ธุรกิจ Logistics ในประเทศไทยหนีไม่พ้นผู้เล่นหลัก 3 เจ้าใหญ่ นั่นคือ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส , แฟลช เอ็กซ์เพรส และ บริษัทไปรษณีย์ไทย ข้อมูลจาก EIC พบว่าในปี 2563 แฟลช เอ็กเพรสครองส่วนแบ่งตลาดบริการจัดส่งพัสดุถึงบ้านราว 15% เป็นอันดับ 3 รองจาก เคอรี่ เอ็กเพรส ผู้นำตลาด 29% และไปรษณีย์ไทยอยู่ที่ 20%
ซึ่งตลอดปี 2565 ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยและทั่วโลกในช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้การแข่งขันในธุรกิจนี้ดุเดือดมากเช่นกัน !
แฟลช เอ็กซ์เพรส ขึ้นแท่นเบอร์ 1ตลาดส่งด่วนปี 2565
Flash Express ถือกำเนิดใน พ.ศ.2560 จากนั้น 4 ปีต่อมา พ.ศ.2564 แฟลช เอ็กเพรส ได้กลายเป็นธุรกิจยูนิคอร์น ตัวแรกของประเทศไทย (มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท) โดยปัจจุบันแฟลช บริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 70,000 ล้านบาท (หรือ 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) คมสันต์ ลี ซีอีโอของแฟลช กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์กับนิเคอิเชียว่า ส่วนแบ่งตลาดของแฟลช ในธุรกิจส่งด่วนขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 แล้วในปี 2565 ที่ผ่านมา ด้วยปริมาณพัสดุมากถึง 700 ล้านชิ้น
นิเคอิ อ้างข้อมูลจาก Crunchbase ว่า แฟลช ได้รับเงินทุนรวมกว่า 780 ล้านดอลลาร์ หรือราว 25,000 ล้านบาท โดยถึงธันวาคมปีที่แล้วแฟลชมีพนักงานประมาณ 35,000 คนและยานพาหนะ 17,000 คัน โดยพนักงานของแฟลช สามารถจัดส่งพัสดุได้ 100 ชิ้นในหนึ่งวัน มากกว่าบริษัทคู่แข่งถึง 40% สาเหตุเพราะแฟลช ลงทุนนำเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำมากขึ้น ต้นทุนต่ำกว่าจึงสามารถกำหนดอัตราค่าบริการได้ถูกกว่าคู่แข่งอีกด้วย
ผ่าแผนธุรกิจ แฟลช เอ็กเพรส ขยายสู่ต่างประเทศ
ภายหลังจากสู้ศึกตลาดในประเทศไทยมา 5 ปี ขณะนี้แฟลชได้ขยายธุรกิจออกสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยดำเนินธุรกิจทั้งในลาว ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ทำให้แฟลชมีพนักงานทั่วโลก 50,000 คน
"ในปี 2566 นี้ Flash Express วางแผนทุ่มเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 2,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่ารายได้ในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% เป็นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และ 50%มาจากต่างประเทศ"
ตั้งเป้าเป็นผู้จัดส่งพัสดุอันดับ 1 ใน “ฟิลิปปินส์”
และในบรรดาตลาดต่างประเทศที่ แฟลชให้ความสำคัญมากก็คือ “ฟิลิปปินส์” โดยแฟลชได้เริ่มเข้าไปทำธุรกิจใน “ฟิลิปปินส์” ตั้งแต่ปี 2564 ว่าจ้างพนักงานประมาณ 11,000 คน ภายในเวลาเพียงหนึ่งปี และปีนี้แฟลช เอ็กซ์เพรส วางแผนจะว่าจ้างพนักงานจัดส่งพัสดุเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10,000 คนในฟิลิปปินส์
“เรามีความหวังอย่างมากในตลาดฟิลิปปินส์ ปัจจุบันแฟลช เอ็กซ์เพรส อยู่ในสามอันดับแรกของตลาด และะเราคาดว่าจะขึ้นมาเป็นสองอันดับแรกหรืออันดับหนึ่งให้ได้ภายในสิ้นปีนี้” คมสันต์ กล่าว
“เวียดนาม” ประเทศที่ตลาดอีคอมเมิร์ซโตมากที่สุดในอาเซียน
นอกจาก “ฟิลิปปินส์” อีก 1 ประเทศที่ Flash Express ให้ความสนใจคือ “เวียดนาม” เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศเวียดนามกำลังจะมีมูลค่าถึง 3.2 หมื่นล้านด หรือมากกว่า 1 ล้านล้านบาทในปี 2568 ซึ่งเทียบเท่ากับตลาดในประเทศไทย และหากเทียบกับมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซเวียดนาม ในปี 2565 ขยายตัว 37% เป็นอัตราที่เร็วและแรงที่สุดในบรรดา 6 ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์
ตลาดในไทยแข่งขันเดือด กลยุทธ์ตัดราคา เพิ่มความเสี่ยงธุรกิจ
ทั้งนี้การขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศของแฟลช ก็เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง จากการแข่งขันภายในประเทศไทยที่ดุเดือด โดยในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ตัดราคา ลดค่าส่งต่ำสุดเป็น 15 บาท แม้ว่าค่าธรรมเนียมจะเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพัสดุและระยะทางในการจัดส่ง แต่การแข่งขันด้านราคาของคู่แข่ง ก็ทำให้แฟลช ต้องถูกบังคับให้ทำแคมเปญส่วนลด 10% เพื่อสู้กลับอยู่ดี
ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด ขณะที่ทุกบริษัทกำลังเผชิญกับต้นทุ ทั้งราคาน้ำมัน และต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้แฟลช คาดว่า จะมีผลขาดทุนสุทธิประมาณ 20 ล้านบาทในปี 2565ที่ผ่านมา จากที่ทำกำไร 6 ล้านบาทในปี 2564 ส่วนรายได้ทั้งปี 2564 และ 2565 ประมาณการณ์ว่าน่าจะใกล้เคียงเดิม ประมาณ 17,600 ล้านบาท
ส่วนแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นของ Flash Express ก็น่าจะต้องถูกขยับเวลาออกไปเช่นกัน เป็นภายใน 3 ปีข้างหน้า จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าภายในปีนี้ ซึ่งหากในวันข้างหน้าที่ Flash Express สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดหุ้นได้ ก็จะนับเป็นอีกก้าวสำคัญของ อุตสาหกรรมสตาร์ทอัพไทยเพราะเรามักได้ยินว่า ตลาดหุ้นไทย ไม่มีหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งหาก แฟลช ทำได้สำเร็จก็จะสามารถแข่งขันกับแอปเรียกรถของสิงคโปร์อย่าง Grab หรือ GoTo ของอินโดนีเซียได้เช่นกัน
ต้องจับมือพาร์ทเนอร์แข่งขันในตลาดประเทศไทย
และเพื่อเพิ่มโอกาสในการหารายได้ Flash Express กำลังพัฒนาธุรกิจไปสู่การทำ Live Commerce โดยร่วมมือกับอินฟลูเอ็นเซอร์ TikTok 400 ราย สร้างวิดีโอเพื่อขายสินค้าและจัดส่งผ่าน Flash Express ซึ่ง คมสันต์ ลี ระุบว่า ในปีนี้อาจจะมีความร่วมมือกับอินฟลูเอ็นเซอร์ได้ถึง 1,000 และคาดว่า จะสามารถทำรายได้ 3 ถึง 5 พันล้านบาทในปีนี้
นอกจากนี้ก็ยังร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจอย่างบริษัท ออลล์ สปีดดี้ จำกัด ขยายจุดบริการรับส่งพัสดุผ่านร้าน 7-Eleven แบบ 24 ชั่วโมง เฟส 2 ทั่วประเทศ หลังได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ใช้บริการ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเฟสแรก
ประเทศไทยมียูนิคอร์นเพียง 3 ตัว ตามข้อมูลของ CB Insights หากเทียบกับ สิงคโปร์มีถึง 14 ตัวส่วนอินโดนีเซีย 7 ตัว การแข่งขัน และรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดประเทศไทยก็อาจจะเป็นเรื่องที่หนักและยากสำหรับสตาร์ทอัพที่ต้องสู้และฝ่าฟันให้ได้ต่อไป
อ้างอิงที่มา นิเคอิ เอเชีย
ดูคลิปสัมภาษณ์ คมสันต์ ลี เมื่อปี 2565