอพพลิเคชันที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน (user-friendly) นำระบบเกมสะสมเหรียญแลกส่วนลดดึงดูดผู้ใช้งาน จึงขึ้นมาเบียดแชมป์เก่าอย่างลาซาดาแบบหายใจรดต้นคอเลยทีเดียว
 

 

โปรสำหรับร้านค้าหน้าใหม่บนช้อปปี้

 

Shopee New Merchant

 

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ที่เปิดร้านบนช้อปปี้ จะได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมการชำระเงินนาน 30 วัน พร้อมคูปองกระตุ้นยอดขาย เครดิตโฆษณา Shopee Ads เพื่อให้สินค้ามาอยู่ลำดับแรกๆ มูลค่า 500 บาท พร้อมมีผู้เชี่ยวชาญดูแล รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ช่วยสร้างร้านค้าให้ และสิทธิพิเศษอื่นๆ โดยทางช้อปปี้ก็มี Shopee Mall สำหรับแบรนด์ชั้นนำเช่นกัน ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษและฟีเจอร์ที่มากกว่า โดยเสียค่าธรรมเนียมในการขายสินค้าเพิ่มขึ้น



ส่องแพ็คเกจต้อนรับผู้ขายหน้าใหม่เพิ่มเติมได้ที่

 

ค่าธรรมเนียมการขายบนช้อปปี้

 

-ค่าธรรมเนียม 3% สำหรับสินค้าในหมวดหมู่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และ 5% สำหรับสินค้าหมวดหมู่อื่นๆ (คิดจากราคาสินค้าหลังหักส่วนลดแล้ว) สำหรับร้านค้าใน Shopee Mall

-ค่าธรรมเนียม 1% สำหรับร้านค้าที่ไม่ได้อยู่ใน Shopee Mall

-ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม 3% สำหรับการจ่ายเงินของลูกค้าผ่านทางช่องทางบัตรเครดิต/บัตรเดบิต/Shopee Pay/SPayLater/บัญชีธนาคาร/ชำระเงินปลายทาง

-ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับการทำธุรกรรมแบบผ่อนชำระ ผ่านทางช่องทางบัตรเครดิต และ SPay Later
3.5% (ผ่อน 3 เดือน), 5% (ผ่อน 6 เดือน), 5.5% (ผ่อน 10 เดือนขึ้นไป),

 

Shopee Live



จุดเด่นของช้อปปี้

 
ในฐานอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มที่มาทีหลัง และต้องการมาตีตลาดลาซาดา ช้อปปี้จึงวางตำแหน่งของแบรนด์ต่างจากลาซาดา ชูจุดเด่นในการเข้าถึงง่ายและสนุกสนาน (ช้อปปี้ใช้สีส้ม ให้ดูสนุกสนาน VS ลาซาดา ใช้สีน้ำเงิน ให้ดูน่าเชื่อถือ) จึงดึงดูดให้ผู้ขายเข้ามาในแพลตฟอร์มจำนวนมาก จำหน่ายสินค้าที่มีราคาไม่สูงมาก ซึ่งก็จะทำให้เกิดการแข่งขันบนแพลตฟอร์มที่ร้อนแรงกว่าลาซาดา

นอกจากนี้ ช้อปปี้ยังชู “ช้อปปี้ไลฟ์” ช่องทางที่จะช่วยให้ร้านค้าพูดคุยกับผู้ซื้อได้โดยตรง พร้อมขายสินค้าและแจกโปรโมชั่นได้แบบเรียลไทม์ ด้านคูปองของช้อปปี้จะมีความหลากหลายกว่าลาซาดา แต่สามารถใช้ของร้านค้าได้ 1 ใบ และของช้อปปี้ได้ 1 ใบเท่านั้น ส่วนความแตกต่างที่มีเฉพาะในลาซาดาคือ ช้อปปี้โอนเงินให้ผู้ขายทุกวัน และมีบริการใหม่ “ช้อปปี้ฟู้ด” แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี ซึ่งจะช่วยตรึงลูกค้าให้อยู่บนแพลตฟอร์ม ช่วยเพิ่มวิธีการทำการตลาดระหว่างอีคอมเมิร์ซและฝั่งฟู้ดเดลิเวอรี ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
 


สินค้ามาแรง

 

Gadget

 

สินค้ามาแรงบนแพลตฟอร์มของช้อปปี้ 3 อันดับแรกได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์มือถือ ผลิตภัณฑ์ห้องครัวและห้องอาหาร ด้วยภาพลักษณ์ที่สนุก เข้าถึงง่ายของแพลตฟอร์ม ทำให้ช้อปปี้เหมาะกับการขายสินค้าแฟชั่น และสินค้าราคาเข้าถึงง่าย ส่วนสินค้าแบรนด์ดังหรือมีราคาสูง ก็สามารถนำไปวางขายบน Shopee Mall ได้เช่นกัน

 

Shopee VS Lazada
 

 
5 อันดับช่องทางช้อปปิ้งออนไลน์ขวัญใจคนไทย

 

Online Shopping

 

นอกจากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการช้อปโดยเฉพาะแล้ว จากสถิติของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ยังชี้ว่าคนไทยนิยมช้อปผ่าน “แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย” อีกด้วย โดย 5 อันดับแพลตฟอร์มยอดนิยม ที่คนไทยใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นดังนี้



1. Shopee 89.7%
2.Lazada 74.0%
3.Facebook 61.2%
4.Line 38.5%
5.Instagram 29.1%



สาเหตุเพราะโซเชียลมีเดีย กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คน ร้านค้าออนไลน์หลายร้าน จึงเลือกที่จะตั้งต้นธุรกิจบนโซเชียล ทำโฆษณา สื่อสารกับลูกค้า รวมถึงขายสินค้าบนแพลตฟอร์มนั้นเลย ทางฝั่งโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเอง ก็อยากดึงลูกค้าไว้กับแพลตฟอร์มตัวเอง รวมถึงเก็บรายได้จากการใช้บริการ แพลตฟอร์มเหล่านี้จึงพัฒนาระบบร้านค้าออนไลน์ อำนวยความสะดวกทั้งผู้ขาย และผู้ซื้อ

 

ช้อปปิ้งออนไลน์เตรียมเติบโต 2 เท่าในปี 2026

 

onlineshopping

 

บทวิเคราะห์จาก Eurometer มองตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ของประเทศไทยว่าจะเป็นไปในทิศทางบวก โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา มูลค่าตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทยโตขึ้นกว่า 19% สู่ระดับ 3.17 แสนล้าน และจะโตขึ้นอีก 23% ในปีนี้ เนื่องจากคนไทยคุ้นชินกับการช้อปปิ้งออนไลน์ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ไม่ต้องปวดหัวกับสภาพการจราจรของบ้านบนท้องถนน และจะตัดสินใจซื้อเมื่อไร ที่ไหนก็ได้

 

มากไปกว่านั้น หลายบริษัทยังลงทุนในช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ ร่วมถึงระบบการชำระเงินออนไลน์มากขึ้น ลดการลงทุนในการขายของที่หน้าร้านให้เหลือน้อยลง อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ระบบซัพพลายเชนจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนการขนส่งจะลดต่ำลง ลูกค้ามีทางเลือกเพิ่มขึ้น ทั้งการรับสินค้าที่บ้าน หรือที่ร้าน รวมถึงเลือกช่องทางการชำระเงินได้หลากหลาย ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทยเฟื่องฟู
 

 

ที่มา

 
Shopee
LAZADA
we are social
ETDA
CEA
Euromonitor
iprice

แชร์

Shopee vs Lazada แม่ค้ามือใหม่ขายของออนไลน์ เริ่มที่ไหนดี?