Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ย้อนรอย มหาอุทกภัย ปี 2554  เศรษฐกิจไทยเสียหายแค่ไหน?
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ย้อนรอย มหาอุทกภัย ปี 2554 เศรษฐกิจไทยเสียหายแค่ไหน?

6 ก.ย. 65
07:00 น.
|
11K
แชร์

สภาพอากาศของประเทศไทยระยะนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีคำเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันทำให้หลายคนกังวลว่าประเทศไทยกำลังจะเจอกับน้ำท่วมใหญ่เหมือนในปี 2554 หรือไม่ ?

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า "น้ำท่วม" ช่วงเดือนสิงหาคม 2554 ขณะนั้นประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมขัง 5.59 ล้านไร่ และเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ "น้ำท่วม" ในเดือนสิงหาคมปีนี้ 2565  พบว่าประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมขังแล้ว 1.85 ล้านไร่ หรือต่างกันราวๆ 3 เท่าตัว ดังนั้นสถานการณ์ในปีนี้ยังห่างไกลกับเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมานัก แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะบทเรียนจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาล ในแบบที่ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีก

ทีมงาน SPOTLIGHT รวบรวมสถิติความเสียหายที่เกิดขึ้นมาย้อนดูกันอีกครั้ง

น้ำท่วม ปี 2554
เหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554 นับเป็นภัยน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปีของประเทศไทย โดยฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง และ มีเหตุการณ์อ่างเก็บน้ำแตกทะลักจนน้ำไหลบ่าท่วมทั่วไทย โดยเริ่มจากเดือนกรกฎาคม และหนักที่สุดราวเดือน กันยายน และคลี่คลายลงในช่วงปลายปี คือราวเดือน พฤศจิกายน ถึงธันวาคม 2554 

น้ำท่วมปี2554 มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ

ธนาคารโลก (World Bank) ถึงกับประเมินว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 มีมูลค่าสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาทเป็น “มหาอุทกภัย” ที่เลวร้ายที่สุด ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ

น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมปี 2554
ภาพน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม แหล่งการผลิตที่สำคัญของประเทศในพื้นที่ภาคกลาง , ภาพเครื่องบินในสนามบินดอนเมืองถูกน้ำท่วมถึงล้อ , น้ำท่วมมาถึงถนนวิภาวดีรังสิต จนถึงเซ็นทรัลลาดพร้าว ไม่มีใครเคยคาดคิดว่าจะได้ประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมหนักขนาดนี้มาก่อน 

น้ำท่วมสนามบินดอนเมืองปี2554

  • โดยรวมแล้วสำหรับพื้นที่ประสบภัยพิบัติมีทั้งสิ้น 77 จังหวัด (ทั้งประเทศ) 87 อำเภอ 6,670 ตำบล มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 657 ราย มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 4,039,459 ครัวเรือน เป็นรายหัว 13,425,869 ราย บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง

  • ส่วนพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายอย่างหนักกว่า 11.20 ล้านไร่ มีทั้งบ่อปลา บ่อกุ้ง บ่อหอย 231,919 ไร่ ฟาร์มปศุสัตว์เสียหาย 13.41 ล้านตัว ส่วนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ถนนเสียหาย 13,961 สาย ส่วนท่อระบายน้ำเสียหาย 777 แห่ง ฝาย 982 แห่ง ทำนบ 142 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 724 แห่ง เป็นต้น

  • นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลาง  7 แห่ง ถูกน้ำท่วมอย่างหนักซึ่งทั้ง 7 นิคมคิดเป็นร้อยละ 17 ของการผลิตอุตสาหกรรมทั้งประเทศซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญและมีเครือข่ายการผลิตที่ซับซ้อน อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งผลทางตรงให้การผลิหยุดชะงัก และทางอ้อมผ่านปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน (Supply ChainDisruption) และการคมนาคมขนส่ง ความสาหัสของภัยน้ำท่วมยังส่งผลให้ธุรกินประกันเสียหายถึงขั้นขาดทุนอย่างหนักเช่นกัน 

    น้ำท่วมปี 2554
    น้ำท่วม ปี2554

GDP ไตรมาส 4 ปี 2554 ติดลบ 9% 

เศรษฐกิจไทยในปี 2554 ทั้งปี ขยายตัวได้เพียง 0.1% แน่นอนว่าเพราะการติดลบอย่างหนักในไตรมาสที่สี่ของปี 2554 ที่เจอน้ำท่วม GDP หดตัวร้อยละ 9.0 ผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในราคาประจำปี คิดเป็นมูลค่า 328,154 ล้านบาท

  • ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 21.8 เทียบกับขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสที่ผ่านมา อัตราการใช้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ระดับร้อยละ 46.4 ลดลงจากร้อยละ 64.5 

  • การใช้จ่ายภาคครัวเรือน หดตัวร้อยละ 3.0 โดยยอดจำหน่ายสินค้าคงทนลดลงมากถึงร้อยละ 21.8 และความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงอยู่ที่ระดับ 62.3 เทียบกับ 73.5 ในไตรมาสที่แล้ว รวมทั้งผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าครองชีพที่อาจปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่ราคาสินค้าทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับการลดลงของรายได้เกษตรกรจากการลดลงของราคาสินค้าเกษตรหลักๆ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง

ในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจอัดทั้งนโยบายการเงินการคลัง 

รัฐฯต้องทุ่มนโยบายการคลังเพื่อฟื้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ขณะนี้นโยบายการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยในปี2554 นั้นกนง. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 6 ครั้งติดต่อกัน เพื่อรักษาสมดุลและเสถียรภาพทางแต่เมื่อเกิดเหตุมหาอุทกภัยท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงต่อเนื่อง กนง. จึงได้มีมติคงและปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายของปีเพื่อสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ภัยธรรมชาติกลายเป็นอีก 1 ปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยและโลกในเวลานี้เช่นกัน เหมือนที่เราเห็นภาพความเสียหายในเกาหลีใต้ และ ปากีสถาน ที่ต้องเจอน้ำท่วมไปในช่วงนี้เช่นกัน หวังว่าบทเรียนของไทยในปี 2554 จะทำให้ทุกฝ่ายรับมือได้ไหว เพราะภัยธรรมชาติควบคุมไม่ได้  

 

ที่มาข้อมูล   ธนาคารแห่งประเทศไทย  , สศช. , กรุงเทพธุรกิจ 

 

ดูคลิปน้ำท่วมที่ปากีสถาน 

 

แชร์
ย้อนรอย มหาอุทกภัย ปี 2554  เศรษฐกิจไทยเสียหายแค่ไหน?