Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เจาะตลาดรถปี 67 อนาคตที่ติดลบ แม้ค่ายรถจะเร่งเครื่องลุยกลยุทธ์ด้านราคา
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เจาะตลาดรถปี 67 อนาคตที่ติดลบ แม้ค่ายรถจะเร่งเครื่องลุยกลยุทธ์ด้านราคา

25 มี.ค. 67
15:33 น.
|
1.1K
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

  • คาดการณ์ยอดขายปี 2567 อยู่ที่ 750,000 คัน หดตัว 3% จากปี 2566
  • รถยนต์นั่ง มีโอกาสขยายตัวเล็กน้อย 1% จากแรงกระตุ้นของราคาที่ปรับลดลง
  • รถยนต์นั่งใช้น้ำมัน คาดว่าจะหดตัว 13% เพราะมีรถยนต์นั่ง BEV ที่ขยายตัว 63% มาชิงส่วนแบ่งตลาด
  • กลยุทธ์ "ลดราคา" อาจช่วยพยุงตลาดรถไม่ให้หดตัวลงไปมาก แต่คงไม่สามารถพลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ทั้งหมด


ปี 2567 ตลาดรถยนต์ไทยกำลังเผชิญกับ "สัญญาณเตือน" ที่น่ากังวล ยอดขายรวมมีแนวโน้มหดตัว 3% แม้ค่ายรถจะทุ่มกลยุทธ์ลดราคาดึงดูดลูกค้าก็ตาม อะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดรถปีนี้ "ไม่สดใส"?

 

เจาะตลาดรถปี 67 อนาคตที่ติดลบ แม้ค่ายรถจะเร่งเครื่องลุยกลยุทธ์ด้านราคา

เจาะตลาดรถปี 67 อนาคตที่ติดลบ แม้ค่ายรถจะเร่งเครื่องลุยกลยุทธ์ด้านราคา

ปี 2566 ที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ไทยเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ส่งผลให้ยอดขายโดยรวมหดตัวลง สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่ดึงดูดผู้บริโภคไป พอมาปี 2567 เริ่มต้นด้วยบรรยากาศ "ตึงเครียด" ของตลาดรถยนต์ ค่ายรถต่างงัดกลยุทธ์ "ลดราคา" กระตุ้นยอดขายและชิงส่วนแบ่งตลาด ดุเดือดเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มรถที่ยอดขายหดตัวในปีที่แล้ว และกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่ต้องการขยายฐานลูกค้า แต่ทว่า กลยุทธ์ "ลดราคา" อาจไม่เพียงพอที่จะพลิกชะตาตลาดปีนี้ เพราะต้องเผชิญกับ "อุปสรรค" 2 ประการ

  • ภาวะเศรษฐกิจ ยังไม่ฟื้นตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ส่งผลกระทบต่อ "กลุ่มรถราคาประหยัด" มากที่สุด
  • การแข่งขัน ที่เข้มข้นขึ้น ทั้งจำนวนค่ายรถและรุ่นรถที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะค่ายรถจากจีนที่รุกตลาดรถยนต์นั่งอย่างรวดเร็ว นำเสนอรถ BEV ในราคาที่ดึงดูดใจ


กลยุทธ์ ราคา ของค่ายรถ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก

เจาะตลาดรถปี 67 อนาคตที่ติดลบ แม้ค่ายรถจะเร่งเครื่องลุยกลยุทธ์ด้านราคา

  1. กลุ่มค่ายรถใช้น้ำมัน ที่ยอดขายตกในปีที่แล้ว เน้น "ลดราคา" เพื่อกระตุ้นยอดขาย ดึงดูดลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ และแข่งขันกับ BEV
  2. กลุ่มค่ายรถใช้น้ำมัน ที่ยังมีผลประกอบการดี เน้น "รักษาราคา" เพื่อรักษาภาพลักษณ์แบรนด์ หันมาใช้กลยุทธ์อื่น เช่น เพิ่มออปชั่น หรือโปรโมชั่นพิเศษ
  3. กลุ่มค่ายรถ BEV มุ่งเน้น "ลดราคา" ดึงดูดผู้บริโภค สร้างฐานลูกค้าในช่วงที่ตลาด BEV ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น


กลยุทธ์ราคาล่อใจ ดึงดูดลูกค้า

เพื่อกระตุ้นยอดขาย ค่ายรถหลายแห่งจึงใช้กลยุทธ์การลดราคา ซึ่งระดับของการลดราคานั้น ขึ้นอยู่กับ ประเภทของรถยนต์ ดังนี้

ตาราง เปรียบเทียบการปรับลดราคาเริ่มต้นของนถในแต่ละ Segment ต่างๆของค่ายรถยนต์

กลุ่ม segment รถยนต์ สรุปสถานการณ์ตลาดที่ส่งผลกับกลยุทธ์ราคา จำนวนค่ายรถที่ทำตลาด จำนวนค่ายรถที่ลดราคา ราคาเริ่มต้นเฉลี่ยปัจจุบัน (มีนาคม 2567)
% การลดลงของราคาเริ่มต้น
รถนั่งขนาดเล็กมาก การแข่งขันต่ำ ราคาถูก 3 0 353,000 บาท  ไม่มีการปรับลดราคา
รถอีโคคาร์ การแข่งขันสูง กลุ่มผู้ซื้อหลักกำลังซื้ออ่อนแอ 9 6 599,000 บาท -3% ถึง -17%
รถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก การแข่งขันสูง กลุ่มผู้ซื้อหลักกำลังซื้ออ่อนแอ 11 8 812,000 บาท -3% ถึง -19%
รถนั่งซีดานขนาดกลาง การแข่งขันไม่สูง ราคาสูง กลุ่มผู้ซื้อหลักมีปัญหาด้านการเงินน้อย 3 1 933,000 บาท -12%
รถอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ การแข่งขันไม่สูง ราคาสูง กลุ่มผู้ซื้อหลักมีปัญหาด้านการเงินน้อย 9 2 1,348,000 บาท -7% และ -12%
รถนั่งซีดานขนาดใหญ่ การแข่งขันไม่สูง ราคาสูง กลุ่มผู้ซื้อหลักมีปัญหาด้านการเงินน้อย 4 1 1,390,000 บาท -8%
รถปิกอัพ การแข่งขันไม่สูง แต่ถูกกระทบจากเศรษฐกิจ 7 3 710,000 บาท -2% ถึง -4%
  • รถอีโคคาร์และรถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก: เป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันสูง ค่ายรถจึงปรับลดราคาลงมากที่สุด สูงสุดถึง 19% เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลาง
  • รถยนต์นั่งกลุ่มอื่น: มีการแข่งขันน้อยกว่า ค่ายรถส่วนใหญ่จึงไม่ปรับลดราคา หรือปรับลดเพียงเล็กน้อย เนื่องจากกลุ่มลูกค้ามีสถานะทางการเงินดี
  • รถปิกอัพ: แม้ยอดขายจะหดตัว แต่มีการแข่งขันน้อย ค่ายรถจึงปรับลดราคาเพียงเล็กน้อยเพื่อรักษาฐานลูกค้า


กลยุทธ์การลดราคา อาจยังไม่เพียงพอ

เจาะตลาดรถปี 67 อนาคตที่ติดลบ แม้ค่ายรถจะเร่งเครื่องลุยกลยุทธ์ด้านราคา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปี 2567 ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ 750,000 คัน หดตัว 3% จากปี 2566 สำหรับ รถยนต์นั่ง มีโอกาสขยายตัวเล็กน้อย 1% จากแรงกระตุ้นของราคาที่ปรับลดลง แต่หากแยกเฉพาะรถยนต์นั่งใช้น้ำมัน คาดว่าจะหดตัว 13% เพราะมีรถยนต์นั่ง BEV ที่ขยายตัว 63% มาชิงส่วนแบ่งตลาด ส่วนรถเพื่อการพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นรถปิกอัพ คาดว่าจะหดตัว 8% เพราะมีการปรับลดราคาไม่มาก สำหรับปัจจัยอื่นๆ นอกจากราคาแล้ว ผู้บริโภคยังพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ในการตัดสินใจซื้อ เช่น ความน่าเชื่อถือ คุณภาพ หาอะไหล่ทดแทนง่าย และราคาขายต่อ


บททดสอบของกลยุทธ์ราคา ท่ามกลางคลื่นลูกใหม่

167968

ปี 2567 ตลาดรถยนต์ไทยเผชิญบททดสอบสำคัญ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ ประกอบกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น กลยุทธ์การลดราคาจึงกลายเป็นอาวุธหลักที่ค่ายรถต่างนำมาใช้เพื่อดึงดูดลูกค้า ในขณะที่ค่ายรถใช้น้ำมันต้องดิ้นรนกับยอดขายที่หดตัว กลยุทธ์การลดราคาจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาฐานลูกค้า การแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มรถอีโคคาร์และรถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก บีบให้ค่ายรถต้องปรับลดราคาลงอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม กลยุทธ์การลดราคาอาจไม่เพียงพอสำหรับรถปิกอัพ แม้ยอดขายจะหดตัว แต่การแข่งขันที่ต่ำและยังไม่มีคู่แข่ง BEV ทำให้ค่ายรถเลือกปรับราคาลงเพียงเล็กน้อย ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ กลยุทธ์การลดราคาอาจช่วยพยุงตลาดรถไม่ให้หดตัวลงไปมาก แต่คงไม่สามารถพลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ทั้งหมด อนาคตของตลาดรถยนต์ไทย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ไม่เพียงแต่กลยุทธ์ราคา แต่รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

 ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

แชร์
เจาะตลาดรถปี 67 อนาคตที่ติดลบ แม้ค่ายรถจะเร่งเครื่องลุยกลยุทธ์ด้านราคา