Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เมื่อชีวิตขาขึ้น....ขึ้นทุกอย่างสำหรับค่าครองชีพ
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เมื่อชีวิตขาขึ้น....ขึ้นทุกอย่างสำหรับค่าครองชีพ

1 ก.ย. 65
16:47 น.
|
1.7K
แชร์

ชีวิตคนมีขึ้นก็ต้องมีลง...สำหรับชีวิตช่วงนี้ขาขึ้นตลอด แต่เป็นค่าครองชีพต่างหากที่ปรับขึ้นต่อเนื่องยังไม่มีสัญญาณว่าจะลง

เริ่มต้นเดือนกันยายน ค่าใช้จ่ายสำคัญในครัวเรือนหลายรายการปรับขึ้น ทั้งค่าไฟ ค่าแก๊ส LPG  ในขณะที่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และสินค้าชนิดอื่นๆได้ปรับขึ้นไปราวสิงหาคม ค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนทำให้คณะกรรมการไตรภาคีต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเริ่ม 1 ต.ค.นี้ เป็น 328 – 354 บาท/วัน ทีมงาน SPOTLIGHT ลองเทียบเป็น % ก็พบว่า ค่าใช้จ่ายปรับขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ฝั่งค่าแรงที่ขึ้นเฉลี่ย 5.02% พูดง่ายๆว่า รายได้ตามไม่ทันรายจ่ายแล้วนั่นเอง

 ราคาสินค้าขึ้น

 

ภาคพลังงาน เป็นต้นทุนสำคัญของราคาสินค้า

8 เดือนแรกของผ่านไปราคาน้ำมันและราคาก๊าซสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในเดือนกันยายนค่าไฟกำลังปรับขึ้นอีก และแรงถึง 18% จากค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ  หรือ ค่าเอฟที งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565  เพิ่มขึ้นอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย  จากงวดปัจจุบันเก็บอยู่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าเอฟทีโดยรวมในเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อนำไปรวมค่าไฟฐานจะเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย แพงขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 4 บาท ไฟฟ้าคือสิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิตค่าไฟจึงเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับประชาชน และ รวมไปถึงภาคธุรกิจด้วย

ซึ่งผลการสำรวจของ สภาอุสาหกรรมแห่งประเทศไทยล่าสุด พบว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ จะมีต้นทุนจากค่าไฟฟ้าคิดเป็น 10-30% จากต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้นการขึ้นค่าไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 ในอัตราที่สูงทันที จะทำให้ผู้ประกอบการต้องมีความจำเป็นจะต้องปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 10% ภายในปลายปีนี้   

สินค้าพลังงานอีก 1 รายการที่ปรับขึ้ยวันที่ 1 กันยายนคือแก๊สหุงต้ม หรือ LPG ที่ปรับขึ้น 1 บาท/กก. ส่งผลให้แก๊ส LPG ถังขนาด 15 กก.ขยับจาก 393 บาทต่อถังเป็น 408 บาทต่อถัง โดยเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 15 มิ.ย.ที่กำหนดทยอยปรับขึ้นราคา LPG กก.ละ 1 บาทต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือนโดยเริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.-1 ก.ย. เพื่อบรรเทาฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องอุดหนุนราคา LPG และน้ำมันโดยเฉพาะดีเซลจนติดลบหนัก

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. กองทุนน้ำมันยังคงชดเชย LPG เฉลี่ยที่ 7.69 บาทต่อ กก. ซึ่งก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับจากการที่รัฐได้ทยอยขึ้นราคาให้สะท้อนต้นทุน แต่ภาพรวมฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิยังคงติดลบ 119,764 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 78,301 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 41,463 ล้านบาท ส่วนจะมีการปรับขึ้นราคา LPG ต่ออีกหรือไม่คงจะต้องขึ้นอยู่กับ กบง.จะตัดสินใจ”

 แก๊ส LPG ขึ้นราคา

ที่ผ่านมารัฐได้อุดหนุนราคา LPG ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันฯ โดยตรึงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. แต่ต่อมาผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้กองทุนฯ เริ่มมีปัญหาภาระการอุดหนุนที่สูงทำให้ กบง.ได้ตัดสินใจพิจารณาทยอยปรับขึ้นราคา LPG กก.ละ 1 บาท 3 เดือนแรก เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ขึ้นเป็น 333 บาทต่อถัง 15 กก. เดือนพฤษภาคม 2565 ที่ราคา 348 บาทต่อถัง 15 กก. และเดือนมิถุนายน 2565 ราคา 363 บาทต่อถัง 15 กก. และต่อมาจึงขยายกรอบระยะเวลาปรับขึ้นเดือนละ 1 บาทเป็นเวลา 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย. 65)

 สินค้าอุปโภคบริโภคทยอยขึ้น

ในรอบ 15 ปีที่เราได้เห็นปรากฏการณ์ผู้ประกอบการ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรวมตัวกันขอปรับขึ้นซองละ 2 บาทจาก 6 บาทเป็น 8 บาทแต่สุดท้าย กระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้ขึ้นได้ 1 บาทเป็น 7 บาทและมีผลไปแล้วในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา  โดยผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อต่างพูดตรงกันถึงต้นทุนการผลิตทุกภาคส่วนที่ปรับขึ้น ทำให้แบกต้นทุนไม่ไหว

artboard1copy3

นอกจากนี้ในหมวดร้านอาหารสำเร็จรูป จะเห็นว่า มีการติดป้ายขอปรับราคาขึ้นกันถ้วนหน้า เนื่องจากทั้งค่าไฟค่าแก๊ส ค่าแรง และวัตถุดิบต่างๆปรับราคาขึ้น และส่วนมากจะปรับขึ้นเมนูละ 5 -15 บาททีเดียว งานนี้ผู้บริโภคกระทบกันไปเต็มๆ

ค่าแรงขึ้น 5.02% ไม่ทันค่าครองชีพขึ้นแรงกว่า

ค่าใช้จ่ายที่พุ่งต่อเนื่องจำเป็นให้สุดท้ายคณะกรรมการไตรภาคีต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 5.02%  หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 337บาท/วัน โดยแบ่งเป็น 9 อัตรา ดังนี้ 

  1. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 354 บาทต่อวัน จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี, ระยอง และภูเก็ต
  2. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 353 บาทต่อวัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
  3. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 345 บาทต่อวัน จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา
  4. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 343 บาทต่อวัน จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  5. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 340 บาทต่อวัน จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี, หนองคาย, อุบลราชธานี, พังงา, กระบี่, ตราด, ขอนแก่น, เชียงใหม่, สุพรรณบุรี, สงขลา, สุราษฎร์ธานี, นครราชสีมา, ลพบุรี และสระบุรี
  6. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 338 บาทต่อวัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร, กาฬสินธุ์, สกลนคร, สมุทรสงคราม, จันทบุรี, และนครนายก
  7. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 335 บาทต่อวัน จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์, กาญจนบุรี, บึงกาฬ, ชัยนาท, นครพนม, พะเยา, สุรินทร์, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, พัทลุง, อุตรดิตถ์, นครสวรรค์, ประจวบคีรีขันธ์, พิษณุโลก, อ่างทอง, สระแก้ว, บุรีรัมย์ และเพชรบุรี
  8. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 332 บาทต่อวัน จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอ, เชียงราย,ตรัง, ศรีสะเกษ, หนองบัวลำภู, อุทัยธานี, ลำปาง, ลำพูน, ชุมพร, มหาสารคาม, สิงห์บุรี, สตูล, แพร่, สุโขทัย, กำแพงเพชร, ราชบุรี, ตาก, นครศรีธรรมราช, ชัยภูมิ, ระนอง และพิจิตร
  9. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 328 บาทต่อวัน จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, น่าน และอุดรธานี  

ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย  (ECONTHAI)
ให้สัมภาษณ์กับ SPOTLIGHT Exclusive ว่า  อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีต้นทุนค่าแรงคิดเป็นต้นทุนราว 1-2% ยกเว้นบางอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง เช่นส่งทอ ก่อสร้าง ที่เมื่อค่าแรงขึ้นจะกระทบกับธุรกิจ  ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ค่าแรงจะมีผลให้ราคาสินค้าขึ้นเพียงแค่ 1 -1.5% เท่านั้น


ดอกเบี้ยขาขึ้น

ดอกเบี้นนโยบายของไทยปรับขึ้นไปแล้วในการประชุมกนง. เมื่อ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา 0.25% จาก  0.50 -0.75% แต่ต้องจับตาต่อไปว่าการประชุมที่เหลือของปีนี้ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหรือไม่ และจะส่งผลให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามเมื่อไหร่  ซึ่งนั่นก็จะยิ่งกระทบกับผู้บริโภคที่มีหนี้สินต้องมีภาระดอกบี้ยที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

จากสภาพเศรษฐกิจ สังคม ในปี2565 นี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนถึงความยากลำบาก ในเวลานี้ผู้บริโภคจึงต้องวางแผนทางการเงินของตัวเองและคราอบครัวให้รอบคอบ เพราะสถานการณ์ในอนาคตก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ...ชีวิตขาขึ้นแบบนี้ของเราจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากนัก  

 คลิปที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง 

 

แชร์

เมื่อชีวิตขาขึ้น....ขึ้นทุกอย่างสำหรับค่าครองชีพ