ดอกเบี้ยขาขึ้น ! ไม่ใช่สัญญาณแค่ฝั่งสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หลายประเทศในโลกขณะนี้ กำลังทยอยพิจารณาขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศตัวเอง เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ วายร้ายตัวฉกาจ ที่กำลังสั่นคลอนเศรษฐกิจโลกอยู่ในเวลานี้
อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา เดือน พ.ค.2565 อยู่ที่ระดับ 8.6% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี และธนาคารกลางสหรัฐกำลังทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปี 2022 จากเดิมเคยอยู่ที่ 0 - 0.25% และทยอยขึ้นมาแล้ว 2 ครั้งรวม 0.75% ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของเฟดอยู่ที่ 0.75-1%
สหรัฐอเมริกา คือ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และ ดอลลาร์สหรัฐคือสกุลเงินหลักที่ทุกประเทศใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เมื่อนโยบายการเงินของสหรัฐฯเปลี่ยนไป จึงสั่นสะเทือนเศรษฐกิจของทั้งโลก รวมไปถึงตลาดการลงทุน ทั้งหุ้น คริปโท ทองคำ น้ำมัน ต่างก็เหวี่ยวผันผวนไปตามกระแสนโยบายของเฟด
ปลายทางอัตราดอกเบี้ยเฟดจะปรับขึ้นไปที่เท่าไหร่ ?
ในปี 2022 นี้ เฟดยังเหลือการประชุมอีก 5 ครั้ง บรรดานักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์จากหลายสำนักประเมินว่า ปลายทางของอัตราดอกเบี่ยเฟดมีโอกาสจะไปได้ถึง 2.5 %ในปีนี้ซึ่งนั่นแปลว่า เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อีกประมาณ 1.5 % เลยทีเดียว แต่มุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจากหลายสำนักแตกต่างกันไป เหมือนกันคือ ขึ้นแน่แต่จะขึ้นเท่าไหร่
อย่างทางด้านนายแจน แฮตซิอุซ หัวหน้านักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ระบุในรายงานว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมรอบนี้ และจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%ในการประชุมเดือนก.ค. ส่วนเดือนกันยายนจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนก.ย. ก่อนที่จะปรับขึ้นเพียง 0.25% ในเดือนพ.ย.และธ.ค. โดยโกลด์แมนแซค เชื่อว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับ 3.25-3.50%
แต่คำถามคือ ผลพวงของการที่ดอกเบี้ยขึ้นไปถึงจุดนั้นจะเป็นอย่างไร เฟดจะแก้เงินเฟ้อรอบนี้สำเร็จด้วยดอกเบี้ยจริงหรือไม่ หรือ ถ้าเงินเฟ้อลดลงเศรษฐกิจสหรัฐ และ เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในสภาพไหนนั่นคือสิ่งที่หลายฝ่ายรอการพิสูจน์
"ยิ่งขึ้นแรงครั้งละ 0.75% จะกลายเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ แต่ที่แน่ๆ สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ต่างถูกแรงเทขาย หลังจากกระแสดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟด ทั้ง คริปโท หุ้น ทอง กองทุน จะร่วงลงอีกก็เป็นไปได้ ส่วนดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง เทียบกับเงินบาทไทยอ่อนค่าแตะ 35 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นการอ่อ่นค่าที่สุดในรอบ 5 ปี"
เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ย ประเทศไทยกำลังจะขึ้นดอกเบี้ยตาม!
เหตุบังเอิญ หรือความพอดี ที่สัญญาณดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาชัดเจน กับช่วงการประชุมเฟดพอดี โดยล่าสุดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้พูดในงานเสวนางานหนึ่งเกี่ยวกับท่าทีนโยบายการเงินของไทยว่า
“หากดูการดำเนินนโยบายการเงินของไทยปัจจุบัน ถือว่าผ่อนปรนมาก และผ่อนเป็นเวลานาน ดอกเบี้ยของไทยถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค แต่ในมุมของเงินเฟ้อ ไทยถือว่าติดอันดับท็อป ๆของภูมิภาค ดังนั้นที่ผ่านมาถือว่าผ่อนปรนมาก”
ประโยคนี้ของผู้ว่าแบงค์ชาติ ถูกตีความว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นแน่ จากปัจจุบันเราอยู่ที่ 0.50% และเงินเฟ้อไทย ก็พุ่งขึ้นไม่ธรรมดาเช่นกัน เดือน พ.ค.2565 อยู่ที่ 7.1 % สูงที่สุดในรอบ 13 ปี สูสีกับสหรัฐฯเลยทีเดียว แถมการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน มติยังยังแตกเป็น 4:3 คงดอกเบี้ยไว้ 0.50% นั่นแปลว่า มีคณะกรรมกาีร 3 ท่านที่มีความเห็นให้ขึ้นดอกเบี้ยแล้วนั่นเอง
ขึ้น - ไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร
กรณี ธปท. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม
- ลดแรงกดดันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
- ลดการไหลออกของเงิน ส่งผลให้่าเงินบาทไม่อ่อนค่ามากจนเกินไป
- ผู้ฝากเงินได้ผลตอบแทนสูงขึ้น
- กระทบฝั่งผู้กู้ ทั้งภาครัฐ / ภาคธุรกิจเอกชน / และภาคประชาชน
- ไม่หนุนการเติบของเศรษฐกิจ
กรณี ธปท. ไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
- ส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-ดอกเบี้ยโลกยิ่งถ่าง จะยิ่งเกิดภาวะ “ทุนไหลออก” ไปประเทศที่ให้ดอกเบี้ยสูง
- “ค่าเงินบาท” จะยิ่งอ่อนค่าลง และกดดันให้ไทย “นำเข้าน้ำมันแพงขึ้น”
- ไม่ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น
- เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
กราฟฟิคนี้ แยกแยะข้อดี ข้อเสีย ของการขึ้นและ ไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทย ตามธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งในท้ายที่สุดข้อดี หรือ ข้อเสียจะมากกว่ากันก็ยากที่จะฟันธง เพราะตามตำราหากประเทศเจอกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง ก็จะใช้ดอกเบี้ยในการเข้าไปควบคุม โดยดอกเบี้ย เป็นเครื่องมือในการควบคุมปริมาณเงิน พอฝั่งประชาชนมีต้นทุนที่สูงขึ้น ก็จะชะลอการจับจ่ายลงกดราคาสินค้าให้ลงตาม แต่สำหรับต้นเหตุของเงินเฟ้อในรอบนี้ไม่ได้มาจากปริมาณการซื้อ หรือ Demand Pull แต่มาจากทั้งต้นทุนที่สูง และ ขาดแคลน จากปัญหาสงครามที่ยืดเยื้อ จึงเป็นที่มาให้การใช้ดอกเบี้ย ปราบเงินเฟ้อรอบนี้กำลังรอการพิสูจน์ว่ามันยาวิเศษ หรือเป็นเป็นแค่ พารา รักษาอาการเจ็บปวดแค่ชั่วคราวเท่านั้น
ในฟากประชาชน หากธนาคารแห่งประะเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยจริง แล้วธนาคารพาณิชย์มีการปรับอัตราดอกเบี้ยตามผู้ที่ได้ประโยชน์ คือ ผู้ฝากเงิน แต่สำหรับผู้ที่กู้เงิน ต้องมีภาระการผ่อนที่มากขึ้น หากเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และหากยิ่งดูสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยที่ยังสูง ยิ่งน่าห่วงว่า ดอกเบี้ยขาขึ้น จำทำให้หนี้เสียพุ่งขึ้นตามไปด้วยหรือไม่ ถ้าคนจ่ายหนี้ไม่ไหว
โดยข้อมูลหนี้ครัวเรือนล่าสุดจากสภาพัฒน์ฯไตรมาส 4 ปี 2564 มีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ยังขยายตัวร้อยละ 3.9 แต่ชะลอลงจากร้อยละ 4.2 ของไตรมาสที่ผ่านมา โดยหากเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม ภายในประเทศ อยู่ที่ 90.1 % / GDP ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนหนี้ครัวเรือนทั้งหมดมากกว่า 34% เป็นหนี้ที่อยู่อาศัย หรือ การผ่อนบ้านนั่นเอง กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT มีตัวอย่างว่า หากธนาคารพาณิชย์ขี้นดอกเบี้ยเงินกู้ กระทบการผ่อนบ้านของเราแค่ไหน
ตัวอย่าง ดอกเบี้ยขึ้นกระทบการผ่อนบ้าน
กู้เงินซือบ้าน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 7 % ผ่อนต่อเดือนอยู่ที่ 5,833 บาท
หากขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 7.25 % ผ่อนต่อเดือนอยุ๋ที่ 6,041 บาท
หากขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 7.50 % ผ่อนต่อเดือนอยุ๋ที่ 6,250 บาท
หมายเหตุ ตัวอย่างคำนวณแบบคร่าวๆ
สามารถเช็คอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปัจจุบันได้ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ความเห็นจากนักเศรษฐศาตร์ ต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย
ผู้บริหารระดับสูงธนาคารพาณิชย์ ให้ข้อมูลกับ ทีมข่าว ‘SPOTLIGHT’ ประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในช่วงที่เหลือของปี 2565 จะมีโอกาสที่จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกจำนวน 1-2 ครั้ง โดยเป็นปรับขึ้นในอัตรา 0.25% ต่อครั้ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลประเด็นเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นสูงขึ้น โดยมองว่า สาเหตุที่ ผู้ว่าฯ ธปท.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเพราะ
1.แก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงค่อนข้างแรง ล่าสุดเงินบาทวันนี้เปิด 34.90 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบประมาณ 5 ปี โดยจะยิ่งส่งผลกดดันต่อไทยจะมีต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่างๆ รวมถึงราคาน้ำมันให้แพงขึ้นเรื่อยๆ ตามการอ่อนค่าเงินของบาท ดังนั้นหากไม่ขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสเร่งตัวขึ้น
2.ชะลอความคาดหวังของภาคตลาดแรงงาน เนื่องจากภาคแรงงานมีความคาดหวังว่าค่าจ้างแรงงานจะต้องปรับขึ้นในอัตราเดียวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นหรือราคาสินค้าที่แพงขึ้น หรือในบางครั้งค่าจ้างแรงงานปรับขึ้นไปรอในอัตรามากกว่าตัวเลขเงินเฟ้อจริง โดยหากปล่อยให้สถานการณ์ยังดำเนินต่อมีความเสี่ยงตัวเลขเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มขึ้นได้อีกต่อเนื่อง
ขณะที่นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย มองว่า เป็นความท้าทายในการดำเนินนโยบายทางก่ารเงินอย่างมากในการจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อปัจจุบันไม่ได้เกิดจากสาเหตุความต้องการสินค้า มีความแตกต่างจากทุกๆรอบที่ผ่านมา การขึ้นดอกเบี้ยจึงอาจจะเรียกได้ว่า เกาไม่ถูกที่คัน แต่ก็เชื่อว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจจะเป็นความพยายามที่จะดำเนินการคุมเงินเฟ้อของไทยตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหากปล่อยไว้ ก็มีแนวโน้มที่เงินเฟ้อไทยจะสูงไปอีก ดูได้จากทิศทางราคาน้ำมันในประเทศที่ยังสูงขึั้นไปได้อีก ดังนั้หากปล่อยเวลาไว้นาน ก็อาจจะควบคุมได้ยากลำบากกว่าเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กนง. เสียงแตก 4 ต่อ 3 "รอบนี้คงดอกเบี้ย 0.5%" รอบหน้าไม่แน่?
กอบศักดิ์ เตือน เฟดเตรียมใช้ยาแรง หลังเงินเฟ้อพุ่งไม่เลิก
เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสุด 40 ปี หุ้นดิ่งเหว 880 จุด - บิตคอยน์ใกล้หลุดล้าน
กนง.จ่อขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบทองคำ เพราะบาทยังอ่อนค่า