“คนอเมริกันอาจต้องเจ็บปวดเล็กน้อย แต่เป็นเพียงระยะสั้น และความเจ็บปวดบางอย่างก็คุ้มค่า” นี่คือข้อความสั้น ๆ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โพสต์ลง Social Truth หลังนักวิเคราะห์ทางการเงินและองค์กรระหว่างประเทศวิพากษ์วิจารณ์ผลเสียของนโยบายขึ้นภาษี 25% กับสินค้านำเข้าของแคนาดาและเม็กซิโก รวมถึงขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วในตอนนี้ โดยหลายฝ่ายเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้สินค้าอุปโภค-บริโภคแพงขึ้น และท้ายที่สุดจะตกไปเป็นภาระของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา
ก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์หาเสียงว่าจะขึ้นภาษีประเทศเพื่อนบ้าน โดยอ้างว่าเป็นการปกป้องชาวอเมริกันจากภัยคุกคามร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากผู้อพยพผิดกฎหมายในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นอาชกรรมต่าง ๆ และปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติดข้ามชายแดน ขณะที่การขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนอาจจะดูมีเหตุมีผล เมื่อทั้งสองประเทศเป็นคู่แข่งทางการค้าและเป็นขั้วตรงข้ามของมหาอำนาจโลก แต่เหตุผลด้านการป้องกันผู้อพยพและความต้องการแซงหน้าคู่แข่งคนสำคัญทางการค้า เป็นเหตุผลที่ทรัมป์ต้องยอมให้บริษัทและผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยอมกลืนเลือดครั้งรุนแรงเลยหรือ แท้จริงแล้ว การตัดสินใจขึ้นภาษีที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ดีต่อสหรัฐอเมริกาอย่างไร
รัฐบาลสหรัฐฯ: รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากภาษีศุลการกรโดยตรง เมื่อทรัมป์ตัดสินใจเก็บภาษีนำเข้าที่สูงลิ่วต่อสินค้ามากมายจากประเทศเพื่อนบ้าน นั่นหมายถึงรายได้มหาศาลจากต่างประเทศที่จะตกเป็นของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลของทรัมป์สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การสร้างสาธารณูปโภค การพัฒนาการศึกษา การสาธารณสุข และการบริหารประเทศ
โดยปกติแล้ว รัฐบาลแต่ละประเทศสามารถใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดอัตราเงินเฟ้อ หรือการแก้ไขปัญหาการว่างงาน แม้ทรัมป์จะไม่ได้ให้เหตุผลด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจนเท่าไรนัก แต่เขามักอ้างถึงปัญหาผู้อพยพที่ต้องการให้เพื่อนบ้านจัดการอย่างเอาจริงเอาจัง ดังนั้นหนึ่งในประโยชน์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับคือการใช้ภาษีศุลกากรเป็นข้อต่อรองกับแคนาดา เม็กซิโก และจีน ล่าสุด ทรัมป์มีแผนที่จะเจรจากับตัวแทนผู้นำประเทศทั้ง 3 ในวันนี้ (3 ก.พ. 2025) ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นการเจรจาเพื่อต่อรองลดภาษี แลกกับการจัดการปัญหาระหว่างประเทศซึ่งสหรัฐฯ จะได้เปรียบในการต่อรอง
นอกจากเรื่องรายได้และข้อต่อรองที่จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลสหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่รัฐบาลทรัมป์จะควบคุมการนำเข้าสินค้าบางประเภท โดยทรัมป์อาจจะต้องการควบคุมราคารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ นำเข้ายานยนต์มูลค่า 87,000 ล้านดอลลาร์ และชิ้นส่วนรถยนต์มูลค่า 64,000 ล้านดอลลาร์จากเม็กซิโกในปี 2024 (ไม่รวมเดือนธันวาคม) ซึ่งเป็นสินค้า 2 อันดับแรกที่นำเข้าจากเม็กซิโก
แรงงานสหรัฐฯ: การควบคุมการผลิตรถยนต์ส่งผลดีต่อเนื่องถึงการจ้างงานชาวอเมริกัน โดยก่อนหน้านี้ บริษัทผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ รักษาต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงได้ด้วยการจ้างงานแรงงานต่างด้าวที่มีค่าจ้างต่ำกว่า ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การผลิตส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนฐานไปผลิตที่เม็กซิโก แต่การจัดเก็บภาษี 25% จะทำให้ผู้ผลิตกลับมาผลิตในสหรัฐฯ มากขึ้น และแน่นอนว่ามีโอกาสที่แรงงานชาวอเมริกันจะถูกจ้างงานมากขึ้นด้วย
ผู้ผลิตในประเทศ: ผลกระทบของภาษีศุลกากรนั้นมีทั้งดีและไม่ดี แน่นอนว่า ผู้บริโภคทั้งบุคคลและธุรกิจต่างได้รับผลกระทบเชิงลบจากราคาที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในประเทศจะได้รับการปกป้องโดยภาษีศุลกากร เช่น ผู้ผลิตกาแฟในสหรัฐอเมริกา จะได้รับประโยชน์จากการขายผลิตภัณฑ์ของตนได้มากขึ้น เมื่อต้นทุนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศต้องสูงขึ้นมากถึง 10% - 25% บริษัทต่าง ๆ อาจหันมามองหาสินค้าจากผู้ผลิตภายในประเทศเป็นอันดับแรก เพื่อควบคุมราคาขายของสินค้าไม่ให้สูงเกินไป
ทรัมป์กล่าวว่า เขาวางแผนที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ และยุติ “การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม” ต่อสหรัฐฯ โดยในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (ปี 2024) ระหว่างการหาเสียง ทรัมป์ประกาศว่าจะฟื้นฟูโรงงานร้างหลายแห่งในสหรัฐฯ โดยเฉพาะโรงงานเหล็กเก่า ๆ ที่ว่างเปล่าและทรุดโทรม โดยการขึ้นภาษีศุลกากรที่เข้มงวดและลดภาษีการผลิตภายในประเทศ และนำบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้กลับมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผลดีที่รัฐบาลทรัมป์ ผู้ผลิตภายในประเทศ และแรงงานชาวอเมริกัน อาจไม่ได้สวยหรูอย่างที่โดนัลด์ ทรัมป์วาดฝันไว้ เมื่อแคนาดา เม็กซิโก จีน ก็ต่างออกมาขึ้นภาษีศุลากกรสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการอันแข็งกร้าวของมหาอำนาจ เป็นเรื่องให้ทั่วโลกลุ้นกันว่ารัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ จะสามารถสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ หรือสงครามการค้าจะขยายตัวมายังยุโรปและเอเชียตามที่ทรัมป์ได้ลั่นวาจาไว้