อำเภอ แม่สาย จังหวัดเชียงราย คือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพราะเป็นพื้นที่ชายแดนติดที่กับประเทศเมียนมาร์ในอดีตเคยเป็นเมืองที่คึกคัก เพราะเป็นที่ตั้งของด่านการค้าชายแดนที่สำคัญระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ผู้คนของทั้งสองประเทศสามารถไปมาหาสู่กันและค้าขายร่วมกันมาเป็นเวลาเนิ่นนาน
โดย แม่สาย เป็นหนึ่งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 21 ตำบล คือ อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และ อำเภอแม่สาย แน่นอนว่าธุรกิจส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs คิดเป็น 98.17% และประกอบธุรกิจขายปลีก/ขายส่ง เป็นส่วนใหญ่
หลังจากได้เห็นภาพความเสียหายของอำเภอแม่สายที่ถูกน้ำท่วมปีนี้ (2567) หนักหนาสาหัส ทำให้ต้องกลับมาดูข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ว่าได้รับความเสียหายแค่ไหนและจะฟื้นฟูให้กลับมาดังเดิมได้อย่างไร
จากอดีตเมืองค้าชายแดนที่สำคัญ ตั้งแต่โควิด 19 มากระทบธุรกิจ ทำให้พื้นที่ในอำเภอแม่สายก็เงียบเหงาอย่างไม่ต้องสงสัย ซ้ำหนักมาเจอสภาพการค้าที่เปลี่ยนไปจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น การค้าออนไลน์เติบโต หรือแม้แต่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้แม่สาย มีข่าวเป็นระยะว่า ผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่ค้าขายได้น้อยลง และต้องปิดตัวกันไปก็มีไม่น้อย
น้ำท่วมใหญ่ที่แม่สายปีนี้ โดยเฉพาะเห็นภาพชัดที่ตลาดสายลมจอย ทางการประเมินว่ามูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพราะที่นี่มีร้านค้ากว่า 200 ร้าน ถนนสายที่ผ่านกลางตลาดถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร แม่ค้าในตลาดถึงกับบอกว่า เป็นครั้งแรกที่น้ำท่วมสูงขนาดนี้
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ SPOTLIGHT ถึงผลกระทบและแนวทางการช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมปีนี้ โดยเฉพาะ “แม่สาย” ว่า แม่สายคืออดีตเมืองการค้าชายแดนที่ยิ่งใหญ่ของไทย แต่ปัจจุบันการค้าชายแดนได้ลดความสำคัญลงไปมากแล้วเพราะช่องทางการค้าในปัจจุบันมีมากขึ้น การค้าข้ามแดนโตมากกว่า โลกการค้าที่เปลี่ยนไปนี่เองทำให้แม่สาย ที่เคยเป็นเมืองการค้าชายแดนที่สำคัญก็ได้ลดบทบาทลงไป ดังนั้นน้ำท่วมใหญ่ที่แม่สายครั้งนี้อาจไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของภาคเหนือ แต่กระทบภาคการเกษตรของแม่สายและประชาชนที่อยู่อาศัย รวมทั้งเส้นทางการคมนาคมที่เชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ
แม้ขณะนี้ปริมาณน้ำจะเริ่มลดลงมาแล้ว แต่ในระยะนี้พื้นที่ภาคเหนือก็ยังเผชิญกับฝนที่ตกอยู่ ดังนั้นสถานการณ์น้ำก็ยังเป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งดร.เกียรติอนันต์ มองว่า หลังน้ำลดสภาพความเสียหายก็ยังคงหนัก โคลนที่หนา การเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงยังต้องใช้เวลาคาดว่า อย่างน้อย 1 เดือนกว่าที่พื้นที่จะดีขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรได้รับความเสียหายมาก คาดว่าต้องใช้เวลามาก 6 เดือนถึง 1 ปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้
“เมืองไหนก็ตามที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรง จะถูกเปรียบเหมือนแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ยากกว่าที่จะกลับมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SME ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากเคยสำรวจพบว่า หลังโควิด 19 ในช่วงปี 64-65 เหลือสภาพคล่องเฉลี่ยแค่เพียง 15 วันเท่านั้น ดังนั้นเมื่อต้องเจอน้ำท่วมและทุกอย่างหยุดชะงักไปสภาพคล่อง SME น่าจะไม่เหลือแล้ว “ ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวกับSPOTLIGHT
ดร.เกียรติอนันต์ มองว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมถูกแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
1.การเยียวยา - การจ่ายชดเชยเป็นเงินสดให้กับผู้ประสบภัยในทันที รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ประสบภัยที่สูญเสียความสามารถในการหารายได้ชั่วขณะ
2.การฟื้นฟู - การทำให้พื้นที่ประสบภัยกลับมาสู่สถานการณ์ก่อนเจอน้ำท่วม โดยภาคสถาบันการเงินต้องสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ
3.การส่งเสริม - การลงไปพัฒนาให้พื้นที่ดังกล่าวพัฒนาต่อไปอย่างไรให้ดีขึ้นจากเดิม ซึ่งสอดคล้องกับการออกแบบและพัฒนาเมืองที่เคยมีการศึกษาว่า เมืองต่างๆ ต้องถูกออกแบบให้ resilience คือ ฟื้นตัวได้เร็วเมื่อต้องเจอผลกระทบในทุกมิติทั้ง การเมือง สังคม รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ด้วย
น้ำท่วม คือ ภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ครั้งหนักที่สุดคือปี 2554 ผ่านมาแล้ว 13 ปีประเทศไทยมีบทเรียนจากความเสียหายน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นที่มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 2 แสนล้านบาท ความคาดหวังก็คือ การเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยน้ำท่วมที่ควรจะดีขึ้น ทั้งการปรับปรุงพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำ การประเมินเหตุการณ์ที่ควรแม่นยำขึ้น การแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน การเข้าถึงพื้นที่เพื่อทำการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ รวมถึงหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วการเยียวยาฟื้นฟูที่ต้องรวดเร็ว เพราะสภาพเศษฐกิจในเวลานี้มีปัจจัยลบที่เข้ามากระทบรอบด้าน ปัญหา Climate Change ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยใหญ่ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและเตรียมแผนรับมือให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยมากกว่านี้
ที่มาข้อมูลบางส่วน : กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ , ข่าว สถานีวิทยุกระจายเสียงเชียงราย กรมประชาสัมพันธ์